รัฐ เดินหน้าแก้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ภายหลังจากใช้เวลาผลักดันมานานกว่า 10 ปี ยกเครื่องและปรับอัตราภาษีที่ดินใหม่ทั่วประเทศ
จ้องเก็บภาษีพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่ได้ทำประโยชน์ 0.5% ช่วงสามปีแรก หากยังไม่ทำประโยชน์อีกเก็บเพิ่มอีก 1 เท่า ทุกๆ 3 ปี ขณะที่ภาคเกษตรโดนด้วยเก็บภาษี 0.05%
กรุงเทพ ธุรกิจ ออนไลน์ : แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะที่ 2 ที่มี น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ ได้อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ จากนี้ก็จะเสนอที่ประชุมครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะกำหนดอัตราภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั่วไปที่ไม่เกิน 0.5% ของฐานภาษี สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยของตนเอง โดยไม่ประกอบเชิงพาณิชย์จัดเก็บภาษีในอัตราไม่เกิน 0.1% ของฐานภาษี ส่วนที่ดินประกอบเกษตรกรรมจัดเก็บภาษีที่อัตราไม่เกิน 0.05% ของฐานภาษี สำหรับที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดิน ให้เสียภาษีไม่เกิน 0.5% ในช่วง 3 ปีแรก หากไม่ได้ทำประโยชน์อีกกำหนดให้เสียภาษีเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าในทุกๆ 3 ปีแต่ไม่เกิน 2% ของฐานภาษี
พร้อมกันนั้น ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้มีคณะกรรมการกำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน พร้อมทั้งกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีอำนาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดอัตราภาษีเพิ่มขึ้น จากอัตราที่คณะกรรมการฯกำหนดได้ หากมีเหตุผลและความจำเป็นในการนำเงินมาพัฒนาท้องถิ่นของตน แต่ต้องไม่เกินเพดานภาษีที่กฎหมายกำหนดไว้
แหล่งข่าวระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แบ่งออกเป็น 9 หมวด เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีและหน้าที่ผู้เสียภาษี การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดให้มีการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคำนวณฐานภาษี อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บ การแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดอัตราภาษีฯ และอนุกรรมการการจัดเก็บภาษีประจำจังหวัด อำนาจของ อปท.ในการกำหนดอัตราภาษี ประกาศภาษี หลักเกณฑ์การแจ้งและประเมินภาษี การยื่นแบบแสดงรายการภาษีและการชำระภาษี และการลดหรือยกเว้นภาษี
เล็งยกเลิกกฎหมาย3ฉบับหลังบังคับใช้
นอกจากนี้ ภายหลังจากร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ มีผลบังคับใช้แล้ว จะให้ยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 พ.ร.บ.กำหนดราคาปานกลางของที่ดินสำหรับการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2529 และ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 พร้อมทั้งจะให้มีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมก่อนการจัดเก็บภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นเวลา 2-3 ปี
“กรมที่ดินจะต้องจัดทำแผนที่ดิจิทัล เชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนที่ดินทุกแปลงให้ครบทั่วประเทศภายใน 2 ปี เว้นแต่กรณีจำเป็นให้ขยายเวลาออกไปได้อีก 1 ปี ต้องใช้งบดำเนินการ 4,500 ล้านบาท ต้องมีการตรา พ.ร.ฎ.สิ่งปลูกสร้างที่ใช้จัดเก็บภาษีเพิ่มเติม และกฎกระทรวงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การประเมินราคาสินทรัพย์อื่นๆ" แหล่งข่าวระบุ
หวั่นตีความสับสนที่ดินว่างเปล่า
แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ประชุมมีการตั้งข้อสังเกต กรณีการจัดเก็บภาษีที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ว่า ที่ดินที่มีลักษณะใดจึงจะเรียกว่า “ที่ดินว่างเปล่า” เช่น หากมีการนำที่ดินว่างเปล่าไปปลูกต้นไม้จะถือว่าที่ดินนั้นเป็นที่ดินว่าง เปล่าหรือไม่ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการหารือกันเพื่อกำหนดนิยามของคำว่า “ที่ดินว่างเปล่า” กันต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับข้อเสนอและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงินให้เพิ่มบทนิยามเกี่ยวกับ “ทรัพย์สินของรัฐ” ไว้ในร่าง พ.ร.บ.ด้วย สำหรับการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2541 โดยมติ ครม.เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2541 ได้อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และให้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา
และปรับปรุงตามข้อสังเกตของ ครม.และต่อมาได้เสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม.อีกครั้งในวันที่ 30 พ.ย. 2547 และ 15 ก.พ. 2549
สาเหตุที่ทำให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องใช้เวลานานในการพิจารณา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และหน่วยงานต่างๆ ตั้งข้อสังเกตและให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างหลากหลาย เพราะเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีของประเทศโดย รวม
23 สิงหาคม พ.ศ. 2551กรุงเทพธุรกิจ