5 วิธีแก้ปัญหาเมื่อเจอสิ่งปนเปื้อนในอาหาร

590204 food
หลายต่อหลายครั้งศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนด้านอาหารในเรื่องราวแต่ต่างกัน ทั้งพบจิ้งจกในกล่องนมเปรี้ยว พบตัวมอดในนมผงเด็ก ขอแบ่งวิธีจัดการปัญหาแยกย่อยเป็น 3 กรณี นั่นก็คือ


1. หลังรับประทานเข้าไปแล้วพบว่า มีสิ่งปนเปื้อนทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต เช่น เศษแก้ว ก้อนกรวด ลวดเย็บกระดาษ จิ้งจก และตะกอนขาวขุ่น เป็นต้น
2. กรณีอาหารที่ซื้อมาเปิดภาชนะออกแล้วพบว่ามีสิ่งปนเปื้อน เช่น เส้นขนต่างๆ ขาแมลง ตัวแมลง/ แต่ยังไม่ได้บริโภคหรือรับประทาน
3. กรณีอาหารที่ซื้อมาแล้วพบสิ่งปนเปื้อนในอาหารโดยไม่ได้เปิดภาชนะ

5 ขั้นตอนการแก้ไขปัญหา
     1. ถ่ายรูปและเก็บตัวอย่างสินค้าไว้เป็นหลักฐาน กรณีมีใบเสร็จจากร้านค้าให้เก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย
     2.ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกาย และขอใบรับรองแพทย์ พร้อมเก็บใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน
     3. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่ เพื่อเป็นหลักฐาน
     4.โทรแจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (เบอร์โทรระบุไว้ที่ภาชนะบรรจุ) ซึ่งต้องคิดให้ดี ว่า เราต้องการให้บริษัทดำเนินการอย่างไร เพื่อขอให้แก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น
     5.ทำหนังสือยื่นข้อเสนอกับบริษัท ด้วยการบรรยายสรุปปัญหาที่พบ โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า และให้ระบุความต้องการที่ชัดเจนซึ่งเป็นความเสียหายของผู้บริโภค เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน ชดเชยค่ารักษาพยาบาล จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ ให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น

การลุกขึ้นมาใช้สิทธิในฐานะผู้บริโภคถือว่ายอดเยี่ยมที่สุด เพราะบริษัทผู้ผลิตอาหารกระทำความผิดเข้าข่ายผิดกฎหมาย พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธ์ โดยมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้บริโภคอย่างเรา ๆ สามารถนำบทลงโทษนี้มาเป็นฐานประกอบการคำนวนความเสียหายในการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการเยียวยาได้ ที่สำคัญหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็สามารถใช้กระบวนการฟ้องร้องต่อศาล โดยใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ในการดำเนินการฟ้องได้

หมายเหตุ :หลักฐานตัวจริงทั้งหมดให้เก็บไว้ที่ตนเอง *ห้ามให้หน่วยงานหรือผู้ประกอบการโดยเด็ดขาด
ข้อมูลอ้างอิง มลฤดี โพธิ์อินทร์ , พชร แกล้วกล้า , องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

พิมพ์ อีเมล