งานสำคัญหลัก และ ความสำเร็จ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

1. ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

รับเรื่องราวร้องเรียนและแก้ไขปัญหาผู้บริโภคใน 7 เรื่อง ได้แก่ การเงินการธนาคาร, สินค้าและบริการทั่วไป, อสังหาริมทรัพย์, สื่อโทรคมนาคม, บริการสาธารณะ, อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และบริการสาธารณสุข โดยดำเนินการช่วยเหลือ ผู้บริโภคและพัฒนาการรวมกลุ่มของผู้บริโภค เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในวงกว้างให้ได้รับการคุ้มครอง เช่น การฟ้องคดีตัวอย่างและการฟ้อคดีแบบกลุ่ม อาทิ การฟ้องคดีให้เครื่องดื่มน้ำอัดลม เอส จ่ายค่าเสียหายให้ผู้บริโภคกว่า 2 ล้านบาทและสงวนสิทธิ์ที่จะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับค่าเสียหายอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน รวมถึงค่ารักษาพยาบาลในอนาคตไว้จนกว่าจะรักษาเสร็จ ภายใน 5 ปี หลังพิสูจน์พบว่ากระบวนการผลิตสินค้าไม่ปลอดภัย หรือการฟ้องคดีแบบกลุ่มให้กับผู้เสียหายจากการใช้เครื่องสำอางผิวขาว ยี่ห้อ เพิร์ลลี่ เรียกค่าเสียหายกว่า 40 ล้านบาท หลังตรวจสอบพบว่าเป็นสินค้าที่มีสารต้องห้ามที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เป็นต้น

2. สนับสนุนเครือข่าย และพัฒนานโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาองค์กรผู้บริโภคทั้งในระดับจังหวัดและระดับภูมิภาคให้มีความเข้มแข็ง องค์กรผู้บริโภคมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งจำนวนและคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาหรือทุกข์ของผู้บริโภค ในลักษณะปัจเจก และการแก้ปัญหาเชิงระบบ ทั้ง โครงสร้าง บทบาทหน้าที่ และ อำนาจตามกฎหมาย
การพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนภายใต้สาระในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ทำให้ มีการขยายตัวของการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาควิชาการ และ ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะในการขับเคลื่อนให้เกิดกฎหมายองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเป็นหลักยึดในระดับประเทศที่จะเชื่อมโยง บทบาทและหน้าที่ของภาคประชาสังคมด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเข้าด้วยกัน
จนกระทั้งปัจจุบัน รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 46 ได้ระบุว่า “มาตรา 46 สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองบุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคองค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้งอำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ” และ ขณะนี้ ได้มี ความพยายามในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเพื่อรองรับเจตนารมณ์ตามมาตรา 46 โดยนับแต่ปี 2558 - 2561 การพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภคทำให้เกิดกำลังสำคัญในการทำงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในประเทศ คือ มีองค์กรผู้บริโภคขั้นพื้นฐานจำนวนถึง 222 องค์กร กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย
ด้านรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย สนับสนุนการพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค โดยทำหน้าที่เฝ้าระวัง แจ้งสิทธิ และฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ โดยนับแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบัน มีการฟ้องคดีช่วยเหลือผู้บริโภคกว่า 200 คดี และช่วยให้ผู้บริโภคได้รับเงินชดเชยเยียวยามากกว่า 100 ล้านบาท อีกทั้งในการฟ้องคดี บางคดี ศาลได้กำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษกับผู้ประกอบการรถโดยสาร ที่ประกอบธุรกิจเอาเปรียบผู้บริโภค ทำให้เกิดการตื่นตัวของผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะที่จะระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสารมากขึ้น

3. นิตยสารฉลาดซื้อ
นิตยสารรายเดือน ตีพิมพ์มาแล้ว 22 ปี 212 ฉบับ (ข้อมูลล่าสุด 12/11/2561) เพื่อให้ข้อมูลผู้บริโภค ในการเลือกซื้อสินค้า เพราะเชื่อว่า พฤติกรรมการซื้อแต่ละครั้ง คือการลงคะแนนให้กับตัวแบบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งแบบแผนการผลิตสินค้าแบบใดแบบหนึ่ง และเป็นกลไกผลักดันที่สำคัญในการปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมให้เอื้อต่อประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ โดยรูปแบบการผลิตและการการบริโภคคำนึงถึงประโยชน์และจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย
การพัฒนาการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค อาทิ ผลทดสอบและข้อเสนอเรื่อง ‘ไขมันทรานส์’ ส่งผลทำให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งออกประกาศ ‘ควบคุมไขมันทรานส์’ เร็วขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าให้ผู้ประกอบการปรับตัว 365 วัน ลดเวลาเหลือเพียง 180 วัน จากผลการทดสอบการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากห้างออนไลน์นั้น พบว่า ห้างออนไลน์มีการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบของสารอันตรายต่อสุขภาพ ส่งผลให้ อย.ส่งเรื่องถึงผู้ประกอบการห้างออนไลน์ให้นำสินค้าดังกล่าวออกจากรายการขายโดยทันที เป็นต้น
ความสำเร็จที่ผ่านมา ปี 2560 กับการคุ้มครองผู้บริโภค 7 ด้าน

ความสำเร็จ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
ความสำเร็จที่ผ่านมา ปี 2560 กับการคุ้มครองผู้บริโภค 7 ด้าน

1. ด้านการเงินการธนาคาร
  - ทำสำรวจแพคเกจประกันชีวิต ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคก่อนตัดสินใจเลือกประกันชีวิต
  - เปิดโปง บริษัทธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ คิดดอกเบี้ยเกินกม. กำหนด
  - ให้ข้อมูลเตือนภัยผู้บริโภค กรณีซื้อประกันรถยนต์ทางโทรศัพท์กับโบรคเกอร์ เสี่ยงถูกหลอก
  - มีตัวแทนเป็นกรรมการทวงถามหนี้ระดับประเทศ ในการเสนอแนะนโยบาย และวางกติกาการรคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม

2. ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ
   - ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง pearly ผสมสารประกอบอันตราย ผู้เสียหายใช้แล้วผิวแตกลาย ศาลรับฟ้องเป็นคดีกลุ่มของผู้บริโภคคดีแรกในประเทศไทย

3. ด้านบริการสาธารณะ
   - คดีรถตู้จันทบุรี ผู้เสียชีวิต 25 ศพ ศาลจังหวัดจันทบุรีสั่งลงโทษ บ.ข.ส. และทายาทคนขับรถตู้ จ่ายค่าสินไหม 20 กว่าล้านบาท

4. ด้านสินค้าและบริการทั่วไป
   - ฟ้องคดีช่วยเหลือกลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์เชฟโรเลตแล้วเจอรถชำรุดบกพร่อง ได้เงินคืนกว่า 1 ล้านบาท
   - ฟ้องคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายให้ผู้บริโภค กรณี กระทะโฆษณาเกินจริงผิดกฎหมาย
   - ฟ้องคดีอาญา เอาผิด ‘แคลิฟอร์เนียว้าว ฟิตเนส’ ปิดบริการโดยไม่แจ้ง เรียกค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคกว่า 600 ราย

5. ด้านสื่อ และโทรคมนาคม
   - เตือนภัยผู้บริโภค กรณีกลลวง ‘ขอบัตรประชาชน-เปิดเบอร์-แจกเครื่องฟรี’ เป็นหนี้ไม่รู้ตัว
   - ทำให้คูปองแลกซื้อกล่องดิจิตอลถูกลง ช่วยให้ชาติประหยัดงบประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท

6. ด้านที่อยู่อาศัย
   - ฟ้องคดีปกครอง ให้ กทม.รื้อถอนอาคารสร้างผิดกฎหมายในซอยร่วมฤดี
   - สนับสนุนเครือข่ายผู้เสียหายจากอาคารสูง ยื่นร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดิน เหตุเจ้าหน้าที่รัฐละเลย จัดการโครงการอาคารสูงที่ก่อสร้างขึ้นบริเวณชุมชนต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานครอย่างไม่ถูกต้อง
   - ส่งสัญญาจะซื้อจะขายอาคารชุดให้ที่ดินตรวจสอบ และสั่งปรับบริษัทที่ใช้แบบสัญญาผิดกฎหมาย
   - ดำเนินคดีช่วยเหลือผู้บริโภคที่ถูกการเคหะแห่งชาติฟ้องขับไล่ ช่วยผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัย

7. ด้านบริการสุขภาพ
   - ดำเนินคดีให้ผู้บริโภคที่เสียหายจากการรักษาพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐาน
   - ส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและช่วยประสานงานกับหน่วยงานรัฐในการใช้สิทธิ

พิมพ์ อีเมล