ข้อมูลเพื่อผู้บริโภค

การกำจัดผลิตภัณฑ์ปนสารปรอทด้วยการเผาอันตรายกว่าที่คิด

สารบัญ

090204-mercury

4 กุมภาพันธ์ 2552: กรุงเทพฯ - งานศึกษาวิจัยครั้งใหม่ที่เพิ่งเผยแพร่สู่สาธารณะในหลายประเทศยืนยันว่า การเผาผลิตภัณฑ์ที่มีสารปรอทเป็นส่วนผสมเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ในแต่ละปีมีสารปรอทปนเปื้อนสู่บรรยากาศสูงกว่า 200 ตัน

ในจำนวนนี้เกิดจากกิจกรรมของคนถึงร้อยละ 10 งานศึกษาชิ้นนี้มีชื่อว่า “สารปรอทสูงขึ้น: ลดการเผาผลิตภัณฑ์ปนสารปรอทในทั่วโลก” ซึ่งเผยแพร่ออกสู่สาธารณะพร้อมกันจากองค์กรพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม, ในหลายประเทศ

การรณรงค์ผ่านงานศึกษาวิจัยครั้งนี้ต้องการชี้ให้คนตระหนักถึงภยันตรายจากสารปรอทสู่สิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเผาผลิตภัณฑ์หรือวัสดุที่มีส่วนผสมของสารปรอท แต่ที่ผ่านมาคนไม่เข้าใจถึงอันตรายร้ายแรงของสารปรอทในบรรยากาศและไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้นัก

“เราเห็นว่าการศึกษาครั้งนี้มีความสำคัญคือ ช่วยทำให้เราตระหนักกันให้มากขึ้นว่า การเผาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารปรอทอันตรายกว่าที่เราคิดหรือรู้ ๆ กันมา” ไมเคิล เบนเดอร์ ผู้อำนวยการโครงการนโยบายปรอทกล่าว

“งานศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นว่าการเผาของเสียหรือผลิตภัณฑ์พวกนี้ทำให้สารปรอทกระจายสู่สิ่งแวดล้อมของโลกมากกว่าที่เราเคยคิดกันถึงสองเท่า”

งานศึกษาดังกล่าวมีการติดตามดูกิจกรรมการเผาหลัก ๆ หลายพื้นที่ด้วยกัน คือการเผาขยะหรือของเสียทางการแพทย์ การเผาของเสียอันตรายและของเสียจากเทศบาล การเผาตะกอนน้ำเสียจากเทศบาลต่าง ๆ และการลุกไหม้ของขยะตามหลุมฝังกลบขยะและการเผาในที่แจ้งหลายแห่งด้วยกัน

“รายงานฉบับนี้เน้นถึงผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการเผาสิ่งเหล่านี้ทั้งในเตาเผาหรือการเผาไหม้ทั่วไป เราควรต้องยอมรับกันแล้วว่าการเผาไหม้ผลิตภัณฑ์หรือของเสียจากครัวเรือนที่มีส่วนผสมของสารปรอทอยู่นั้นไม่ว่าจะเป็นในเตาเผาขยะ ในหลุมฝังกลบใหญ่ๆ หรือการเผาในที่แจ้งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สารปรอทและสารพิษอื่น ๆ ปนเปื้อนสู่ระบบนิเวศทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลกด้วย” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้ประสานงานจากกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรมกล่าว

รายงานการศึกษานี้ชี้ถึงสถานการณ์ระดับโลกว่า แหล่งหลัก ๆ ที่เป็นตัวการทำให้สารปรอทกระจายอยู่ในอากาศทั่วไปคือ มาจากการกำจัดของเสียพวกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารปรอทด้วยการเผา เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ ทั้งนี้ยังไม่ได้รวมการจัดการของเสียจากโรงงาน ตามลำดับต่อไปนี้

  • การเผาของเสียอันตรายและของเสียจากเทศบาล (ร้อยละ 41 ของที่ปล่อยสู่อากาศทั้งหมดที่เกี่ยวกับการเผาของเสียพวกผลิตภัณฑ์ที่มีปรอทปน)
  • การลุกไหม้ตามหลุมฝังกลบต่าง ๆ และการเผาของเสียพวกผลิตภัณฑ์ที่มีปรอทปนในที่แจ้ง (ร้อยละ 45 ของทั้งหมด)
  • การเผาของเสียจากสถานพยาบาล (ร้อยละ 11 ของทั้งหมด)
  • การเผาตะกอนน้ำเสียจากเทศบาล (ร้อยละ 3 ของทั้งหมด)

มีการศึกษาคล้าย ๆ กันที่เคยประเมินการปนเปื้อนของสารปรอทในอากาศที่มาจากการเผาพวกของเสียและผลิตภัณฑ์ที่มีปรอทเป็นส่วนผสม แต่ว่าการศึกษาเหล่านี้ไม่ได้ตามดูรายละเอียดของสารปรอทในสิ่งแวดล้อมที่มาจากการเผาตามหลุมฝังกลบและการเผาขยะครัวเรือนในที่แจ้ง

“เราอยากเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ หาทางยับยั้งการกำจัดของเสียเหล่านี้ด้วยการเผาโดยด่วน รวมถึงการเผาปรอททิ้ง และเปลี่ยนมาช่วยกันหาวิธีการจัดเก็บสารพิษชนิดนี้ด้วยวิธีการที่ถูกต้องและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และมีความยั่งยืนกว่า” วลัยพร มุขสุวรรณ เจ้าหน้าที่อาวุโสจากกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสากรรมกล่าว

ผลการศึกษานี้เผยให้เห็นความรุนแรงของสารปรอทที่กระจายอยู่ในอากาศของแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และเอเชียใต้ในระดับที่น้อยกว่าเล็กน้อย) ที่เกิดจากการเผาไหม้ขยะครัวเรือนตามหลุมฝังกลบและตามที่โล่งแจ้ง และมีการตั้งข้อสังเกตที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของการเผาในที่โล่งแจ้งอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในแถบชนบท ที่เป็นแหล่งรวมพวกผลิตภัณฑ์ปนสารปรอทจำนวนมหึมาและอัตราการแปรรูปของเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่น้อยมาก

รายงานฉบับนี้ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า วิธีการเผาของเสียเทศบาลอย่างถูกหลักการก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในกลุ่มประเทศเอเชียส่วนใหญ่ การสร้างของเสียปริมาณมาก ๆ การใช้และกำจัดผลิตภัณฑ์ปนสารปรอทที่ค่อนข้างสูงและการเผาโดยเตาเผาที่ทำเป็นหลักในญี่ปุ่นล้วนเป็นสิ่งที่บอกเล่าได้ว่าทำไมการปนเปื้อนสารปรอทในอากาศของภูมิภาคนี้จึงรุนแรง


ผลการศึกษานี้มีข้อเสนอแนะว่า ในการประชุมที่องค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ที่จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ที่ไนโรบี ต้องผลักดันให้มีการตั้ง “คณะกรรมการเพื่อการเจรจาระหว่างประเทศ” ขึ้นมา 1 ชุด เพื่อผลักดันให้มีการเจรจาเรื่องการสร้าง “กลไกอิสระทางกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อควบคุมสารปรอท”

สำหรับช่วงรอยต่อก่อนที่จะมีกลไกเฉพาะที่ว่านี้ ทางองค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติก็ควรมีมาตรการดังนี้

  • รับหน้าที่ที่จะต้องสนับสนุนกิจกรรมที่นำไปสู่การสร้างกลไกทางกฎหมาย ความรู้ทางเทคนิค การวิเคราะห์ และการสร้างจิตสำนึกต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ที่ใช้ส่วนผสมของสารปรอท และประเทศต่าง ๆ ที่มีโรงงานเหล่านี้ดำเนินการอยู่ ยอมรับและปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้
  • เห็นพ้องว่า การเผาไหม้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารปรอทในเตาเผาต่าง ๆ การลุกไหม้จากหลุมฝังกลบ และการเผาของเสียจากครัวเรือนในที่โล่งแจ้ง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สารปรอทและสารพิษอื่น ๆ ปนเปื้อนสู่ระบบนิเวศในระดับท้องถิ่นและระดับโลก และกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ มีมาตรการห้ามไม่ให้มีการเผาของเสียเหล่านี้ และหาวิธีการจัดเก็บสารพิษชนิดนี้ด้วยวิธีการที่ถูกต้องและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และมีความยั่งยืนกว่า

 

บุคคลติดต่อ :

1. Michael Bender, Mercury Policy Project, telephone # +01 802-223-9000, e-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

2. วลัยพร มุขสุวรรณ, กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ติดต่อ: รายงานการศึกษาเรื่อง “Mercury Rising: Reducing Global Emissions from Burning Mercury-Added Products” ได้จาก websites: www.mercurypolicy.org, www.zeromercury.org

 

หมายเหตุ

Notes:

  1. ปรอทและองค์ประกอบอืน ๆ มีอันตรายต่อมนุษย์มาก โดยเฉพาะต่อระบบประสาทที่เกี่ยวกับการพัฒนา และยังมีอันตรายกับระบบนิเวศและประชากรสัตว์ป่าต่าง ๆ ด้วย
  2. แหล่งกำเนิดของปรอทในธรรมชาติ เช่น จากการปะทุของภูเขาไฟ การระเหยจากผิวหน้าของดินและน้ำ รวมถึงผ่านการเสื่อมสลายของการเผาป่าและแร่ธาตุต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การปนเปื้อนสารปรอทจากแหล่งน้ำและดินในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเกิดจากการย่อยสลายของปรอทที่มาจากทั้งแหล่งธรรมชาติและจากฝีมือมนุษย์
  3. ปรอทเป็นธาตุที่ปะปนอยู่ในถ่านหิน โรงไฟฟ้าถ่านหินที่สร้างเพื่อผลิตไฟฟ้าเป็นแหล่งกำเนิดใหญ่สุดของโลกที่ทำให้อากาศปนเปื้อนสารปรอท

 

พิมพ์ อีเมล

12000 views
ดิฉันได้อ่านบทความคอลัมน์ ชีวิตที่เลือกได้ เรื่อง กฟผ โดยคุณชัยอนันต์ สมุทวณิช ในนสพ. ผู้จัดการ เมื่...

Read more

26157 views
แม้ว่าในฉลากยา จะระบุให้ผู้ใช้ยาได้ทราบถึงวิธีใช้ยาและความถี่ของการใช้แล้วก็ตาม ...

Read more

11134 views
ถกกันอีกรอบกับประเด็น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เอกชนเตรียมรวมตัวกันในนาม 9 สมาคมฯ ขอรัฐแก้กฎหมาย...

Read more

14565 views
 ปัจจุบันนี้อาหารสำเร็จรูปเป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคมากขึ้น ฉลากโภชนาการเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ไ...

Read more

รู้ไว้ใช้สิทธิ์

IMAGE มหากาพย์ซิมฟรี แถมหนี้ไม่อั้น
“ได้รับแจกซิมฟรี แต่ไม่ได้เปิดใช้บริการ...
IMAGE อันตรายจากการหางานตามใบปลิว
เดี๋ยวนี้เวลาไปไหนมาไหน...
IMAGE สิทธิของผู้โดยสาร
ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนสิ่ง ที่ตามมาก็คือ...
IMAGE กฎหมายน่ารู้ผู้โดยสาร
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ