ถกกันอีกรอบกับประเด็น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เอกชนเตรียมรวมตัวกันในนาม 9 สมาคมฯ ขอรัฐแก้กฎหมายเก่า แทนการออกกฎหมายใหม่ดีกว่า
หลังจากที่หลายฝ่ายพยายามจับตามมองว่า กระทรวงการคลังจะผลักดันกฎหมายใหม่ว่าด้วยเรื่อง “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้สำเร็จหรือไม่ ในที่สุด ก็ยังไม่สามารถนำเข้าได้ตามกำหนดในวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมีเหตุผลเพียงว่า มีประเด็นอื่นที่สำคัญมากกว่าต้องนำมาพิจารณา
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องภาษีที่ดินฯ จะ “แท้ง” อีกรอบ ไม่เคยได้เข้าครม.เสียที แต่ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังมีความพยายามหลายต่อหลายครั้ง หลายต่อหลายยุคสมัยในแต่ละรัฐบาลในการพยายามผลักดันเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมครม. และอย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า ไม่ใช่ ครม. ไม่มีมติเบรกกฎหมายนี้ แต่เพราะ กฎหมายนี้ ยังไม่เคยได้เข้าที่ประชุมเพื่อให้ครม.พิจารณาเลยสักครั้ง
“แท้ง” แล้ว “แท้งอีก” จนหลายคนที่ “เชียร์” กฎหมายนี้ เหนื่อยใจ ส่วนหลายคนที่ “ค้าน” ก็โล่งใจกันไปตามๆ กัน ที่กฎหมายเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังไม่ชัดเจนเสียที
มีหลายกระแสวิพากษ์ วิจารณ์ว่า กฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องการเก็บภาษีที่ดินฯ โดยเฉพาะในรายละเอียดของกฎหมายที่ต้องเก็บภาษี “ที่ดินเปล่า” เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินเปล่า หรือปล่อยที่ดินเปล่าเหล่านั้นออกสู่ตลาด เปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้พัฒนาที่ดินผืนนั้น หรือเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มีที่ดินทำกิน
แน่นอนว่า หากกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประกาศใช้จริง ผู้ที่ถือที่ดินเปล่าในมือจำนวนมาก ย่อมได้รับผลกระทบ ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินกระแสข่าวอยู่บ่อยครั้งว่า เจ้าสัวน้ำเมา “เจริญ สิริวัฒนภักดี” มีที่ดินในประเทศไทยจำนวนมหาศาล เฉพาะที่เคยเป็นข่าวไปแล้ว อยู่บริเวณติดริมทะเลชะอำ ก็มีมากกว่า 10,000 ไร่แล้ว ยังไม่รวมที่ดินบริเวณอื่นๆ ทั่วประเทศไทย
ยังไม่รวมถึง ผู้ที่ต้องพิจารณาผลักดันกฎหมายเองอย่าง “กลุ่มนักการเมือง” บางกลุ่ม บางรายที่มีที่ดินในมือเยอะก็ไม่เห็นด้วยที่จะผ่านกฎหมายดังกล่าว เพราะเป็นกฎหมายที่ตนเองจะต้องเสียผลประโยชน์
นั่นเป็นที่มาของกระแสข่าวต่างๆ ที่ว่า ทำไมกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงไม่เคยได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เลย หรือเรียกง่ายๆ ว่า ไม่เคยถูกนำมาพิจารณาให้เกิดขึ้นจริงเลยสักครั้ง ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะมีความเคลื่อนไหวจากผู้เสียประโยชน์รายใหญ่ กลุ่มผู้ถือที่ดินในมือจำนวนมหาศาลคัดค้านกฎหมายดังกล่าวอยู่เงียบๆ
มีตัวเลขผลสำรวจการถือครองที่ดินมือของหน่วยงานวิชาการต่างๆ อยู่งานวิจัยหนึ่งน่าสนใจไม่น้อย ซึ่งล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาเผยแพร่ต่อสาธารณะอีกครั้ง ว่า ปัจจุบันการถือครองที่ดินในมือของคนไทยส่วนใหญ่ 90% เฉลี่ยแล้วมีที่ดินเป็นของตัวเองไม่ถึง 1 ไร่ ส่วนอีก 10% ที่เหลือ เป็นคนส่วนน้อยของประเทศ แต่เป็นกลุ่มที่มีเงินทุนหนาและเฉลี่ยแล้วมีที่ดินในมือไม่ต่ำกว่า 100 ไร่
ตัวเลขแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
ก่อนหน้านี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ เคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภายใต้หัวเรื่อง “ภาษีที่ดิน ใครได้ ใครเสีย” มาแล้ว มีหลากหลายมุมมอง หลากหลายความคิดเห็นจากท่านผู้อ่าน และอย่างที่กล่าวแล้วว่า ประเด็นนี้ ยังคงเป็นประเด็นร้อนของคนในวงการอสังหาริมทรัพย์ ในฐานะผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรง
วันนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ขอเสนอประเด็นเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอีกครั้ง โดยครั้งนี้ จะมีหลากหลายมุมมองความคิดเห็นจากหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากฝั่งต้นเรื่อง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จากฝั่งนักวิชาการ และจากฝั่งเอกชน
ก่อนอื่นขอเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ของรัฐในปัจจุบันมาจาก 3 ฐานภาษี คือ 1. ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา และภาษีรายได้นิติบุคคล 2. ภาษีการค้า เช่น ภาษีสรรพสามิต 3. ภาษีทรัพย์สิน เช่น ภาษีโรงเรือน ภาษีบำรุงท้องถิ่น โดยปัจจุบันการจัดเก็บจากฐานภาษีทรัพย์สินยังจัดเก็บได้น้อยมาก กฎหมายใหม่ จึงเหมือนตัวช่วยที่จะทำให้รัฐจัดเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินได้สูงขึ้น
สำหรับข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ การจัดเก็บภาษี ตาม กฎหมายภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างนั้น จะเป็นกฎหมายใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่กฎหมายการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องถิ่น ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าที่ใช้มากว่า 77 ปีแล้ว และอาจมีรายละเอียดของกฎหมายบางรายการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว
การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะมีการจัดทำเป็น ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดการจัดเก็บภาษีเป็น 3 อัตรา คือ อัตราภาษีทั่วไป หรือเชิงพาณิชย์สูงสุดไม่เกิน 0.5% ที่อยู่อาศัยที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์สูงสุดไม่เกิน 0.1% และที่ดินเพื่อเกษตรกรรมสูงสุดไม่เกิน 0.05% ซึ่งท้องถิ่นสามารถกำหนดได้ว่า จะจัดเก็บจริงเท่าไร ส่วนที่ดินเปล่า จะเสียสูงกว่าที่ดินเชิงพาณิชย์ แต่สูงสุดไม่เกิน 0.5% เช่น เพดานภาษีสูงสุดของที่ดินเชิงพาณิชย์อยู่ที่ 0.5% ท้องถิ่น อาจจัดเก็บจริงที่ 0.4% ที่ดินเปล่าในบริเวณนั้นก็อาจจะจ่ายในอัตรา 0.45% คือ สูงกว่าเชิงพาณิชย์ แต่ไม่เกิน 0.5% และจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 1% เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ที่ดิน
ขณะที่การจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องถิ่นนั้น จริงๆ แล้ว ผู้ที่มีทรัพย์สินสิ่งปลูกสร้างในปัจจุบัน จำเป็นต้องเสียภาษีประเภทนี้อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับการยกเว้น โดยหากยกตัวอย่างเฉพาะในกรุงเทพฯ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายนั้นๆ ปัจจุบันมีการกำหนดว่า ในเขตเมือง หากผู้ที่มีที่ดินเกินกว่า 100 ตารางวา ต้องเสียภาษีดังกล่าว เขตชานเมือง ผู้ที่มีที่ดินเกินกว่า 1 ไร่ ต้องเสียภาษีดังกล่าว และที่ดินเกษตรกรรม ผู้ที่มีที่ดินเกษตรเกินกว่า 5 ไร่ จะต้องเสียภาษีดังกล่าว
สำหรับกรุงเทพฯ แล้วจึงเป็นเรื่องยากที่จะระบุว่าพื้นที่ใด คือ เขตเมือง เขตชานเมือง ส่วนใหญ่จึงได้รับการยกเว้นไม่ได้เสียภาษีในส่วนนี้ แสดงให้เห็นถึงการตีความของกฎหมายที่ไม่ชัดเจน และขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น แต่สำหรับผู้ที่ดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น อาคารพาณิชย์ ศูนย์การค้า อาคารสำนักงานต่างๆ เป็นต้น ล้วนต้องเสียภาษีโรงเรือน ในอัตรา 12.5% ของค่ารายปี (อธิบายได้ว่า คือ ค่าเช่า หรือรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้)
ส่วนวิธีในการคิด ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะคิดจาก “ฐาน ทรัพย์สิน” ไม่ใช่จาก “ฐานรายได้” ซึ่งประเด็นนี้ ก็มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป นักวิชาการบางท่าน เห็นด้วย บางท่านไม่เห็นด้วย แต่เอกชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่า อาจเกิดความไม่เป็นธรรมในการเสียภาษีหากคิดจากฐานมูลค่าทรัพย์สินแทนการคิดจากฐานรายได้ในปัจจุบัน
ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าทรัพย์สินมหาศาล แต่มีรายได้ต่ำกว่าอาจต้องเสียภาษีมากกว่าโรงแรมที่มีมูลค่าทรัพย์สินน้อย แต่มีรายได้สูง หรือกรณีของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หลายแห่ง ที่ได้รับผลกระทบจากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ปัจจุบันมีรายได้ต่ำมาก อาจต้องเสียภาษีสูงกว่าห้างสรรพสินค้าที่มีขนาดเล็กแต่ทำรายได้สูง
ส่วนการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินในปัจจุบันของกลุ่มธุรกิจเชิงพาณิชย์ที่ใช้วิธีคิดจากฐานรายได้ในอัตรา 12.5% ต่อค่ารายปี หรือค่าเช่า ใครมีรายได้มาก ก็จ่ายมาก แต่ก็ยังมีข้อร้องเรียนจากฝั่งเอกชนออกมาว่า ถึงจะดูเป็นธรรม แต่ อัตราปัจจุบัน ก็ค่อนข้างสูงเกินไป
สศค.ย้ำรัฐไม่ได้ถังแตกถึงต้องเก็บภาษีที่ดินฯ
ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอยืนยันว่าการยกประเด็น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผลักดันให้เป็นกฎหมายใหม่ ไม่ได้เป็นเพราะรัฐบาลถังแตกอย่างที่มีกระแสต่อต้าน แต่แนวคิดเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเป็นภาษีที่จัดเก็บเข้าท้องถิ่นโดยตรง เพื่อลดการพึ่งพิงเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และนำเงินนั้นมาสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนนั้นๆ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีมาก
สศค. มุ่งหวังที่จะให้โครงสร้างรายได้ท้องถิ่นเปลี่ยนไป จากปัจจุบันกว่า 80% เป็นเงินอุดหนุนจากรัฐ ส่วนที่เหลืออีก 10% เป็นเงินรายได้จากท้องถิ่น จากการเก็บได้จากภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บได้น้อยมาก ขณะที่ในหลายประเทศ สัดส่วนรายได้เกือบ 90% เป็นเงินจากการจัดเก็บรายได้จากท้องถิ่น รัฐอุดหนุนให้เพียง 10% เท่านั้น
นอกจากนี้ การที่ท้องถิ่นไม่สามารถจัดเก็บรายได้เองได้ ทำให้ประชาชนให้ความสำคัญกับการเมืองท้องถิ่นน้อยตามไปด้วย พื้นที่ท้องถิ่นจึงขาดการพัฒนาในทุกด้าน หากในอนาคตรัฐประกาศใช้กฎหมายภาษีที่ดินฯ ท้องถิ่นจัดเก็บรายได้เองได้ ประชาชนจะต้องให้ความสำคัญกับการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น เพราะจะต้องเลือกคนดีเข้ามาดูแลท้องถิ่น เลือกคนที่จะเข้ามาดูแลเงินภาษีที่ประชาชนจ่ายไป นักการเมืองท้องถิ่นก็จะแข่งขันกันในด้านนโยบาย มีนโยบายที่ชัดเจนว่า จะบำรุงท้องถิ่น หรือพัฒนาท้องถิ่นอย่างไร จะสร้างโรงเรียน ห้องสมุด สถานพยาบาล ดึงเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนา เป็นหน้าที่ที่ท้องถิ่นสามารถจัดการได้
นี่คือ แนวคิดในด้านการจัดการภาษีฯ ให้กับท้องถิ่นที่สรุปได้ว่า กฎหมายดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กระตุ้นให้ประชาชนให้ความสำคัญกับท้องถิ่นในทุกด้าน ทั้งด้านการอยู่อาศัย และการเมืองท้องถิ่น
อีกด้านหนึ่งของภาษีที่ดินฯ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ลดปัญหาการเก็งกำไรที่ดิน จากการกว้านซื้อที่ดินเก็บไว้โดยไม่ใช้ประโยชน์ ทำให้คนที่มีที่ดินเยอะ จะทยอยปล่อยที่ดินในมือออกมา เพราะจะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี
ปิดช่องที่ดินเปล่าทำเกษตรเลี่ยงภาษีสูง
ดร.สมชัย ยังกล่าวต่อว่า สำหรับเจ้าของที่ดินเปล่าหลายแห่งที่อาจหลบเลี่ยงกฎหมายด้วยการนำที่ดินเปล่ามาทำเกษตรกรรรมเพียงบางส่วน เพื่อจ่ายภาษีในอัตราต่ำ 0.05% สศค.ได้หาแนวทางในการปิดช่องว่างดังกล่าวไว้แล้ว ด้วยการ ระบุว่า คำว่า ที่ดินใช้ประโยชน์ หรือที่ดินเกษตรกรรม จะต้องใช้ปลูกผลผลิตทางการเกษตรไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด กรณีที่น้อยกว่านั้นจะถือว่าไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรจริง เช่น กรณีที่มีที่ดิน 100 ไร่ แต่นำต้นกล้วยมาปักเพียงบางส่วน ต้องเสียภาษีในอัตราที่ดินรกร้าง
เตรียมปั้น ธนาคารที่ดิน รองรับที่ดินตาบอด
สำหรับที่ดินตาบอด หรือที่ดินที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ดร.สมชัย กล่าวว่า รัฐบาลได้เปิดทางให้กับที่ดินตาบอดทั่วประเทศ หากคิดว่าที่ดินดังกล่าวไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แล้ว และเกรงว่าจะต้องเสียภาษีในอัตราสูง สามารถนำที่ดินมาขายคืนให้กับรัฐได้ โดยรัฐจะจัดตั้งธนาคารที่ดินขึ้นมารองรับ
มั่นใจ ประเมินที่ดิน 24 ล้านแปลงทำเสร็จใน 2 ปี
การใช้ภาษีที่ดินฯ ที่คิดภาษีจากมูลค่าทรัพย์สิน จำเป็นต้องมีราคาประเมินจากภาครัฐเพื่อความเป็นกลาง โดยปัจจุบันที่ดินในประเทศไทยมีทั้งหมด 30 ล้านแปลง ประเมินไปแล้ว 6 ล้านแปลง เหลืออีก 24 ล้านแปลง ดร.สมชัย มั่นใจว่า จะประเมินแล้วเสร็จภายใน 2 ปีนี้ ทันรองรับการใช้กฎหมายแน่นอน หรือถ้ายังประเมินไม่แล้วเสร็จ ก็สามารถใช้ผลการประเมินแบบรายบล็อก ซึ่งเป็นการประเมินอย่างหยาบก่อนได้
นักวิชาการหวั่นตีความวุ่น เสนอแก้กฎหมายเก่าดีกว่า
ด้านศาสตราจารย์ ดร.ศุภลักษณ์ พินิจภูวดล อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวให้ความคิดเห็นว่า จริงๆ แล้วเห็นด้วยกับกฎหมายภาษีที่ดินฯ ที่ดร.สมชัยพยายามผลักดันมาตลอด แต่ในฐานะคนที่ทำงานกับกฎหมายมานาน หวั่นเกรงว่า จะมีปัญหาด้านการตีความที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องมูลค่าทรัพย์สิน จะตีความอย่างไร อะไรบ้างที่จัดเป็นมูลค่าทรัพย์สินบ้าง ประเด็นนี้ หากไม่อยากให้เกิดปัญหาเช่นปัจจุบัน ควรลงรายละเอียดให้ชัดเจน
เช่น กรณี ทาวน์เฮ้าส์ ที่เดิมเป็นที่อยู่อาศัยจะต้องจ่ายในอัตรา 0.1% แต่ถ้า ทาวน์เฮ้าส์นั้น เกิดทำการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน จะถูกตีความว่าอย่างไร เป็น อาคารเชิงพาณิชย์หรือไม่ ซึ่งหากถูกตีความว่าเป็นอาคารเชิงพาณิชย์ เท่ากับว่า เจ้าของบ้านหลังนั้นต้องเสียภาษี ในอัตรา 0.5% ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร
“อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ การที่รัฐบอกให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีเอง รัฐต้องดูด้วยว่า ท้องถิ่นพร้อมที่จะจัดเก็บภาษีได้เองแล้วหรือไม่ หากไม่พร้อมเท่ากับเป็นการโยนภาระให้กับท้องถิ่น”
ศาสตราจารย์ ดร.ศุภลักษณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ขอดูร่างกฎหมายนี้ไปยังผู้เกี่ยวข้องแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ จึงยังไม่เคยเห็นร่างกฎหมายนี้เลย จึงมองว่า ปมปัญหาหลายอย่างของตัวกฎหมายนี้ อาจมีส่วนทำให้กฎหมายใหม่นี้เกิดยาก จึงอยากเสนอให้รัฐ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องถิ่นให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันมากขึ้น หลังจากที่ใช้มา 77 ปีแล้วแทนการผลักดันกฎหมายใหม่ ซึ่งการปรับปรุงกฎหมายเดิมจะง่ายกว่า
เอกชนเห็นด้วยหลักการ แต่รุมค้านเชิงปฏิบัติ
ทางฝั่งเอกชน นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวให้ความคิดเห็นว่า ในหลักการแล้วถือว่ากฎหมายภาษีที่ดินฯ มีแนวคิดที่ดีมาก แต่ไม่เชิงปฏิบัติอาจไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย และการจัดเก็บด้วยวิธีคิด เชิงมูลค่าทรัพย์สิน แทน เชิงรายได้ ถือว่าไม่ยุติธรรม เพราะโรงแรมที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูง ไม่ได้หมายความว่า จะมีรายได้สูง กลับต้องเสียภาษีที่สูงกว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำ รวมถึง เอกชน มีความไม่มั่นใจถึงมาตรฐานในการประเมินต่างๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม
ขณะที่นายรังสรรค์ นันทกาวงศ์ นายก ส.บริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และหมวกอีกใบฐานะ ผู้ที่ต้องจัดเก็บภาษีที่ดินตาม กฎหมาย เนื่องจากเป็นนายกเทศมนตรี ต.บึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันเกษตรกรเจ้าของที่ดินจ่ายภาษีในอัตราที่ต่ำมาก เช่น ที่นา จ่ายอยู่ที่ 5 บาทต่อไร่ต่อปี ที่ปลูกไม้ล้มลุกเก็บ 10 บาทต่อไร่ต่อปี ที่ไร่สวน 20 บาทต่อไร่ต่อปี ที่ว่างเปล่า 40 บาทต่อไร่ต่อปี แต่หากต่อไปต้องจ่ายในอัตราใหม่ เกษตรกรจึงกังวลว่าจะต้องจ่ายสูงขึ้น
ในอีกมุมหนึ่งในฐานะนายกเทศมนตรีก็มีความไม่มั่นใจว่า เมื่อต้องจัดเก็บภาษีที่ดินฯ เป็นรายได้ของท้องถิ่นเอง จะสามารถดำเนินการทุกอย่างได้ตามที่รัฐบอกไว้ ว่าบริหารเงินเอง ไม่ต้องพึ่งรัฐ มีรายได้เป็นของตัวเอง เกรงว่า เมื่อรัฐให้จัดเก็บรายได้เองแล้ว รัฐจะยกเลิกงบประมาณอื่น หรือเลิกอุดหนุนเงินให้กับท้องถิ่น ซึ่งเท่ากับว่า ท้องถิ่นไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นเลย
9 สมาคมฯ เล็งเสนอรัฐ ปัดฝุ่นกฎหมายเก่าแทน
นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวให้ข้อมูลว่า ได้รับข้อมูลจากทางภาคเอกชนว่าจะรวมตัวกันในนาม 9 สมาคมแวดวงอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเสนอให้รัฐปรับปรุงแก้ไขกฎหมายปัจจุบัน คือ กฎหมายภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องถิ่นแทนการออกกฎหมายใหม่ พร้อมเสนอว่า ให้ปรับลดอัตราค่ารายปีจาก 12.5% เหลือในอัตราที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะเชื่อว่ากฎหมายภาษีที่ดินฯ จะส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก
ผู้ประกอบการเสนอความคิดเห็นผ่านศูนย์ข้อมูลฯ ว่า วิถีชีวิตของคนไทย ไม่เหมือนต่างประเทศ จะจัดเก็บภาษีตามโครงสร้างของต่างประเทศอาจเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัยทั่วไป กับ อาคารเชิงพาณิชย์ หากใช้กฎหมายจริง จะมีปัญหามาก เพราะปัจจุบัน ทาวน์เฮ้าส์ส่วนใหญ่ คนอยู่อาศัย ก็เปิดร้านขายของขนาดเล็กๆ ในหมู่บ้าน หากต้องเสียภาษีตามกฎหมายใหม่ อาจต้องชำระในอัตราอาคารเชิงพาณิชย์ที่ 0.5%
ทั้งนี้ 9 สมาคมแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่อยู่อาศัย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย สมาคมรับสร้างบ้าน สมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย และมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศ
เรื่องโดย สุกัญญา สินถิรศักดิ์
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 31 สิงหาคม 2552 11:53