เมื่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ที่มีนาย ดิเรก ลาวัณย์ศิริ เป็นประธานได้อนุมัติขึ้นราคาค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติหรือค่าผ่านท่อของปตท.จากที่คนไทยต้องจ่ายกันปีละประมาณกว่า 19,000 ล้านขึ้นไปเป็นเกือบ 22,000 ล้านบาท โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2552 ซึ่งค่าผ่านท่อดังกล่าวเป็นต้นทุนสำคัญของการผลิตไฟฟ้า ก๊าซเอ็นจีวีและก๊าซหุงต้มที่ใช้กันในประเทศนั่นเอง โดยในเนื้อข่าวประจำวันที่ 27 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา กล่าวถึงการขึ้นราคาค่าบริการนี้เพียง 2 บาท 2 สตางค์ต่อล้านบีทียู ซึ่งฟังดูไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงจะทำให้รายได้ของ ปตท. เพิ่มขึ้นถึงปีละ 2,000 ล้านบาทเลยทีเดียว เพราะปีๆหนึ่งคนไทยใช้ก๊าซที่ขุดขึ้นจากอ่าวไทยถึงปีละ 1,000 ล้านล้านบีทียู!!!
ในยุคที่วิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งรุนแรงรุมเร้า รายได้ของประชาชนคนไทยมีแต่จะลดน้อยถอยลง แต่กลับต้องมาเผชิญกับการขึ้นค่าสาธารณูปโภคระลอกแล้วระลอกเล่า นับตั้งแต่ต้นปีไทยน่าจะเป็นประเทศเดียวที่มีการขึ้นค่าไฟไปเรียบร้อยแล้วโดยให้เหตุผลว่าราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวขึ้น!!! (โปรดดูตารางเพื่อเปรียบเทียบราคาก๊าซในตลาดโลก)
ราคาก๊าซธรรมชาติ ในตลาดโลก(ดอลล่าร์/ล้านบีทียู) |
มิ.ย.-08 |
ก.ค.-08 |
ส.ค.-08 |
ก.ย.-08 |
ต.ค.-08 |
พ.ย.-08 |
ธ.ค.-08 |
Henry Hub |
13.18 |
9.26 |
8.24 |
7.18 |
6.23 |
6.45 |
5.63 |
ANR Southeast |
13.09 |
9.20 |
7.85 |
7.18 |
6.25 |
6.51 |
5.76 |
Col. Gulf Onshore |
13.09 |
9.19 |
7.98 |
7.17 |
6.14 |
6.40 |
5.60 |
Col. Mainline |
13.11 |
9.20 |
7.85 |
7.10 |
6.18 |
6.44 |
5.60 |
ที่มา : Bloomber
เท่านั้นยังไม่พอ การขึ้นค่าไฟฟ้าครั้งที่สองหลังเดือนเมษายนกำลังจะมาถึงเนื่องจากการขอขึ้นค่าผ่านท่อของปตท.ในครั้งนี้!!! และข่าวร้ายที่น่าจะตามมาในที่สุดก็คือ การปรับขึ้นราคาก๊าซทั้งเอ็นจีวีและแอลพีจีอีกระลอกโดยการผลักดันของบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของไทยที่มีกรรมการเป็นบิ๊กข้าราชการกระทรวงพลังงานนั่นเอง!!!
ในทางตรงกันข้าม ประเทศต่างๆไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรือประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียก็ตาม ต่างก็มีมาตรการปรับลดค่าสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่นไฟฟ้าให้กับประชาชนเพื่อให้อยู่รอดได้ในยามวิกฤติ ซึ่งก็ดูสมเหตุสมผลเนื่องจากราคาก๊าซและน้ำมันก็ยืนอยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุใดประเทศไทยจึงมีนโยบายสวนทางกับสภาวะที่เป็นอยู่ราวฟ้ากับเหว กล่าวคือ ด้านหนึ่งรัฐบาลพยายามช่วยเหลือประชาชนโดยจ่ายเงินให้เปล่า แต่อีกด้านหนึ่งรัฐเองก็กลับมีนโยบายเพิ่มค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อค่าไฟขึ้นราคาสินค้าทุกชนิดก็จะขึ้นตามมา สิ่งนี้นอกจากเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจจากการฟื้นตัวแล้วยังพลักประชาชนที่มีสถานะง่อนแง่นให้ไปอยู่ใกล้ปากเหวมากขึ้นทุกที ดังนั้น เราจึงควรมาตรวจสอบกันสักหน่อยถึงที่มาที่ไปว่าเป็นเช่นไร
จากเอกสารของ กกพ.ชี้แจงว่า การปรับปรุงค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาตินี้เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ที่รัฐบาลได้อนุมัติไป โดยมีประเด็นสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาอยู่ด้วยกัน 3 ประการ ประการแรกคือการประเมินมูลค่าท่อก๊าซเก่า(ที่สร้างจากภาษีของประชาชนก่อนการแปรรูป ปตท.)เนื่องจากท่อก๊าซเหล่านี้มีอายุการใช้งานได้นานกว่าที่เคยประเมินไว้ การบำรุงรักษาระบบท่อก๊าซ และค่าใช้จ่ายในการลงทุนระบบท่อใหม่ในอนาคต
ประเด็นที่ 1 การประเมินมูลค่าท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่สร้างก่อนการแปรรูปปตท.ให้มีมูลค่าสูงขึ้นเพื่อเก็บค่าผ่านท่อเพิ่มขึ้น !!! ในการนี้ ปตท.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศ 2 รายทำการประเมินราคาท่อเก่าที่สร้างก่อนการแปรรูปปตท. ซึ่งในครั้งนั้นได้มีการประเมินไว้ว่าจะมีอายุใช้งานเพียง 25 ปี แต่ในความเป็นจริงกลับใช้งานได้นานถึง 40 ปี จากผลการประเมินพบว่า การขยายอายุการใช้งานนี้จะทำให้ท่อเก่าเกิดมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 112,500 ล้านบาททีเดียว ประเด็นนี้ทำให้ต้องกลับมาฉุกคิดว่าเมื่อตอนที่รัฐแปรรูปปตท.ในปี 2544 นั้น ประเทศได้เงินสดเข้ากระเป๋าจากการที่กระทรวงการคลังขายหุ้นปตท.เพียง 1,750 ล้านบาท บริษัทปตท.ได้เงินจากการเพิ่มทุนไปขยายกิจการเพียงประมาณ 23,000 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนประชาชนก็ต้องสูญเสียความเป็นเจ้าของปตท.และท่อเหล่านี้ไปเกือบครึ่งหนึ่งทีเดียว ไม่ว่ารัฐจะมีเจตนาอย่างไรก็ตาม แต่การแปรรูปในครั้งนั้นรัฐก็ได้โอนสมบัติอันมีค่าของปวงชนชาวไทยไปให้เอกชนเสียแล้ว และนี่เองอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้หุ้นปตท.วิ่งสูงเกินราคาจองหลายเท่าตัวและสร้างความร่ำรวยให้กับผู้เกี่ยวข้องในพริบตา!!
ปตท. ได้นำมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากการประเมินของท่อเก่านี้มาใช้ในการคำนวณค่าผ่านท่อที่จะเก็บจากประชาชนเพิ่มขึ้น!!! ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจว่า ทำไมท่อเก่าที่สร้างด้วยภาษีของประชาชนเมื่อตอนที่ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจ เมื่อมีมูลค่าในปัจจุบันสูงขึ้นจึงต้องกลายเป็นภาระค่าผ่านท่อที่ประชาชนจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นด้วยเล่า? ทั้งที่ความจริงแล้วมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากการประเมินนี้ บริษัทปตท.น่าจะต้องจ่ายชดใช้คืนให้กับประชาชนมากกว่าเพราะแสดงให้เห็นว่าเมื่อตอนโอนท่อส่งก๊าซเหล่านี้ไปเป็นของตนนั้นใช้ราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงเกินไปโดยมีสมมติฐานที่ว่าท่อเหล่านี้มีอายุใช้งานสั้นเพียง 25 ปีเท่านั้นทั้งที่สามารถใช้ได้ถึง 40 ปี!!!
ประเด็นที่ 2 การก่อสร้างท่อใหม่ แม้ว่าในการรองรับแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าของประเทศ(PDP) นั้น จะต้องมีการขยายโครงข่ายระบบท่อก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมขึ้นก็ตาม การผลักภาระให้ประชาชนเป็นผู้จ่ายค่าลงทุนโครงข่ายท่อนี้โดยจ่ายค่าผ่านท่อให้กับปตท.สูงขึ้นดูไม่สมเหตุผลนักหากกรรมสิทธิ์ในท่อใหม่เหล่านี้จะต้องตกเป็นของปตท.แต่เพียงผู้เดียว ทั้งที่ประชาชนผู้ใช้ไฟและก๊าซทั่วประเทศเป็นผู้จ่ายค่าก่อสร้างผ่านการขึ้นราคาค่าผ่านท่อ!!!
ประเด็นที่ 3 ค่าบำรุงรักษาระบบท่อก๊าซธรรมชาติ ประเด็นนี้ฟังดูสมเหตุสมผลที่สุดในองค์ประกอบค่าผ่านท่อทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามมูลค่าที่ กกพ.อนุมัติให้ปตท.นำมาคิดเป็นต้นทุนนั้นสูงถึง 61,283 ล้านบาท โดยตัวเลขนี้ยังไม่รวมถึงค่าผ่านท่อที่ปตท.เก็บจากประชาชนอยู่แล้วทุกปี เป็นมูลค่ากว่า 19,000 ล้านบาท ดังนั้น คงต้องเป็นหน้าที่ของ กกพ.ที่ต้องออกมาชี้แจงรายละเอียดต่อสาธารณชนว่าเหตุใดค่าบำรุงรักษาระบบท่อก๊าซที่มากมายมหาศาลขนาดนี้จึงสมควรด้วยเหตุและผล
หากจะเปรียบเรื่องนี้ให้ง่ายต่อการเข้าใจก็คล้ายกับการที่เราลงทุนลงแรงสร้างบ้านของตัวเองแต่เมื่อบ้านเสร็จก็ถูกบังคับโอนไปเป็นของคนอื่น เราจึงต้องจำยอมกลับมาเช่าบ้านตัวเองอยู่ นอกจากค่าก่อสร้างและค่าเช่าที่ต้องจ่ายแล้ว ค่าบำรุงรักษาและค่าต่อเติมบ้านก็ยังเก็บกับผู้เช่าอีกต่างหาก และที่ร้ายที่สุดเห็นจะเป็นเมื่อมีการประเมินราคาบ้านเก่าหลังนี้สูงขึ้น(เนื่องจากตอนโอนไปเป็นของคนอื่นเราถูกกดราคา) กลับกลายเป็นโอกาสขอขึ้นราคาค่าเช่าที่เราต้องจ่ายแพงขึ้นตามราคาบ้าน
ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของไทยนี้ นับเป็นแนวทางการทำธุรกิจสาธารณูปโภคที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐแนวใหม่ที่ยังไม่พบที่ใดในโลกที่เอกชนมีสิทธิ์พิเศษในการได้รับสัมปทานโดยไม่ต้องมีการประมูล สัมปทานไม่มีวันหมดอายุ และธุรกิจก็ผูกขาดไม่มีการแข่งขัน ที่ดียิ่งไปกว่านั้นก็คือประชาชนผู้บริโภคเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง จ่ายค่าบำรุงรักษา และยังจ่ายค่าเช่าให้กับผู้ให้บริการ แถมประชาชนผู้ลงทุนยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในท่อเหล่านั้นอีกต่างหาก สรุปว่าเรื่องนี้ดูไปดูมาหาความสมเหตุสมผลได้ยากเต็มที คงมีคำอธิบายที่ดีเพียงคำเดียวว่า “กรรม”ของคนไทย!!!
บทความโดย ทิวากร ณ กรุงเทพฯ
หมายเหตุ นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จบปริญญาตรี วศ.บ. วิศวกรรมโยธา ปี 2515 จากจุฬาฯ มีบุตร 1 คน ชื่อนายดิสภัทร ลาวัณย์ศิริ ทำงานในตำแหน่งพนักงานวิเคราะห์และวางแผน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ส่วนนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) จบปริญญา วศ.บ. วิศวกรรมโยธา ปี 2514 จากสถาบันเดียวกัน
{mxc}