ชำแหละน้ำมันแพง

"เราไม่โทษ ปตท. เราไม่โทษกองทุน เราไม่โทษอะไรทั้งสิ้น เราโทษรัฐบาล ว่ารัฐบาลคุมงานใช้ไม่ได้ ในเรื่องนี้"
     
"คุณให้ผู้บริโภคแบกรับตลาดหุ้นด้วยใช่ไหม เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่น้ำมันขึ้นปุ๊บ หุ้น ปตท.ขึ้นกระฉูด เพราะฉะนั้นรัฐบาลไม่กล้าแตะใช่ไหม รัฐมนตรีกระทรวงการคลังคุ้นเคยกับตลาดหุ้นมากเลย ก่อนเป็นรัฐมนตรีเจอใครก็ให้มาถามรสนาว่าจะเอา ปตท.คืนไหม พอมาคุยกับเรา เราถามแล้วตกลงท่านจะเอาคืนไหมถ้าเป็นรัฐบาล-เฮ้ยเรื่องนี้ต้องคุยกันยาว"
     
ทำไมน้ำมันแพงเกือบๆ เท่ากับเมื่อกลางปีที่แล้ว ที่ราคาน้ำมันตลาดโลกขึ้นไปถึงจุดสูงสุด 130 กว่าดอลลาร์ต่อบาเรล ทั้งที่วันนี้ราคาตลาดโลก 70 กว่าดอลลาร์ต่อบาเรล
ถ้าดูคร่าวๆ จะเห็นว่าเพราะรัฐบาลขึ้นภาษีสรรพสามิต รัฐบาลเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่ม-โอเค แต่ถ้าดูให้ละเอียดลงไป รสนา โตสิตระกูล ประธานคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ชี้ให้ดูว่ายังมีตัวเลขที่ผิดเพี้ยนอีกหลายรายการ โดยเฉพาะราคา ณ โรงกลั่น กับการใช้เงินกองทุนน้ำมัน

ราคาสิงคโปร์?
      "ราคาน้ำมันเบนซิน 95 เมื่อกรกฎาคมปีที่แล้ว อยู่ที่ 42 บาท วันที่ 6 สิงหาคม 40.54 บาท ห่างกันแค่ 2 บาท โอเค ภาษีเพิ่มขึ้น ภาษีสรรพสามิตจาก 3.68 บาท ขึ้นเป็น 7 บาท กองทุนน้ำมัน 3.45 บาท ขึ้นเป็น 7 บาท"
      รสนาชี้ให้ดูตารางโครงสร้างราคา ซึ่งเห็นความแตกต่างได้ชัด แต่ที่น่าสังเกตคือ ค่าการตลาดเบนซิน 95 ขึ้นไปสูงกว่าน้ำมันประเภทอื่นๆ คือ 4.25 บาท ทั้งที่บริษัทน้ำมันบอกว่าค่าการตลาดที่เหมาะสมคือ 1.50 บาท
น้ำมันดีเซลมีความแตกต่างจากปีที่แล้วมากที่สุด คือจาก 41.84 เป็น 28.89 บาท เพราะเพิ่มภาษีจาก 3 บาทเป็น 5 บาท เก็บเข้ากองทุนน้ำมันจาก 10 สตางค์เป็น 1.70 บาท น้อยกว่าน้ำมันชนิดอื่นๆ ค่าการตลาดก็อยู่ที่ 1.13 บาท แต่ปีที่แล้วค่าการตลาดอยู่ที่ 2.35 บาท

      "ตัวหนักๆ ที่เข้ามาคือภาษีสรรพสามิตกับกองทุนน้ำมัน ต้องตอบอย่างนี้ว่ากองทุนน้ำมันเป็นตัวทำให้ราคาบิดเบือน เช่น ดีเซลจริงๆ แพงกว่าเบนซิน แต่เขาทำให้ดีเซลถูกกว่า โดยเอาเงินกองทุนเข้ามา subsidize"
     "โครงสร้างราคาน้ำมันตอนนี้ เป็นตัวที่ทำให้ราคาน้ำมันไม่ได้เป็นไปตามราคาตลาดโลกอย่างที่เขาชอบอ้างกัน เริ่มจากโครงสร้างหน้าโรงกลั่น ราคาหน้าโรงกลั่นไม่ใช่ราคาอิงสิงคโปร์อย่างที่เขาชอบอธิบาย ราคาหน้าโรงกลั่นเป็นราคานำเข้าจากประเทศสิงคโปร์ เพราะเขาเอาราคาสิงคโปร์แล้วก็มาบวกๆๆค่าโสหุ้ย ค่าขนส่ง ประกันภัย ค่าปรับออกเทน และอื่นๆ รวมแล้วประมาณ 1.90 บาท มันขึ้นๆ ลงๆ แล้วแต่เขาจะบวกยังไง ซึ่งเขายอมรับว่าเป็น import parity"

     "กว่าจะบังคับให้พวกนี้ตอบออกมาได้ว่าเฮ้ยตกลงราคาของคุณคือ import parity ใช่ไหม เขาก็เพิ่งมายอมรับว่าโอเคมันเป็น import parity เขาตอบกับเราในฐานะกรรมาธิการที่เรียกมาชี้แจง เขาบอกว่าการตั้งโรงกลั่นตั้งใจจะให้โรงกลั่นมีไว้เพื่อผลิตน้ำมันให้คนไทย ที่เหลือส่งออกมันเป็นเศษๆ ไม่ได้ตั้งใจหรอก แต่ปี 2551 ส่งออก 3 แสนกว่าล้านนะ คือ 9,700 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ข้าวส่งออกแค่ 6,200 ล้านดอลลาร์ เพราะฉะนั้นไอ้เศษๆ ของเขานี่มหาศาล"

     รสนาบอกว่านั่นเป็นมูลค่าใกล้เคียงกับเอกวาดอร์ที่อยู่ในกลุ่มโอเปก และจริงๆ แล้วประเทศไทยก็ผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติได้มากถึง 115 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 1 ใน 3 ของเศรษฐีน้ำมันอย่างกาตาร์ 3 แสนกว่าล้านที่ส่งออกมีทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป
     
"ประเทศไทยมีน้ำมันดิบนะ แต่เขาจะส่งออกน้ำมันดิบไลท์สวีต ซึ่งราคาแพง เขาขายไปประมาณ 56,000 กว่าล้าน แทนที่จะกลั่นในประเทศไทยเขาขายเพราะได้ราคาดีกว่า แล้วก็ซื้อน้ำมันราคาถูกกว่าจากดูไบมากลั่น"
     "ประเด็นสำคัญ สิ่งที่เขาบอกคือโครงสร้างราคาเป็นสิ่งที่รัฐบาลเคยให้ไว้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้สร้างโรงกลั่นในประเทศไทย เสมือนว่ามีโรงกลั่นและกลั่นในประเทศก็จริง แต่ให้ได้ราคาเท่ากับการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งถ้า 11 ปีที่แล้ว เพิ่งมีโรงกลั่นใหม่ๆ ก็ไม่ว่ากัน แต่ตอนนี้มันส่งออกน้ำมันเป็นล่ำเป็นสันแล้ว มันก็ไม่ควรที่จะใช้โครงสร้างราคาน้ำมันเดิม เพราะมันเป็นภาระของประชาชน"

     "ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องกลั่นน้ำมัน สู้นำเข้ามาเลยดีไหม เราจะได้เก็บทรัพยากรเอาไว้ สร้างโรงกลั่นก็ปล่อยมลพิษ ทะเลาะกับชาวบ้านอีก อย่าทำเลยไม่ดีกว่าหรือ แต่เขาก็บอกว่าการมีโรงกลั่นเอาไว้เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน เฮ้ยความมั่นคงมูลค่าเป็นแสนล้านนะ ลองคิดดูว่าราคาน้ำมันของสิงคโปร์จะเป็นเท่าไหร่ไม่สำคัญ แต่เขาต้องบวกค่าขนส่ง ซึ่งตีไว้ประมาณ 1.90 บาท ต่อลิตร ปีหนึ่งเราใช้ 4 หมื่นล้านลิตร เอา 1.90 บาทคูณไป ก็เกือบ 8 หมื่นล้านบาท"
      "แต่ถ้าโรงกลั่นจะส่งน้ำมันไปขายสิงคโปร์ สมมติราคา 20 บาทเขากลับต้องเอา 20 บาทนั้นลบด้วยค่าขนส่ง คือ 1.90 บาท เพราะฉะนั้นจริงๆแล้วโรงกลั่นก็ไม่อยากจะส่งไปขายต่างประเทศ ขายในประเทศได้กำไรมากกว่า"
      "วิธีการแบบนี้เราเรียกว่ากลไกตลาดหรือเปล่า เป็นกลไกตลาดเทียม เพราะมันมีการผูกขาด โรงกลั่นทั้งหมดมี 6 โรงในเมืองไทย 5 โรงถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท ปตท. และ 5 โรงนี้กลั่นน้ำมัน 85 เปอร์เซ็นต์ของยอดการกลั่นทั้งหมด เมื่อคุณสามารถที่จะมีหุ้นในบริษัทในโรงกลั่นถึง 5 โรงเท่ากับคุณสามารถผูกขาดราคาได้นะ เพราะฉะนั้นราคาหน้าโรงกลั่นก็แล้วแต่เขา"
      "ถ้าเขาคิดแบบ cost plus อย่างสมัยที่ ปตท.เป็นของรัฐ คุณอาจจะไม่ต้องคิดถึงราคาสิงคโปร์ cost plus ก็คือเมื่อเอาน้ำมันเข้ามา กลั่นออกมาแล้ว บวกค่าการกลั่นเข้าไป ราคาจะต่ำกว่านี้มาก ราคาสิงคโปร์มันเป็นราคาที่มีการปั่นหุ้น มันเป็นราคาที่ขึ้นลงตามตลาด ซึ่งเกิดจากพวก Hedge Fund ต่างๆ มาปั่น เพราะฉะนั้นราคาระหว่าง cost plus กับ reference price จะต่างกันมาก เขามักจะอ้างอยู่เสมอว่าเขาต้องใช้ reference price เนื่องจากเป็นกลไกตลาดโลก เขาต้องอิงราคาสิงคโปร์เพราะสิงคโปร์เป็นจุดที่มีการซื้อขายน้ำมันกันมากที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้วเขาไม่เคยบอกคนไทยเลยว่าคุณใช้ราคานำเข้าจากสิงคโปร์นะ ไม่ใช่ราคาอ้างอิงจากสิงคโปร์ ต่างกันมากนะ ราคาอ้างอิงสิงคโปร์ กับราคานำเข้าจากสิงคโปร์"

      รสนาบอกว่าในเมื่อโรงกลั่นยังขายน้ำมันออกต่างประเทศ โดยใช้ราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ หักลบด้วยค่าขนส่ง แล้วก็ยังได้กำไร ก็น่าจะขายคนไทยในราคาเดียวกัน โดยยังได้กำไรอยู่ แต่ทุกวันนี้ราคาที่เป็นอยู่คือสมมติสิงคโปร์ 20 บาท ราคาหน้าโรงกลั่นกลายเป็น 21.90 บาท แต่ราคาส่งออก 18 บาทเศษเท่านั้น
     "ถ้ารัฐบาลไม่ปล่อยให้บริษัทน้ำมันไปซื้อหุ้นในโรงกลั่นมากกว่า 1 โรง มันจะเกิดการแข่งขันราคา นี่คือราคากลไกตลาดจริง และเมื่อมีแข่งขันจริง ราคามันจะใกล้เคียงการส่งออก แต่เพราะมันไม่มีการแข่งขันไง คุณถึงสามารถ up ราคาได้ว่าให้เป็นราคานำเข้า ซึ่งเป็นราคาที่ไม่จริง ทำไมเราต้อง subsidize บริษัทน้ำมัน ทำไมเราต้อง subsidize โรงกลั่นน้ำมัน ในเมื่อเขาขายน้ำมันได้แล้วเขากำไรตั้งเท่าไหร่ ไปดูผลตอบแทนบรรดากรรมการสิ ทำไมจะต้องมาโยนภาระให้กับผู้บริโภค อันนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงานนะ เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะต้องกำกับ ทำไมไม่กำกับ"

      “เมื่อคืนวันศุกร์ เราไปออก TPBS กับคุณมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เขาเน้นว่าราคาน้ำมันสูงเพราะกองทุนกับภาษี แต่เราบอกว่าจริงๆ มี 2 เรื่องที่ทำให้แพงคือค่าการตลาดกับราคาหน้าโรงกลั่น ซึ่งเป็นราคานำเข้าจากสิงคโปร์ ซึ่งมักบอกว่าราคาอิงสิงคโปร์ แต่จริงๆ เป็นราคานำเข้า เพราะบวกค่าขนส่งค่าประกันภัยจิปาถะเข้าไปด้วย เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกิดขึ้นจริง กระทรวงพลังงานเคยมาชี้แจงกับเรา บอกว่าจำเป็นต้องให้ intensive โรงกลั่น เราบอกว่าโอเค 11-12 ปีที่แล้วใช่ แต่เวลานี้โรงกลั่นส่งน้ำมันขาย 3 แสนล้าน ไม่ควรมีอีกแล้ว คุณมนูญยอมรับว่าเราพูดถูก โรงกลั่นแข็งแรงมากขึ้น ถ้าตัดค่าขนส่งไปก็ได้ แต่ค่าปรับออกเทนตัดไม่ได้ ค่าปรับออกเทนคือน้ำมันของสิงคโปร์มีกำมะถันสูงกว่าเรา เราต่ำกว่า ต้องบวกค่าปรับออกเทน”

      “เราถามคุณมนูญนอกรายการ ถามว่าตอนขายส่งออก ขายในราคาไหน คุณภาพไหน เขาก็บอกว่าส่งออกในคุณภาพที่เราใช้ แต่ราคาต่ำกว่า เพราะผู้ซื้อไม่ต้องการออกเทนขนาดนั้น เราก็บอกว่าไม่ค่อยแฟร์ เหมือนคนไทยซื้อข้าวหอมมะลิในราคาตลาดโลก แต่ขายส่งออกในราคาข้าวหัก เขาก็อึ้งไป”

      “สรุปที่เขาบอกคือถ้าจะให้ขายราคา export โรงกลั่นคงไม่ยอม เนื่องจากเขาตั้งโรงกลั่นเพื่อทดแทนการนำเข้า ฉะนั้นจะให้ขายคนไทยในราคาส่งออก โรงกลั่นคงไม่ยอม มันแสดงว่าเป็นกลไกตลาดเทียม ไม่มีการแข่งขัน ตั้งโรงกลั่นเพื่อทดแทนนำเข้า แต่ขายคนไทยราคานำเข้า คนไทยซื้อแพง ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค”
      “แต่ก็เป็นครั้งแรกนะที่เขายอมรับในที่สาธารณะ ว่าราคาหน้าโรงกลั่นคือราคานำเข้าจากสิงคโปร์ ไม่ใช่ราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ เมื่อคืนเขายอมรับเป็นครั้งแรก”


กองทุนน้ำมัน
“จุดที่จะต้องพูดต่อไปก็คือกองทุนน้ำมันทำให้ราคาบิดเบือนจากความเป็นจริง ซึ่งจริงๆ ขัดกับมาตรการรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนประหยัด และใช้น้ำมันตามราคาที่เป็นจริง เราอ้างว่าต้อง subsidize ดีเซลเพราะดีเซลเป็นรถที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ เป็นเรื่องการขนส่งสินค้า แต่เวลานี้รถของคนชั้นกลางหันมาใช้ดีเซลกันเป็นแถว ก็กลายเป็นว่าเราต้องเอาเงินจากกระเป๋าของคนที่ใช้น้ำมันเบนซินไป subsidize ดีเซล ซึ่งไม่เป็นธรรม จริงๆ รัฐบาลควรแจกแจงให้ชัดเจนว่าถ้าเป็นรถบรรทุกรถขนส่งรถที่เกี่ยวข้องกับสินค้าต่างๆ คุณต้องมีวิธีการ subsidize กลุ่มนั้น แต่ถ้ารถเบนซินที่เป็นรถบ้าน เขาหันมาใช้ดีเซลเพราะต้องการใช้น้ำมันถูก คนพวกนั้นไม่ควรจะได้รับการ subsidize การที่เราเอากองทุนไปแทรกแซงทำให้พอน้ำมันแพงปุ๊บ คนก็ย้ายไปใช้แอลพีจี ย้ายไปใช้เอ็นจีวี ย้ายไปใช้ดีเซล คือมันจะมั่วไปหมด กองทุนทำให้กระบวนการทั้งหลายไม่ได้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น”

“เราลองดูตัวเลขนี้เลย แก๊สโซฮอล์ เอธานอลตอนนี้ใช้ราคา 21.29 บาทต่อลิตร แพงกว่าน้ำมัน 95 ซึ่งราคาหน้าโรงกลั่นแค่ 18.18 บาท ทั้งๆที่เอธานอลค่าพลังงานน้อยกว่าน้ำมัน 30 เปอร์เซ็นต์ คือวิ่งได้ระยะทางน้อยกว่า 7 กม.ต่อ 10 กม. ราคามันต้องถูกกว่า อันนี้ก็บิดเบือน คือรัฐบาลไป subsidize”

“ตอนแรกใช้ราคาบราซิล ก็อิงราคาแบบสิงคโปร์ คือราคานำเข้าจากประเทศบราซิล บวกค่าขนส่งจากบราซิลมาประเทศไทย ตกแล้ว 7-8 บาทต่อลิตร บราซิลเมื่อก่อนประมาณ 12 บาทต่อลิตร บวกเข้าไป 7-8 บาทก็ประมาณ 18-19 บาท แต่ตอนนี้ราคาเอธานอลของบราซิลลดลง ถึงแม้จะบวกค่าขนส่งจากบราซิลมาไทย ก็ยังราคาต่ำประมาณ 18 บาท เขาก็เลยเอา 21.29 บาท โดยอ้างว่าอันนี้คือราคาต้นทุนของการผลิตเอธานอลที่อยุธยา”

“คือใช้ราคาบราซิลมาตลอด แต่พอบราซิลราคาลดลง เขาก็ไปใช้ราคาสูงสุด เขาจะเลือกราคาสูงสุดตลอดเวลา นี่คือวิธีการบิดเบือน ลองไปหาดูแล้วกันว่าบริษัททำเอธานอลทั้งหลายมีนักการเมืองเข้าไปเอี่ยวไหม”

ก็คือเครือข่ายโรงงานน้ำตาล
“ถูกต้อง เพราะฉะนั้นพวกนี้มันกลายเป็นแวดวงที่อยู่ในการเมืองที่สามารถทำให้ราคาบิดเบือนได้ตลอด”

แล้วต้นทุนเอธานอลในประเทศไทยจริงๆ เท่าไหร่ รสนาบอกว่ายังไม่มีใครรู้ ต้องเปิดเผยข้อมูลตัวนี้ให้ชัด และต้องเลือกว่าจะเอาระบบไหน

“ถ้าคุณคิดว่าให้เป็นไปตามกลไกตลาดของการแข่งขัน คุณก็ต้องให้เป็นไปตามนั้น ถ้าคุณจะอุ้มคุณก็อย่ามาอ้างราคาตลาด พวกนี้ด้านหนึ่งก็บอกว่าลอยตัวตามราคาตลาดโลก แต่เสร็จแล้วก็ไปอุ้ม เพราะฉะนั้นมันเกิดอะไรขึ้น”

เธอยกตัวอย่างว่าการปรับราคาน้ำมันขึ้นลงก็เหมือนกัน
“เราเรียกเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานมาชี้แจงว่าทำไมเวลาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงคุณ ลดช้ามากเลย การที่คุณช้า1 วัน 2 วัน 3 วัน มันมีผลต่อกำไรที่เพิ่มขึ้นไหม แต่เวลาขึ้นปุ๊บนี่คุณขึ้นทันทีเลย คุณขึ้นวันละ 80 สตางค์ 2 วันติดกันเลย คุณขึ้นได้ เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานเขาอธิบายว่าไม่สามารถลดราคาน้ำมันได้เกินอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งไม่เกิน 40 สตางค์ เราบอกเฮ้ยอย่างนี้ไม่ใช่กลไกตลาดเสรีแล้ว เขาก็อ้างว่าเขาไม่สามารถทำได้ เนื่องจากปั๊มซื้อน้ำมันไปราคาแพง ถ้าจะมาขายราคาถูกก็ขาดทุน เราบอกถ้าอย่างนี้ต้องตั้งคำถามแล้วว่าสินค้าน้ำมันสามารถลอยตัวได้จริงหรือเปล่า คุณได้กำไรคุณรับได้ แต่ถ้าจะลดกำไรคุณรับไม่ได้ มันก็ไม่แฟร์สำหรับประชาชน ไหนบอกเป็นไปตามกลไกราคาตลาดไง ถ้ากลไกตลาด ขึ้นก็ต้องขึ้น ลดก็ต้องลดสิ คุณต้องไปจัดการระบบของคุณ แต่คุณมาบอกว่าไม่ได้เนื่องจากปั๊มซื้อไปราคาแพง พอไปลดราคาถูกก็จะเกิดปัญหา แล้วทีทองทำไมทำได้ เขาไปยืนเข้าแถวกันเลย ราคาทองแพงๆ เขาเอาไปขาย เพื่อนบอกว่าพอมาถึงคิวฉันลดไป 300 บาท เขาบอกทองมันอยู่นิ่งๆ แต่น้ำมันไม่นิ่ง เอ้า อย่างนี้คุณต้องตั้งคำถามแล้วว่าสินค้าประเภทนี้เป็นไปตามกลไกตลาดเสรีจริงไหม ต้องว่ากันตามความเป็นจริง ถ้ามันไม่สามารถเป็นไปตามกลไกตลาดก็ต้องยอมรับ มันมีการควบคุม มีการกำกับ แต่ก็ต้องกำกับให้มันมีความเป็นธรรมกับผู้บริโภค มาอ้างตลาดเสรีแต่มาใช้กลไกตลาดเทียม อย่างนี้ก็ไม่แฟร์กับเรา”


รสนาชี้ว่าตอนราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงฮวบฮาบ ค่าการตลาดก็สูงลิ่ว เช่นเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ค่าการตลาดขึ้นไปสูงทุกประเภท
“ตอนนั้นค่าการตลาดทะลุทะลวง 6-7 บาททั้งนั้นเลย แต่ไม่ยอมลดราคา เราถามว่าราคาน้ำมันดิบลงขนาดนี้ทำไมราคาหน้าปั๊มไม่ลด เขาตอบว่าลดได้ไม่เกินอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 40 สตางค์ เราถามว่าทำไมกระทรวงพลังงานไม่กำหนดราคากลาง ทำไมปล่อยให้ ปตท.เป็นคนกำหนดราคา ขณะที่ปตท.สามารถควบรวมกิจการน้ำมันเยอะแยะ แล้วยังไปถือหุ้นในโรงกลั่น 5 โรง ซึ่งเท่ากับคุณสามารถคุมราคาได้เลย”

รสนายังชี้ให้ดูราคาน้ำมัน E85 ว่าเป็นตัวเลขที่บิดเบือนมากที่สุด
“ราคาหน้าโรงกลั่นอยู่ที่ 20.82 บาท แล้วคุณมาดูราคาขายปลีกหน้าปั๊ม 21.92 บาท ห่างกันประมาณ 1 บาท และคุณมาดูค่าการตลาด 5.38 บาท เงินชดเชยจากกองทุนน้ำมัน 7.13 บาท อันนี้กระเป๋าเรานะ 7.13 บาทเอามาแบกรับเอธานอล และแบกรับกำไรของปั๊ม 5.38 บาท ปั๊มเป็นของบริษัทใหญ่ๆ เท่าไหร่”


นอกจาก E85 ยังมี E20 และ B5 ที่กองทุนไม่ได้เก็บเงินแต่เอาเงินเข้าไปโปะ
“E20 ค่าการตลาด 2 บาท เอากองทุนมา 46 สตางค์ ราคาเหล่านี้วิ่งไปวิ่งมาแล้วแต่จะจัดระบบ E85 ราคาหน้าโรงกลั่น 20.82 ราคาขาย 21.92 ส่วนที่มันโป่งตรงกลางคือเงินประชาชนทั้งนั้น ล้วงจากกระเป๋าเราไปเข้ากองทุน ลิตรละ 7 บาทถ้าคุณใช้เบนซิน ถ้าคุณใช้แก๊สโซฮอล์ 95 ก็ 2.70 บาท ค่าการตลาดเขาบอก 1.50 ก็พอแล้ว ทำไมไม่ทำให้เป็น 1.50 บาททั้งหมด เบนซิน 95 ค่าการตลาดตั้ง 4.25 บาท ทำไมยอมปล่อยให้พวกนี้มันโป่งขึ้นมา กองทุนน้ำมันเป็นตัวที่ทำให้เกิดการบิดเบือนราคา”


“โครงสร้างแบบนี้เป็นโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม กองทุนน้ำมันต้องถามว่ามีความโปร่งใสแค่ไหน ควบคุมโดยรัฐมนตรีเพียงคนเดียว กองทุนอนุรักษ์พลังงานทำอะไรบ้าง เงินไหลเข้ามา เอาไว้สร้างความสัมพันธ์กับสื่อ สร้างอาณาจักร เคยเอามาให้ดูไหมว่าแต่ละปีเก็บเงินเข้าไปได้เท่าไหร่ โอเคบอกว่าต้องเอา 3 หมื่นล้าน แล้วคุณเอาไปสนับสนุนโครงการอะไรบ้าง เท่าไหร่ รวมทั้งกองทุนอนุรักษ์พลังงานด้วยนะ จะต้องเอามาแจกแจงว่าคุณได้เท่าไหร่ สนับสนุนอะไรเท่าไหร่ อย่างเช่นตอนนี้มาบอกว่า เนื่องจากกองทุนน้ำมันจะต้องไปแบกรับค่าส่วนต่างแอลพีจี ทำให้กองทุนน้ำมันติดหนี้ ปตท. 8 พันล้าน ประชาชนไม่เคยรู้เลย 8 พันล้านมาจากตัวไหนบ้าง แต่ละเดือนคุณรับอะไรมาเท่าไหร่ จริงๆ เวลานำเข้าเขาไม่ได้นำเข้าแอลพีจีแบบสำเร็จรูป เขานำเข้าก๊าซโพรเพนกับมีเทน เอามาผสมกันให้เป็นแอลพีจี ก๊าซสองตัวนี้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีก็ใช้ด้วย เพราะฉะนั้นเวลาที่คุณนำเข้า ปิโตรเคมีเอาไปใช้เท่าไหร่ เอามาทำเป็นแอลพีจีเพื่อยานยนต์ เพื่อครัวเรือนเท่าไหร่ ไม่เห็นเปิดเผยเลย แล้ว 8 พันล้านมาจากไหน”

แอลพีจีที่ใช้ส่วนใหญ่ก็มาจากบ่อก๊าซในบ้านเราไม่ใช่หรือ
“สมัยที่ยังไม่ได้แปรรูป ก๊าซของเรา ผลิตเองในบ้านเรา ราคาต่ำมาก รัฐบาลขายในราคาพอประมาณก็จะมีกำไรเยอะ เขาก็จะเอากำไรจากก๊าซมาเกลี่ยกับค่าน้ำมัน มันทำให้เกิดการ balance ได้ แต่ตอนนี้ก๊าซกับน้ำมันเขาถือว่าเป็นคนละส่วน เอามา subsidize กันไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่จริงรัฐบาลไม่ได้ subsidize เขาเอาเงินในกระเป๋าเราไปเข้ากองทุนน้ำมัน เสร็จแล้วก็บอกว่าจะเอาอันนี้มาโปะอันนั้นโปะอันนี้ ถ้าจะทำอย่างนี้นะ ในความเห็นส่วนตัว เอาเงินเข้าคลังเลยไม่ดีกว่าหรือ ไม่ต้องมาตั้งกองทุน จ้างคนตั้งเท่าไหร่ แค่รับเงินเข้าส่งเงินออกไปโปะโน่นโปะนี่ กินเงินเดือนเท่าไหร่ โบนัสเท่าไหร่ มาล้วงเงินในกระเป๋าเราลิตรละ 7 บาทๆ”


“ก็เก็บภาษีเลย แล้วรัฐบาลเอามา subsidize ในเวลาที่จำเป็น อย่ามาใช้กองทุน เวลาทำแบบนี้ก็กลายเป็นอยู่ในอำนาจรัฐมนตรีพลังงานเพียงคนเดียว รัฐมนตรีเข้ามาดูบ้างหรือเปล่า ทำไมปล่อยให้เอาเงินกองทุนมา subsidize ค่าการตลาดเข้าบริษัทน้ำมันอยู่แล้ว ส่วนที่ subsidize พวกแก๊สโซฮอล์ E85 ก็จะเข้าไปที่ผู้ที่ผลิตเอธานอลทั้งหลาย แอลพีจีก็เก็บเงินเข้ากองทุนกิโลกรัมละ 30 สตางค์ และยังบอกว่าประชาชนต้องจ่ายอีก 8 พันล้านเพื่อชดเชยค่าส่วนต่างแอลพีจี”

ทิ้งก๊าซฟรี
“เวลานี้ก๊าซที่มาจากอ่าวไทย เราผลิตได้วันละ 2,360 ล้านลูกบาศก์ฟุต แต่โรงแยกก๊าซ 5 แห่งสามารถแยกได้เพียง 1,770 ล้านลูกบาศก์ฟุต เท่ากับมีก๊าซประมาณ 500-600 ล้านลูกบาศก์ฟุต ทุกวัน ที่เอาไปเผารวมกับมีเทน เอาส่งเข้าโรงไฟฟ้า แทนที่จะเอามาแยกให้ได้ก๊าซแอลพีจีก่อน วันก่อนปลัดกระทรวงพลังงานมาตอบกรรมาธิการเรื่องนี้ เนื่องจาก ปตท.เคยพูดว่าถ้าจะสร้างโรงแยกก๊าซโรงใหม่ เร่งให้เร็วขึ้น เขาอยากให้รัฐบาลลอยตัวแอลพีจีตามราคาตลาดโลก ไม่อย่างนั้นเขาก็ไม่มีแรงจูงใจ เราถามว่าจริงไหม ปลัดก็ไม่ตอบตรงๆ เขาบอกนี้ตอนนี้ก็พยายามเร่งอยู่แล้ว สิ้นปีหรือต้นปีหน้าน่าจะเสร็จ อย่างไรก็ตามปลัดกระทรวงพลังงานตอบว่าเรามีความจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้า ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงที่ถูกที่สุด ถ้าไม่เอาก๊าซมาใช้ก็ต้องใช้ดีเซล ซึ่งทำให้ต้นทุนของพลังงานไฟฟ้าแพงขึ้น”

“ฟังดูในเชิงราคาก็โอเคนะ แต่ถ้าเราคิดถึงว่าทรัพยากร ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป และคุณเอามาเผาเล่นเป็นฟืน มันคุ้มค่าไหม เหมือนคุณเอาไม้สักมาเผาเป็นฟืน ปลัดบอกว่าก็ดีแล้วยังไงก็ต้องเอามาใช้ ถ้าไม่เอาใช้ก็ต้องไปซื้อดีเซล อ้าว แล้วตกลงรัฐบาลนี้ไม่ได้กำกับอะไรเลยเหรอ ถือหุ้นใหญ่อยู่ 52 เปอร์เซ็นต์นะ ไม่กำกับอะไรเลย”

เธออธิบายเสริมว่าการแยกก๊าซจะแยกได้เป็น C1 C2 C3 C4 เมื่อเอา C3 C4 รวมกันจะได้แอลพีจี C1 คือมีเทนเอาไปเผาเป็นเชื้อเพลิง แต่ตอนนี้เมื่อแยกได้ไม่หมด ก็ส่งก๊สซดิบไปเผาให้ กฟผ.
“อุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้แอลพีจีเหมือนกัน เขาซื้อแอลพีจีได้กิโลละ 16 บาท ขณะที่ภาคครัวเรือน รถยนต์ แท็กซี่ 18.13 บาท และยังต้องเป็นหนี้อีก 8 พันล้าน ที่เอามาจากกระเป๋าเรา อุตสาหกรรมไม่ต้องจ่ายส่วนนี้ ทั้งที่อุตสาหกรรมผลิตเพื่อขายเพื่อเอากำไร เราต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย”

“เพราะฉะนั้นทำให้เห็นเลยว่ากองทุนน้ำมัน กองทุนอนุรักษ์พลังงาน ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลกับประชาชน กองทุนอนุรักษ์พลังงานทำอะไรบ้าง กองทุนน้ำมันใช้จ่ายอะไร เท่าไหร่ เราเป็นหนี้ หนี้ยังไง”

“ระบบธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจที่คนธรรมดาสามัญยากจะรู้ข้อมูล ข้อมูลหายากมาก อยู่ที่เขาจะเปิดเท่าไหร่ ข้อมูลการกลั่นไม่เคยเปิด เปิดอยู่ช่วงหนึ่ง อ.ประสาท มีแต้ม ไปเก็บข้อมูลมาได้ 105 วันในช่วงปี 2551 เขาบอกว่าค่าการกลั่นในประเทศเรา 9 เหรียญต่อบาเรล ขณะที่ต่างประเทศเขาประมาณ 6-7 เหรียญ เราแพงกว่าเขา แปลงมาเป็นลิตร แพงกว่าลิตรละ 1 บาท ตัวเลขพวกนี้เป็นตัวเลขที่ไม่เปิดเผย”

“วิธีการที่เอากองทุนน้ำมันมาแทรกแซงทำให้เกิดผลเสียในระยะยาว คือทำให้เกิดการบิดเบือน คนจะเข้าใจว่าดีเซลถูกกว่าเบนซิน ทุกคนระดมหันมาใช้ดีเซล รัฐบาลก็ต้องเอาเงินมา subsidize แล้วมา subsidize เอธานอล ถ้าเกิดจะให้โรงกลั่นหรือโรงผลิตเอธานอลทั้งหลายไปแข่งขันกับต่างประเทศ จะแข่งขันกับเขาได้หรือ ก็จะอ่อนแอ ไม่อยากแข่งขัน เพราะอยู่อย่างนี้สบายแล้วนี่ เหมือนที่บอกว่าเขาต้องการจะกลั่นเพื่อขายคนไทยเท่านั้น ก็แหง ขายคนไทยบวกเท่าไหร่ก็ได้ หรือแอลพีจีอยากให้ลอยตัวตามราคาตลาดโลก ก็ไม่อยากไปขายต่างประเทศแล้ว ขายในประเทศก็ได้กำไรเท่ากับต่างประเทศ เพราะฉะนั้นในกิจการน้ำมันทั้งหมดเขาก็จะเลือกตัวเลขราคาที่สูงสุดเพื่อให้ได้กำไรดีที่สุด”

ประชาชนจะมองว่ากองทุนอนุรักษ์พลังงานมีอยู่ก็ดีเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์
“เบอร์ 5 อะไรของเขานั่น ก็โอเค แต่คุณเปิดเผยข้อมูลหน่อยสิว่าคุณทำอะไรบ้าง ชื่อมันดี กองทุนอนุรักษ์พลังงาน แต่คุณทำอะไรไม่มีใครรู้เลยนะ คุณบอกมาสิว่าในแต่ละปีคุณได้เงินเท่าไหร่ สอง คุณ subsidize โครงการอะไรบ้าง แต่ละโครงการได้ผลดีแค่ไหน มีการประเมินผลไหม เคยรายงานประชาชนบ้างไหม นี่เงินประชาชนทั้งนั้นนะ แล้วถามหน่อยองทุนน้ำมันตอนสมัยนายกทักษิณที่ไป subsidize ดีเซลลิตรละ 3 บาท จู่ๆ ก็บอกว่าต้องลอยตัว จาก 15 บาทต้องขึ้นมา 18 บาทเพื่อให้ราคาหน้าโรงกลั่น 18 บาทแล้วไปขายปลีก 21 บาท ปรากฏว่าเวลาเขา subsidize ออกมาจากโรงกลั่นปุ๊บให้เงินเลย คุณได้ไปเลยลิตรละ 3 บาท จากกองทุนน้ำมัน แต่พอรัฐบาลลอยตัวปุ๊บไม่เอาเงิน 3 บาทมาคืน เขาสต็อคน้ำมันกันตั้งเท่าไหร่ สมัยนั้นคุณโสภณ สุภาพงษ์ ออกมาพูดเลยว่าเงินที่เอาไปประมาณ 6 พันล้าน ไม่เห็นกองทุนน้ำมันไปทวงคืน แต่ยุคคุณสมัครตอน 6 มาตรการ แล้วเลิกเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ปรากฏว่ารีบเอาเงินไปคืนเขา ตอนแรกประมาณการ 600-700 ล้าน คืนจริงๆ เกือบ 3 พันล้าน เงินประชาชนทั้งนั้น มันเกิดคำถามมากมายว่าเกิดอะไรขึ้น เวลาคืนทำไมต้องรีบคืนกลัวบริษัทน้ำมันขาดทุน แต่เวลาที่จะต้องเอากลับมา เงินประชาชน 6 พันล้านไม่เห็นเอากลับมา”

มาร์เก็ตแคป
สว.กทม.ยืนยันว่าแม้ ปตท.จะเป็นบริษัท ที่บอกว่าต้องหากำไรสูงสุด แต่รัฐบาลก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
“บริษัทต้องหากำไรสูงสุด แต่กำไรสูงสุดแค่ไหนที่จะไม่เป็นการเอาเปรียบเกินไป ในเมื่อรัฐบาลถือหุ้นใหญ่ รัฐบาลกำหนดราคาน้ำมันได้ แต่รัฐบาลไม่กำหนด คุณไปดูในหนังสือชี้ชวนบริษัทปตท. ในยุคที่จะขายหุ้นในตลาด เขาพุดไว้เลย ความเสี่ยงที่นักลงทุนจะต้องรับรู้คือรัฐบาลสามารถแทรกแซงราคาน้ำมันได้ แต่รัฐบาลไม่เคยแทรกแซง แทรกแซงคือมาล้วงจากกระเป๋าเรา ล้วงน้อยล้วงมาก เช่นตอนนี้มาเถียงกันว่าเอาละถ้าเมื่อไหร่น้ำมันดีเซลขึ้นถึง 30 บาท จะลดลง 2 บาท อยู่ที่ว่าจะลดภาษีสรรสามิตหรือจะไปลดตัวไหน ก็คือเงินในกระเป๋าเรา ไม่ได้ไปแตะโครงสร้างน้ำมันอะไรเลย ทำไมรัฐบาลไม่ไปดูค่าการตลาด ทำไมไม่ไปดูราคาหน้าโรงกลั่นว่าต้องไม่ใช่ราคานำเข้าจากสิงคโปร์ และถ้าใช้ราคาส่งออก มันก็จะลดค่าใช้จ่ายไปได้ตั้งเยอะ ตั้ง 3 บาทขึ้นไป”

ใช่ไหมว่า ปตท.มี market cap ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์
“มันเป็นการแบกรับตลาดหุ้นไปด้วยใช่ไหม คุณให้ผู้บริโภคแบกรับตลาดหุ้นด้วยใช่ไหม เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่น้ำมันขึ้นปุ๊บหุ้นปตท.ขึ้นกระฉูด เพราะฉะนั้นรัฐบาลไม่กล้าแตะใช่ไหม รัฐมนตรีกระทรวงการคลังคุ้นเคยกับตลาดหุ้นมากเลย สมัยก่อนเป็นรัฐมนตรีเจอใครก็ให้มาถามรสนา ว่าจะเอา ปตท.คืนไหม พอมาคุยกับเราเราบอกแล้วตกลงท่านจะเอาคืนไหม ถ้าเกิดเป็นรัฐบาล- เฮ้ยเรื่องนี้ต้องคุยกันยาว”


รัฐบาลไหนก็ไม่กล้าเอาปตท.คืนหรอก (แม้แต่รัฐบาลรัฐประหาร)
“มันเป็นไข่ในหิน แต่คุณให้ประชาชนซึ่งไม่ได้มีส่วนได้เสียกับตลาดหุ้นมาแบกรับตลาดหุ้นอยู่บนบ่าด้วยหรือ อย่างนี้แฟร์หรือเปล่า รัฐธรรมนูญบอกว่าถึงแม้เราจะสนับสนุนการค้าเสรีแต่ต้องเป็นธรรม และก็ต้องไม่ปล่อยให้มีการผูกขาดตัดตอนไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม ต้องคุ้มครองผู้บริโภค รัฐบาลทำหรือยัง ต้องตั้งคำถามกับรัฐบาลว่าทำหรือยัง”


“เราไม่โทษ ปตท. เราไม่โทษกองทุน เราไม่โทษอะไรทั้งสิ้น เราโทษรัฐบาล ว่ารัฐบาลคุมงานใช้ไม่ได้ ในเรื่องนี้ คุณใช้ไม่ได้กับเรื่องนี้ แถมรัฐมนตรีกระทรวงการคลังมาตอบเราตอนก่อนจะคว่ำ พรก.สรรพสามิตน้ำมัน มาบอกอีกว่าก็บริษัทน้ำมันเขาอยากจะขายที่ไหนก็ได้ไม่ใช่หรือ ถูกต้อง ถ้ารัฐบาลไม่ได้ถือหุ้นใหญ่ แล้วเขาจะขายที่ไหนก็ได้มันต้องเป็นกลไกตลาดเสรีจริง มันมีการแข่งขันจริง ราคาใกล้เคียงความเป็นจริง แต่เวลานี้มันไม่มีการแข่งขัน มันเป็นตลาดผูกขาด ราคาถึงเป็นแบบนี้”

เธอตั้งข้อสังเกตด้วยว่า น้ำมันขึ้นคนเดือดร้อน เศรษฐกิจน่าจะแย่ แต่ทำไมหุ้นกลับขึ้น
“real sector ต้องอาศัยน้ำมัน พลังงานเป็นต้นทุนทางตรง มันเป็นสิ่งที่ไม่ไปด้วยกัน เมื่อไหร่ก็ตามที่ราคาน้ำมันขึ้น เศรษฐกิจภาคการผลิตจะแย่ แต่ตลาดหุ้นกลับดี แล้วเวลานี้รัฐบาลจะมองว่า โห ตลาดหุ้นดี นี่ยังโชคดีนะถ้า กฟผ.เข้าไป รับรองแตะไม่ได้เลย ต้องประคับประคองกันสุดชีวิตเลย ถ้า กฟผ.เข้าไปมี market cap สัก 50 เปอร์เซ็นต์ รับรองตลาดหุ้นจะปลอดภัยอย่างยิ่งเลย จะได้รับการประคบประหงมชนิดไม่ให้ลิ้นไรมาตอมเด็ดขาด”

ข้าราชการทับซ้อน?
ทราบหรือไม่ว่าข้าราชการที่ไปเป็นบอร์ด ปตท.ได้ค่าตอบแทนทั้งเบี้ยประชุมและโบนัสเฉลี่ย 2 ล้านบาทต่อปีตามรายงานประจำปีของ ปตท.เมื่อต้นปี 2552
นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ประธานบอร์ด ได้ค่าตอบแทน 2,983,738.30 บาท นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช อดีตเลขา BOI 2,536,880.40 นายอำพน กิตติอำพน เลขาสภาพัฒน์ 2,536,880.40 พล.อ.สมทัต อัตตะนันท์ อดีต ผบ.ทบ. และ ผบ.สส. 2,484,880.40 ม.ล.ปาณสาร หัสดินทร อดีตรองปลัดสำนักนายกฯ 2,458,880.40 คุณพรทิพย์ จาละ เลขากฤษฎีกา 2,609,380.40 นายพานิช พงศ์ภิโรดม อธิบดีกรมพลังงานทดแทน 2,386,880.40 คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการตลาดหลักทรัพย์ 2,746,444.92 นายนริศ ชัยสูตร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 1,733,779.52 นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 1,838,037.58 นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด 676,100.88 นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ อธิบดีกรมที่ดิน 2,430,880.40 นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ 2,430,880.40 และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ 2,406,880.40

“เรามองประเด็นเรื่องการทับซ้อนผลประโยชน์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าข้าราชการระดับสูงทั้งหลายที่เข้ามาเป็นตัวแทนของรัฐ คือตัวแทนประชาชนนะ ต้องเข้ามานั่งเพื่อที่จะคุ้มครองพวกเรา แต่ไม่ได้ทำหน้าที่นั้น ไปคุ้มครองบริษัท เพราะได้รับโบนัสซึ่งเชื่อมโยงโดยตรงกับธุรกิจ ธุรกิจกำไรมากคุณก็ได้โบนัสมาก อันนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ต้องตั้งคำถามว่าผลประโยชน์เหล่านั้นทำให้เวลาคุณมีอำนาจคุณมีดาบอาญาสิทธิ์คุณเก็บใส่ฝักไว้ เขาต้องการจากคุณแค่นี้หรือเปล่า ให้คุณมานั่งเพื่อคุณจะได้เก็บดาบอาญาสิทธิ์ไว้ในฝัก ไม่ชักออกมา”

เธอบอกว่าในหลายประเทศ บอร์ดรัฐวิสาหกิจจ่ายค่าคอบแทนในรูปเบี้ยประชุม แต่ไม่จ่ายโบนัส
“เขาจะไม่ให้โบนัสที่เชื่อมโยงกับผลกำไร เพราะจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของคุณบิดเบือนได้ แต่บอร์ดรัฐวิสาหกิจไทยได้ทั้งนั้น พวกที่ขาดทุนทั้งหลายยังได้โบนัสเลย การรถไฟยังได้ บางแห่งนอกจากโบนัส เวลาไปต่างประเทศจะได้เครดิตการ์ดทีละ 2 ล้าน รูดปื๊ดๆ ใช้ไปเท่าไหร่เดี๋ยวเขาเติมให้”

ในเครือ ปตท.ยังมีบริษัทลูกของ ปตท.
“เดี๋ยวนี้เขาไปแก้กฎหมายด้วย อย่าง ปตท.มีบริษัทลูก 45 บริษัท ในกรณีที่ปตท.ไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทลูกเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ บริษัทลูกเหล่านั้นก็จะไม่ถือเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่เขาสามารถเชิญปลัดกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง มาเป็นกรรมการในบอร์ดนี้ โดยที่ไม่มีอะไรเป็นเครื่องกีดกั้น เพราะถ้าคุณเข้าไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจคุณจะเป็นได้แค่ 3 แห่ง ตอนนี้กฎหมายบังคับ สมัยก่อนมันเป็น 9 แห่ง 10 แห่ง โดนด่ากันอยู่ช่วงหนึ่ง แต่แค่ 3 แห่งรวมเบี้ยประชุมโบนัส ถ้าคุณเป็นปตท. การบินไทย กฟผ. ปีหนึ่งก็ไม่ต่ำ 5 ล้าน และถ้าไปเป็นบอร์ดในบริษัทลูกก็ได้อีก คุณเคยเห็นโบนัสกับเบี้ยประชุมเฉพาะในฐานะกรรมการของคุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ไหม 22.6 ล้านบาท นี่เราหาได้เฉพาะที่เปิดเผยอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ยังไม่ได้รวมเงินเดือนและโบนัสในฐานะผู้บริหาร ปตท.”

“ไปดูสิแต่ละองค์กร อำพน กิตติอำพล อยู่ในปตท. การบินไทย และก็ยังอยู่สภาพัฒน์ฯ พรชัย รุจิประภา ตอนแรกอยู่ ปตท. ตอนหลังเขาห้ามอยู่ในบริษัทที่เกี่ยวข้องกันคือ กฟผ. ก็เลยต้องออกจากปตท. ไปอยู่กฟผ.แล้วก็อยู่ในเอ็กโก ซึ่งจริงๆ เอ็กโกกับ กฟผ.เป็นคู่ค้ากันนะ เรื่องพวกนี้ต้องมีการสังคายนา”

“แต่ละคนเข้ามาก็พกดาบอาญาสิทธิ์มาด้วย แต่เมื่อคุณมานั่งตรงนี้แล้วคุณไม่ชักดาบอาญาสิทธิ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ปกติเขานั่งอยู่ 2 บอร์ด คือบอร์ด FT กับบอร์ดปตท. เป็นประธานทั้งคู่ แต่ตอนนี้เขาเอารองปลัดมานั่ง โดยปกติแล้วเขานั่งเป็นประธานบอร์ด FT ค่าไฟฟ้าของ กฟผ.ซึ่งผันแปรโดยตรงกับค่าเชื้อเพลิง ฉะนั้นถ้าคุณยอมปล่อยให้ขึ้นราคาเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้าก็จะขึ้น แต่เมื่อค่าเชื้อเพลิงขึ้นโบนัสคุณก็จะเพิ่มขึ้นใช่หรือเปล่า แล้วเราจะคิดว่าโอ๊ยคนพวกนี้เขาไม่คิดถึงหรอกเรื่องโบนัส อย่างนั้นหรือ ถ้าไปดูหลักเกณฑ์ของปตท.บอร์ดทุกคนตามมาตรฐานตลาดหลักทรัพย์จะต้องทำเพื่อผลประโยชน์ของปตท.อย่างเต็มที่ เพื่อกำไรสูงสุด mission สองอันนี้ต่างกัน mission ในฐานะบอร์ดของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ กับ mission ที่คุณเป็นตัวแทนเจ้าหน้าที่รัฐมานั่งเพื่อคุมหลักเกณฑ์ไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค มันเป็นบทบาทที่ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งไม่เคยมีใครตั้งคำถามกับเรื่องนี้”


...................................
ข้อมูลจาก นสพ.ไทยโพสตส์
อาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม 2552

พิมพ์ อีเมล