“ผู้จัดการมอเตอริ่ง” มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนา “ความรู้กฎหมายความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย” ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย ร่วมกับบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
| |||
การบรรยายด้วยเรื่องที่มาของพรบ. ฉบับนี้ การบังใช้และการตอบคำถามสื่อมวลชน แต่ด้วยเวลาที่จำกัดทำให้เนื้อหาอาจจะไม่ครอบคลุมทุกแง่มุมของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งผู้จัดการมอเตอริ่ง ขอรวบรวมเฉพาะประเด็นสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์เป็นหลักมานำเสนอดังต่อ ไปนี้
จุดกำเนิด
กฎหมายฉบับนี้ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551” (ต่อไปนี้จะขอให้ชื่อย่อว่า พรบ.สินค้าไม่ปลอดภัย) มีที่มาจากการที่สคบ. รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับรถยนต์เป็นจำนวนมาก ทว่ากลับประสบปัญหาในทางปฏิบัติ เมื่อกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน กำหนดให้การพิสูจน์ต่างๆ เป็นหน้าที่ของผู้ฟ้องร้อง นั่นก็คือผู้บริโภค
ซึ่ง ในความจริง ผู้บริโภค จะไปพิสูจน์ได้อย่างไรว่า รถที่ตนเองซื้อมานั้น มีความไม่ปลอดภัย เพราะองค์ความรู้ต่างๆ ถูกปิดกั้นจากผู้ผลิต (แน่นอนว่าหากเปิดเผยออกมาคู่แข่งจะยิ้มแก้มปริทันทีและใครจะยอมเปิดเผย ข้อมูลเพื่อให้เขามาฟ้องร้องตัวเอง จริงไหมครับ) ประกอบกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมากทำให้การพิสูจน์จะต้องใช้ผู้ชำนาญการ เฉพาะด้าน ฉะนั้น จึงเป็นที่มาของการเกิดขึ้นของ พรบ.สินค้าที่ไม่ปลอดภัย ฉบับนี้
โดยความมุ่งหวังให้ การพิสูจน์ตัวสินค้าว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย ตกเป็นของผู้ผลิตแทนผู้บริโภค รวมถึงลดขั้นตอนต่างๆ ในด้านการฟ้องร้องให้เหลือน้อยที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค (รายระเอียดจะนำเสนอในลำดับต่อไป)
สำหรับ ความคลอบคลุมของพรบ.นี้จะรวมถึงสินค้าทุกชนิดที่เป็นสังหาริมทรัพย์(ของที่ เคลื่อนที่ได้) ไม่ว่าจะเป็นของใช้หรือของกิน เช่น โทรศัพท์มือถือ, นมกล่อง, ปากกา,ยา ,เครื่องมือแพทย์ ฯลฯ แต่จะไม่คลอบคลุมอสังหาริมทรัพย์จำพวกตึก บ้าน หรือคอนโดมิเนียม
เงื่อนไขการเข้าองค์ประกอบที่จะใช้กฎหมายนี้
สำหรับเงื่อนไข ที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถฟ้องร้อง “ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า” สินค้าได้จะต้องมีองค์ประกอบหลักครบตามเงื่อนไข 2 ประการคร่าวๆ คือ
1.ได้รับความเสียหายจริงกับบุคคล จากการใช้สินค้าชนิดนั้นๆ เช่น นาย ก. ขับรถชนแล้วถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน ได้รับบาดเจ็บที่หน้าอก เช่นนี้จึงจะเข้าข่ายสามารถใช้สิทธิตามพรบ.สินค้าไม่ปลอดภัยได้ แต่หากกรณี เป็นความรู้สึกว่า ไม่ปลอดภัย จะไม่เข้าเงื่อนไขของพรบ.นี้ เนื่องจากยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นกับบุคคล
2.ต้องพิสูจน์เบื้องต้นได้ว่า เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และได้ใช้งานตามปกติวิสัย เช่นกรณีขับรถชนแล้วถุงลมนิรภัย ไม่ทำงาน ก็จะต้องเตรียมหลักฐานอย่าง ภาพถ่ายของรถที่ชนหรือพยานที่สามารถบอกพิสูจน์เบื้องต้นได้ว่า ถุงลมไม่ทำงาน เข้าข่ายการเป็น สินค้าที่ไม่ปลอดภัย
ส่วน กรณีสินค้าที่ซื้อมีปัญหา หรือไม่ถูกใจ ไม่ชอบ ไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆ เช่น กระจกหล่น แอร์เหม็นหรือเบรกไม่อยู่เมื่อขับด้วยความเร็ว (คือผู้ขับขี่ยังไม่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียหายอะไร) จะไม่เข้าเงื่อนไขของพรบ.นี้ ต้องไปฟ้องร้องกันตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เช่นเดิม
นั่นคือ หลักเงื่อนไขสำคัญของการใช้ พรบ.สินค้าที่ไม่ปลอดภัย หากไม่ครบองค์ประกอบ ก็จะไม่สามารถฟ้องร้องตามพรบ.นี้ได้ ทั้งนี้กว่าจะเข้าถึงส่วนของการฟ้องร้องดำเนินคดีจริง หลังจากผู้บริโภคเข้าไปร้องทุกข์ จะต้องผ่านด่านอีกสองด่านก่อนคือ 1. คณะกรรมการไกล่เกลี่ย ซึ่งถ้าไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ เรื่องก็จะส่งต่อไป หน่วยงานพิสูจน์ (ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่ตามพรบ.นี้ โดยหลักเพื่อความเป็นกลางในการพิสูจน์) เพื่อยืนยันว่าสินค้านั้นมีความไม่ปลอดภัยจริง (กระบวนการนี้เรียบเรียงขึ้นตามความเข้าใจของผู้เขียนจากการฟังสัมมนานี้ ขณะที่ในทางปฏิบัติจริงจะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องรอให้พรบ.มีผลบังคังใช้)
ในส่วนของหน่วยงานพิเศษนี้ ตามความเห็นของผู้เขียนยังเป็นข้อถกเถียงถึงความเป็นกลางและองค์ความรู้ว่า จะรู้จริงมากน้อยเพียงไร เนื่องจากยังไม่ได้ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ และที่สำคัญข้อชี้ขาดของหน่วยงานนี้ ตามคำบอกของผู้บรรยาย ให้ถือว่า เป็นที่สิ้นสุดผู้บริโภคต้องยอมรับ เพราะหากไม่ยอมรับก็อาจจะไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น (ถือว่าเป็นช่องว่างหนึ่งของพรบ.ฉบับนี้ที่ไม่มีผลบังคับให้ผู้บริโภคต้อง ยอมรับแต่ก็เป็นข้อดีสำหรับผู้บริโภคหากการพิสูจน์ไม่เป็นกลาง)
ข้อยกเว้น ที่ไม่ต้องรับผิด
นอกจากการให้สิทธิผู้บริโภคฟ้องร้องแล้ว แต่ก็มีการบัญญัติเกี่ยวกับข้อยกเว้นให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าไม่ต้องรับผิดด้วยภายใต้เงื่อนไข
1. สินค้านั้นมิได้เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หมายความว่า สินค้านั้นปลอดภัย ซึ่งจะผ่านการพิสูจน์ 2 ขั้นตอนคือ เบื้องต้นโดยหน่วยงานกลางที่จะตั้งขึ้นมาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว(หากชี้ว่าไม่ ปลอดภัยจึงจะเข้าสู่กระบวนการของศาล) และเมื่อคดีเข้าสู่ศาลก็จะพิสูจน์โดย “ผู้ผลิตเอง” ตามเจตนารมณ์ของการเกิดขึ้นของพรบ.สินค้าที่ไม่ปลอดภัยนี้ ซึ่งในที่สุดศาลจะเป็นผู้ตัดสินว่า สินค้านั้นมีความปลอดภัยหรือไม่
2. ผู้เสียหายได้รู้อยู่แล้วว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หมายความว่า ผู้บริโภครู้แล้วว่าสินค้าไม่ปลอดภัยแต่ยังใช้ต่อไป ข้อนี้เป็นข้อต่อสู้ของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า เช่น กรณีหากเราขับรถยนต์ไปแล้วเกิดระบบเบรกมีปัญหา และได้จอดเพื่อแจ้งเหตุดังกล่าวกับผู้ผลิตแล้ว แต่กลับห่วงรถฝืนขับรถกลับบ้านแล้วกลับเกิดอุบัติเหตุ เช่นนี้ถือว่า ผู้เสียหายรู้แล้วและยินดีเสี่ยงภัยเอง ผู้ผลิตไม่ต้องรับผิด
ส่วนประเด็นที่ว่า หากเกิดเหตุดังกล่าวจะต้องทำอย่างไร วิทยากรทั้ง 2 ท่านไม่ได้ตอบในประเด็นนี้ และยังเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการจะต้องประชุมเพื่อหารือและกำหนดวิธีการ จัดการกับเหตุลักษณะดังกล่าวต่อไปอีกในอนาคต
3. ความ เสียหายเกิดขึ้นจากการใช้หรือการเก็บรักษาสินค้าไม่ถูกต้องตามวิธีใช้ วิธีเก็บรักษา คำเตือน หรือข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ผู้ประกอบการได้กำหนดไว้อย่างถูกต้องและชัดเจน ตามสมควรแล้ว หมายความว่า หากผู้บริโภคไม่ปฏิบัติตามคู่มือ หรือใช้ไปในทางผิดปกตินอกเหนือจากที่มีการระบุไว้หรือฝ่าฝืนคำเตือน ผู้ผลิตสามารถยกขึ้นเป็นข้ออ้างสำหรับการไม่ต้องรับผิดได้
| |
การพิสูจน์
นี่คือประเด็นสำคัญของพรบ.สินค้าที่ไม่ปลอดภัย โดยระบุให้การพิสูจน์ตัวสินค้าว่า ปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งเดิมเป็นหน้าที่ของผู้บริโภค กลายเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ อันหมายความรวมถึง ผู้ผลิตหรือผู้ว่าจ้างให้ผลิต, ผู้นำเข้า, ผู้ขายสินค้าที่ไม่สามารถระบุตัวผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิตหรือผู้นำเข้าได้และ ผู้ซึ่งใช้ชื่อ ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายข้อความหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ อันมีลักษณะที่จะทำให้เกิดความเข้าใจได้ว่าเป็นผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิต หรือผู้นำเข้า
หากกรณีเป็น ผู้ที่ขายสินค้ามือสอง หากระบุผู้ผลิตได้ก็ไม่ต้องรับผิด แต่หากระบุไม่ได้อาจจะเข้าข่ายต้องรับผิด
สำหรับการพิสูจน์ ดังที่ได้กล่าวไปบ้างแล้ว เบื้องต้นผู้บริโภคซึ่งเสียหาย จะต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ให้เห็นก่อนว่า ได้รับความเสียหายและสินค้านั้นไม่ปลอดภัย จากนั้นเมื่อศาลรับฟ้องแล้วจึงจะเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าในการ พิสูจน์ว่าสินค้านั้นปลอดภัยหรือไม่ ถือว่าเป็นข้อดีของพรบ.นี้ที่ช่วยลดภาระของผู้บริโภคในการดำเนินคดี
การฟ้องคดี
พรบ.สินค้าที่ไม่ปลอดภัย กำหนดให้ คณะ กรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายแทนผู้บริโภคได้ หรือผู้บริโภคจะฟ้องเองโดยตรงกับศาล ก็สามารถกระทำได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในเบื้องต้น(ค่าฤชาธรรมเนียม) แต่หายสุดท้ายแล้วผู้บริโภคเป็นฝ่ายแพ้คดี ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าว
สำหรับการจะไปฟ้องเอง ผู้บริโภคต้องเตรียมข้อมูลและพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์เบื้องต้นดังที่เรา กล่าวไว้แล้วไปด้วย มิใช่แค่เดินไปตัวเปล่าแล้วจะฟ้องคดีได้ จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนไกล่เกลี่ยต่อไป
อายุความ
พรบ.สินค้าที่ไม่ปลอดภัย กำหนดอายุความฟ้องร้องไว้ไม่เกิน 3 ปีนับ ตั้งแต่เกิดความเสียหายและรู้ตัวผู้ประกอบการที่ต้องรับผิด และไม่เกิน 10 ปีนับตั้งแต่มีการขายสินค้านั้น หมายถึงว่า หากเกิดความเสียหายขึ้นจะฟ้องได้ภายใน 3 ปีหลังเกิดความเสียหายและรู้ตัวผู้ผลิต ซึ่งหากไม่รู้ ก็มีเวลาหาตัวผู้รับผิดภายใน 10 ปีนับตั้งแต่ซื้อสินค้ามา
ส่วน กรณีของ “อายุสินค้าจะเป็นเท่าไหร่ที่ต้องรับผิดตามพรบ.สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” กฎหมายมิได้ระบุไว้ จึงยังเป็นปัญหาในทางปฏิบัติโดย วิทยากรท่านหนึ่งตอบคำถามว่า “คงเป็นช่วงสั้นๆ หลังการซื้อสินค้า แต่ไม่อาจระบุเวลาเป็นตัวเลขได้”
ซึ่งตามปกติ สินค้าแต่ละชนิดจะมีอายุการใช้งานที่ไม่เท่าเทียมกัน อันเป็นข้อต่อสู้ไม่ต้องรับผิดประการหนึ่งของผู้ผลิต เช่น กรณี ซื้อรถมา 5 ปี ยังไม่เคยเปลี่ยนเบรก แต่แล้วรถเกิดอาการเบรกไม่อยู่และเมื่อตรวจสอบแล้วผ้าเบรกยังปกติ เช่นนี้แล้วตามความเห็นของผู้เขียนแล้วคงเป็นปัญหาเถียงกันไม่จบในทาง ปฏิบัติอย่างแน่นอน
ค่าเสียหาย
ตามพรบ.สินค้าที่ไม่ปลอดภัย สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ไม่อั้น ทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับร่างกาย สุขภาพหรือจิตใจอันเป็นผลต่อเนื่องมาจากเหตุที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย แต่จะได้มากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับศาลจะเป็นผู้กำหนด ทั้งนี้ยังไม่ตัดสิทธิของผู้บริโภคที่จะเรียกร้องค่าเสียหายตามกฎหมายอื่น เช่นได้อีก
และนอกจากค่าเสียหายที่ผู้บริโภคจะได้รับแล้ว ในกรณีที่ความจริงปรากฏต่อศาลเป็นที่ยุติว่า สินค้านั้นเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ผลิต เรียกคืนสินค้า(Recall), ห้ามผลิต, ห้ามจำหน่าย หรือสั่งทำลายสินค้านั้นได้ โดยหากผู้ผลิตฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล มีบทลงโทษถึงขั้นติดคุกได้
สรุป เจตนา รมย์ของพรบ.สินค้าที่ไม่ปลอดภัย มีความมุ่งหวังเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค แต่ในทางปฏิบัติกฎหมายมักจะมีช่องโหว่อยู่เสมอ ดังเช่นพรบ.คุ้มครองผู้บริโภค ฉบับปัจจุบันที่ดูเหมือนจะคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคมากมาย สุดท้ายกลับไม่มีบทบังคับหรืออำนาจในการสั่งการใดๆ ต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ทำได้เพียงแต่ ไกล่เกลี่ยและเจรจา เท่านั้น
ฉะนั้นแล้ว เราจึงไม่อยากให้ผู้บริโภคคาดหวังกับพรบ.ฉบันนี้มาก เพราะเมื่อพิจารณาอย่างถ้วนถี่แล้วจะเห็นว่า ประโยชน์ของพรบ.สินค้าที่ไม่ปลอดภัยนี้อยู่ตรงที่ ฟ้อง ร้องได้ง่ายขึ้นและไม่เสียค่าใช้จ่าย , การพิสูจน์เมื่อกระบวนการเข้าสู่ชั้นศาลตกเป็นของผู้ประกอบการ และ มีการบังคับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าให้จัดการกับสินค้าเพื่อสร้างความปลอดภัย ได้ หากมีความจริงปรากฏสู่ศาล โดยที่ไม่ต้องมีการร้องขอ และสุดท้ายต้องไม่ลืมว่า มี ผลบังคับใช้ได้กับสินค้าที่ซื้อหลังวันที่ 20 ก.พ. 2552 (โดยไม่เกี่ยวกับวันที่ผลิต) เท่านั้น หากซื้อก่อนหน้านั้นหมดสิทธิใช้พรบ.สินค้าที่ไม่ปลอดภัยนี้
ข้อมูลจาก โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 2 ธันวาคม 2551