ผู้ร้องเรียนกรณีเคลมประกันโควิด-19 ล่าช้าเกิน 15 วัน ได้รับค่าสินไหมแล้ว หลังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพายื่นเรื่องที่ คปภ. แนะศึกษาความมั่นคงของบริษัทก่อนทำประกัน เมื่อเจอปัญหาควรรักษาสิทธิผู้บริโภค ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ยังมีผู้ที่ไม่ได้รับค่าสินไหมกว่าครึ่งของรายชื่อที่ส่งไป
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพาผู้ร้องเรียนบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้าเกิน 15 วัน ไปยื่นเรื่องเร่งรัดบริษัทประกันให้จ่ายค่าสินไหม ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) นั้น
นางสาวนุชนาฎ หอมชื่น ผู้ร้องเรียนบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้า กล่าวว่า ผู้ร้องทำประกันกลุ่มกับบริษัทที่ทำงาน ซึ่งทำประกันโควิดให้ เพื่อเป็นสวัสดิการด้านการเจ็บป่วย โดยเลือกทำประกันกับเอเชียประกันภัย เพราะมีข้อเสนอและเงื่อนไขที่น่าสนใจ เมื่อเทียบข้อเสนอและเบี้ยประกันที่จ่ายกับบริษัทอื่นแล้ว มีความคุ้มค่ากับสิ่งที่พนักงานควรได้รับ
ผู้ร้องเป็นคนแรกที่ติดเชื้อโควิดในบริษัท เมื่อยื่นเอกสารหลังจากที่หายป่วย ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 จนผ่านมาเป็นเดือนก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับมา จึงโทรศัพท์ไปแต่ไม่มีใครรับสาย และยังส่งข้อความไปในแอปพลิเคชันไลน์ ตรวจสอบรายการแล้วขึ้นสถานะ ‘ไม่พบข้อมูล’ ซึ่งในช่วง 1 เดือนนั้นเพื่อนร่วมงานก็ยื่นเอกสารไปเช่นกัน จึงต้องติดตามทวงถามเอกสารที่ส่งไปแล้ว โดยปรึกษากับฝ่ายบุคคลของบริษัท บริษัทจึงได้มาปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยเหลือ มูลนิธิฯ นัดหมายให้ไปยื่นเรื่องร้องเรียนที่ คปภ. เจ้าหน้าที่ คปภ. ให้กรอกแบบคำร้อง พร้อมแนบเอกสารหลักฐานตามที่ประกันร้องขอ เพื่อดำเนินการเร่งรัดบริษัทประกันให้จ่ายค่าสินไหม หลังจากนั้น 3 วันก็ได้รับค่าสินไหม พร้อมกับพนักงานคนอื่นที่ยื่นเอกสารไปภายหลังทั้งหมด ทำให้พึงพอใจกับการทำงานของ คปภ. เป็นอย่างมาก ขอบคุณทางผู้ใหญ่ที่ติดตามเรื่องให้ และขอบคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ช่วยตามเรื่องให้ได้รับค่าชดเชยที่ควรจะได้รับ แต่ก็ยังมีปัญหา คือ ได้เงินไม่ครบ ได้แค่ค่าสินไหมเจอจ่ายจบ 50,000 บาท และค่ารักษาที่โรงพยาบาล 6 วัน 6,000 บาท แต่ไม่ได้รับค่ารักษาที่โรงพยาบาลสนาม 4 วัน 4,000 บาท ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ คปภ. ตอนที่โทรมาติดตามเรื่องเงินค่าสินไหมประกัน แต่ยังไม่ได้ดำเนินการอะไร
นางสาวนุชนาฎ หอมชื่น ให้คำแนะนำเรื่องประกันโควิด-19 ว่า คนที่กำลังจะทำประกันโควิดแบบเจอจ่ายจบควรศึกษาเรื่องความมั่นคงของบริษัท ความคุ้มค่าของเบี้ยประกันที่จ่ายไป และบริษัทนั้นสามารถติดตามได้หรือไม่ ศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจเลือกทำประกัน ส่วนคนที่มีปัญหาเรื่องการเคลมประกันโควิดล่าช้าอยู่ ถ้าทำประกันโดยที่ไม่ได้มีฝ่ายบริหารของบริษัทช่วยเหลือ แนะนำให้สอบถามไปที่ คปภ. หรือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยเหลือ เพราะเป็นหน่วยงานที่จะจัดการให้ได้รวดเร็ว
นายสาร์รัฐ รุ่งนาค ผู้ร้องเรียนบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้า กล่าวว่า บริษัทเลือกทำประกันกลุ่มเป็นสวัสดิการให้พนักงานทั้งหมดภายในโรงพยาบาลกับเอเชียประกันภัย โดยมองจากความเหมาะสมของเบี้ยประกัน ความคุ้มค่าในการทำประกัน ผลประโยชน์ที่ได้รับหากติดเชื้อโควิด และความมั่นคงของบริษัท ดูจากประกันการรักษาแบบอื่นของเอเชียประกันภัยนั้น เคลมไม่นานก็จ่ายคืนโรงพยาบาล มั่นคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และเมื่อเทียบตัวเลือกกับบริษัทอื่นแล้วคุ้มค่าสุด
ตอนที่เริ่มเกิดปัญหายังไม่คิดอะไร เพราะทำงานโรงพยาบาล รู้ว่าคนไข้มีจำนวนมาก จึงอาจจะมีภาระที่มีคนเคลมเป็นจำนวนมาก หรือทำงานที่บ้าน (Work from home) แต่เมื่อผ่านมาสองเดือนแล้วยังไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ส่งเอกสารครบถ้วน จึงประสานงานเพื่อตรวจสอบ แต่ติดต่อบริษัทประกันไม่ได้ ตรวจสอบในระบบ AI ก็ขึ้นแต่สถานะรอตรวจสอบ ได้คำตอบแบบนี้มาเป็นหลักเดือน ไม่ค่อยสบายใจ จึงพยายามโทรหาตัวแทนที่ขายประกันก็ให้ไปติดต่อกับ AI ทั้งที่ "ทุกอย่างง่ายหมดตอนขาย แต่กลับตามเรื่องยาก" หลังจากนั้นจึงโทรเข้าไปปรึกษากับ คปภ. ที่รับเรื่องไว้แต่ยังไม่ได้คำตอบ จนสุดท้ายมาเจอมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ช่วยประสานงานให้ เข้ามาร้องเรียนโดยการนำเอกสารมาให้ดู เล่ารายละเอียด ส่งเอกสารไปเมื่อไร เอกสารมีอะไรบ้าง เกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง และมูลนิธิฯ ก็ได้นัดไปพบ คปภ. เบื้องต้นมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนอยู่ด้านหน้า เข้าไปตรวจความครบถ้วนของเอกสาร มีกรมธรรม์ สำเนาบัตรประชาชน และเอกสารยืนยันการยื่นเคลมกับบริษัทประกัน พอรับเรื่องเข้าระบบ คปภ. ก็ทำงานในระบบให้ มีเลขรับเรื่องร้องเรียน แล้วก็ใบกำกับ หลังจากยื่นเรื่องกับ คปภ. 7 วันก็ได้รับเงินชดเชย รู้สึกพึงพอใจกับการทำงานของ คปภ. ที่ไม่ทอดทิ้งผู้บริโภค ยังคอยช่วยเหลือ ตอนแรกคิดว่าอาจจะล้มทั้งระบบไปแล้ว เพราะเคลมจำนวนขนาดนี้ก็มีโอกาสล้มเหมือนกัน
นายสาร์รัฐ รุ่งนาค กล่าวอีกว่า สำหรับคนที่กำลังจะทำประกันโควิด อยากให้ดูเรื่องความมั่นคงของบริษัท ถ้าเกิดติดเชื้อโควิดขึ้นมา บริษัทประกันจะมีเงินชำระให้หรือไม่ ปฏิเสธการจ่ายบ่อยหรือไม่ ซึ่งความมั่นคงอาจจะดูยาก ลองปรึกษากับ คปภ. เพราะเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องประกันภัย แต่ถ้าจะดูข้อมูลความมั่นคงลึกๆ ต้องดูถึงทุนจดทะเบียนบริษัท กำไร ขาดทุน อีกทั้งต้องดูระเบียบขั้นตอนที่ไม่สร้างความยุ่งยาก
“สุดท้ายอยากฝากเรื่องของการรักษาสิทธิของตัวเอง ยังมีหลายหน่วยงานที่คอยให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คปภ. หรือหน่วยงานอื่นๆ บางคนไม่รู้ช่องทาง แล้วคิดว่าไม่เป็นไร แบบนั้นไม่แนะนำ เพราะนี่เป็นสิทธิของผู้บริโภค ในเมื่อจ่ายเบี้ยประกันไปแล้วก็ควรได้รับค่าสินไหมตามที่ทำสัญญากันไว้” นายสาร์รัฐกล่าว
ด้านนางสาวฟิตรีนา อาลี เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคที่พบปัญหาเรื่องบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้า เกิน 15 วัน สามารถร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเตรียมเอกสารดังนี้ 1. ใบรับรองแพทย์ 2. รายงานการตรวจ RT-PCR (ถ้ามี) 3. สำเนากรมธรรม์ 4. สำเนาหน้าบัญชีธนาคาร 5. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ส่งมาให้ทางมูลนิธิฯ ซึ่งก่อนหน้านี้มูลนิธิฯ รวบรวมรายชื่อผู้ร้องเรียนไปยื่นให้กับ คปภ. แล้วในวันที่ 10 กันยายน 2564 เพื่อให้ช่วยประสานและติดตามเรื่องกับแต่ละบริษัทให้รีบดำเนินการแก้ไขปัญหา และจะรวบรวมรายชื่อผู้ร้องและเอกสารที่ส่งมาภายหลัง ส่งให้กับ คปภ. รอบที่ 2 ในวันจันทร์ที่ 27 กันยายน 2564 ที่จะถึงนี้ เนื่องจากมีผู้เสียหายทยอยร้องเรียนเข้ามาเรื่อยๆ
สำหรับเรื่องความคืบหน้าของผู้ร้องที่ส่งรายชื่อไปแล้ว ผู้ร้องรายหนึ่งของบริษัทเดอะวันประกันภัย ได้รับเงินค่าสินไหมหลังจากที่ไปพบ คปภ. 7 วัน ผู้ร้องอีกคนทำประกันโควิด-19 กับบริษัทสินทรัพย์ประกันภัย เมื่อโทรไปถาม วันที่ 20 กันยายน 2564 ผู้ร้องแจ้งว่าตนและแม่ได้รับค่าสินไหมแล้ว แต่ขณะนี้ก็ยังมีผู้ร้องที่ส่งรายชื่อไปพร้อมกันรอบแรกแล้วยังไม่ได้เงินค่าชดเชยอยู่เป็นจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ส่งรายชื่อไป ซึ่งใกล้จะครบ 15 วันที่ยื่นเรื่องไปกับ คปภ. และก็คาดหวังว่าคปภ.จะมีแนวทางให้บริษัทประกัน เคลมประกันให้ง่ายและรวดเร็ว เพื่อลดภาระของผู้เอาประกัน และลดปัญหาการร้องเรียน
ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับประกันสามารถร้องเรียนไปที่ คปภ. เนื่องจากเป็นนายทะเบียนประกันที่มีหน้าที่กำกับจัดการบริษัทประกันที่เกิดปัญหา ในกรณีที่บริษัทประกันเกิดปัญหาเรื่องเคลมประกันโควิด-19 ล่าช้าเกิน 15 วันตามที่กำหนดไว้ ต้องดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทประกันนั้น และเมื่อมีผู้ร้องเรียนยื่นเรื่องไปจะรับเรื่องแล้วดำเนินการเร่งรัดไปที่บริษัทประกันภัยแต่ละบริษัทให้จ่ายค่าสินไหมกับผู้ร้อง