เรื่องของคุณหมูลีโอและพรรคพวกยังไม่จบค่ะ หลายท่านอาจจะตามไปดูภาพยนตร์ล้อเลียนชิ้นนี้กันในเว็บไซต์ของ themeatrix.com แล้วนะคะ ซึ่งจะทำให้ท่านได้รับทราบข้อมูลด้านอื่นๆ ของ factory farm ด้วย
ภาคต่อของเดอะมีททริกซ์ เป็นข้อมูลเบื้องหลังของการที่เจ้าวัวมูเฟียสต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับโรงงานผลิตสัตว์ที่เรียกกันว่า Factory Farm แม้ว่าสถานการณ์โรคระบาดไก่ในบ้านเราจะซาไปแล้วก็ตาม แต่ไม่มีใครรับรองได้ว่ามันจะไม่กลับมาอีก จึงจำเป็นที่เราต้องทราบสาเหตุของการเกิดโรคระบาดในสัตว์ที่รุนแรง ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร
ผู้บริโภคโดยทั่วไปมักไม่มีภาพที่แท้จริงของแฟคตอรี่ฟาร์มอยู่ในหัว เมื่อพูดถึง “ไข่ไก่” เรามีภาพของคนถือตะกร้าเก็บไข่อยู่ในฟาร์มแบบชนบท ถ้าพูดถึง “วัว” เรานึกภาพทุ่งกว้างที่มีวัวยืนเล็มหญ้า ถ้าพูดถึง “หมู” เรานึกถึงเล้ากว้างขวางมีแม่หมูลูกหมูนอนอุตุ มีที่ให้วิ่งเล่นซุกซน แต่ว่าเนื้อหมูเนื้อไก่และไข่ไก่ที่เราบริโภคมาจากสถานที่ที่ต่างไปจากนั้นอย่างสิ้นเชิง
ไก่เนื้อที่เรารับประทานกันทุกวันนี้เริ่มกระบวนการผลิตที่การเอาไข่ไปฟักในห้องฟัก ไม่ได้ให้แม่ไก่เป็นผู้ฟัก พอลูกเจี๊ยบออกจากไข่ก็จะถูกจับมาเลี้ยงในกรงรวม พื้นที่ขนาดกว้าง 40 ฟุต ยาว 500 ฟุตสามารถเลี้ยงไก่ได้ถึง 20,000-30,000 ตัว เฉลี่ยตัวละ1/2 ถึง 1 ตารางฟุตเท่านั้น
ไก่เนื้อนั้นถูกผสมพันธุ์ขึ้นมาให้ได้พันธุ์ที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อุตสาหกรรมก็ยังหาวิธีเพิ่มน้ำหนักให้รวดเร็วทันใจด้วยการเปิดไฟในเล้าไก่วันละ 23 ชั่วโมงเพื่อเพิ่มความอยากอาหารของไก่ ไก่จึงกินเก่งโตเร็ว มันจะมีชีวิตอยู่ในกรงราว 42 วันก็จบลงที่โรงฆ่าสัตว์
ส่วนชีวิตของไก่ไข่ก็ไม่ต่างกันนัก คือเริ่มต้นชีวิตในเครื่องฟักไข่ จากนั้นลูกเจี๊ยบตัวผู้จะถูกฆ่าทิ้ง โทษฐานที่ให้ไข่ไม่ได้ พอไก่ตัวเมียอายุประมาณ 16-18 สัปดาห์พอที่จะให้ไข่ได้ก็จะถูกเคลื่อนย้าย ไปยังกรงสำหรับไก่ไข่ ซึ่งเป็นกรงลวดเล็ก ๆ พอดีตัวตั้งเรียงและ/หรือซ้อนกันเป็นชั้น กรงของไก่ไข่จะมีพื้นกรงที่ลาดเอียง วางไข่ลงไปบนพื้น ให้ไข่กลิ้งจากกรงลงมายังรางหน้ากรงเพื่อให้คนงานเข้าไปเก็บ หรืออาจมีสายพานเก็บไข่ออกจากโรงเลี้ยงโดยอัตโนมัติ
มันจะวางไข่อยู่ที่นี่จนกระทั่งไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจแล้วก็จะถูกย้ายไปโรงฆ่าสัตว์
ไก่ในกรงทั้งไก่เนื้อไก่ไข่จะไม่ได้อาบแดด อาบฝุ่น ไม่ได้ฟักไข่ ไม่ได้คุ้ยเขี่ยหากินเลี้ยงลูกเจี๊ยบตามธรรมชาติของไก่
การอยู่ในกรงอย่างแออัดทำให้ไก่ไม่ได้ออกกำลังกาย ไก่ไข่ที่ต้องใช้แคลเซียมสูงในการสร้างไข่ จึงเป็นโรคกระดูกพรุน กระดูกหักง่าย พื้นที่กรงที่จำกัดทำให้เวลาไก่อยากขยับเนื้อขยับตัวก็อาจเกิดการปีนเหยียบกันบ้าง กรงเล็บคม ๆ ก็อาจจะขีดข่วนกันเอง
เมื่อแออัดอากาศก็ถ่ายเทไม่สะดวก ความสกปรกของกรงจากมูลไก่ที่สะสมกันอยู่นาน ทำให้เกิดก๊าซที่อันตราย สภาพดังกล่าวทำให้ไก่มีความเครียด จิกตีกันอยู่เรื่อย ๆ ดังนั้น เพื่อจำกัดความสูญเสียจากการจิกกัน อุตสาหกรรมไก่ก็มักใช้วิธีขลิบจะงอยปากทิ้ง
วัวและหมูก็อยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างกันเลย นั่นคือต้องลดพื้นที่ต่อตัวให้มากที่สุดเพื่อใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์สูงสุด วัวที่ถูกเลี้ยงแบบแฟคตอรี่ฟาร์มมักอยู่ในโรงเลี้ยงหรือคอกขังที่กั้นบนดินแห้ง ๆ ไร้หญ้า แต่ละคอกอาจเป็นที่อยู่ของวัวหลายพันตัว หรือ 13 ตัวต่อพื้นที่ขนาด 12x15 ฟุต มีการทำความสะอาดคอกปีละครั้งสองครั้งเป็นอย่างมาก คอกวัวจึงเป็นที่สะสมมูลวัวและเชื้อโรค ทำให้วัวเกิดความเครียด
แม่หมูในแฟคตอรี่ฟาร์มก็เป็นเสมือนเครื่องจักรผลิตลูกหมู เพราะมันไม่ได้อยู่สุขสบายอย่างที่ควรเป็น คอกหมูแคบพอตัวอยู่ในที่ปิดไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน ไม่มีอากาศบริสุทธิ์สดชื่นให้สูดหายใจ ไม่มีที่นอนปูฟาง ไม่มีดินนุ่ม ๆให้จมูกดุนเล่น ไม่มีหญ้าให้เล็ม ลูกหมูจะถูกตอนตั้งแต่ยังเล็กโดยไม่ต้องฉีดยาชาหรือวางยาสลบ ถูกขลิบฟัน บากหู ตัดหาง
เหล่านี้เป็นวิธีปฏิบัติต่ออาหารของเราเยี่ยงโรงงานผลิตอาหารกระป๋อง ผู้ผลิตปฏิบัติต่อสัตว์อย่างทารุณเพื่อผลประโยชน์สูงสุด และเค้นเอาผลผลิตให้มากที่สุดทุกวิถีทางที่ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการงดให้อาหารไก่เพื่อให้ไก่ผลัดขนและเริ่มวงจรการไข่ใหม่ การให้ยาเร่งการเจริญเติบโต การใช้พื้นที่ต่อตัวน้อยที่สุดเพื่อให้ไก่เคลื่อนไหวน้อย โตเร็ว ขายได้เร็ว นอกจากนั้นยังมีการให้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ปกติที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคอะไรเลย แต่เพื่อกันไว้ก่อน โดยให้น้อยๆ เป็นระยะเวลานาน
ในปี 1997 องค์การอนามัยโลกเรียกร้องให้ยุติการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อการรักษาโรคในปศุสัตว์ ปี 1998 สหภาพยุโรปห้ามนำยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาคนไปใช้ป้องกันโรคในสัตว์และกระตุ้นการเจริญเติบโตของสัตว์ ซึ่งเป็นมาตรการที่พึงปฏิบัติแต่หลายส่วนของโลกรวมทั้งบ้านเรามิได้สนใจนำไปปฏิบัติกันนัก
ประเด็นที่ผู้บริโภคห่วงใยก็คือ ยาปฏิชีวนะบางตัวที่ใช้กับสัตว์นี้เป็นชนิดเดียวกับที่ใช้รักษาโรคในคน จึงอาจทำให้แบคทีเรียมีความสามารถในการต้านทานยาได้มากขึ้น เช่น แบคทีเรียซัลโมเนลล่า และแคมพิโลแบคเตอ แบคทีเรียสายพันธุ์ที่ต้านทานยาเหล่านี้สามารถเข้าสู่มนุษย์ได้หลายทางด้วยกัน ทั้งโดยการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ มูลสัตว์ (ดังในกรณีไข้หวัดนก) หรือจากการฆ่าสัตว์ในโรงชำแหละที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเมื่อสัมผัสกับเด็ก คนชรา และผู้ที่ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอก็ทำให้เกิดโรคได้
ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับแฟคตอรี่ฟาร์มไม่ได้มีแค่แบคทีเรียที่ต้านทานยาเท่านั้น คนงานและชาวบ้านที่อยู่รอบฟาร์มใหญ่มีความเสี่ยงต่อการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อน ทั้งของเสียจากสัตว์ ได้แก่ แก๊สพิษ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ แอมโมเนีย คาร์บอนไดออกไซด์ ฝุ่น สารพิษที่แบคทีเรียผลิตขึ้นเรียกว่าเอนโดท็อกซิน และมีเทน
มหาวิทยาลัยไอโอวาเคยสำรวจพบสัตว์แพทย์ที่ทำงานในฟาร์มหมูร้อยละ 70 เป็นโรคทางเดินหายใจ นอกจากนี้ ผู้ที่สูดกลิ่นของเสียจากฟาร์มหมูมักมีอาการปวดศีรษะ น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ และท้องเสีย
แม้ว่าแฟคตอรี่ฟาร์มจะก่อให้เกิดปัญหามากมาย
แต่ผู้ผลิตรายใหญ่ในบ้านเรายังถือโอกาสจากวิกฤติไข้หวัดนกออกมาเรียกร้องให้เกษตรกรรายย่อยเลิกเลี้ยงไก่ในรัศมีรอบฟาร์มใหญ่ เกษตรกรรายย่อยถูกมองว่าเป็นตัวปัญหา โรงเลี้ยงไม่ได้มาตรฐาน เป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค วิธีเลี้ยงที่ถูกต้องมีแต่ฟาร์มใหญ่เท่านั้น ที่เลี้ยงในระบบปิด คนเลี้ยงกับไก่เข้าไปอยู่ด้วยกันในเล้าไก่จนกว่าจะถึงเวลาเอาไก่ออกมาฆ่า ประกันว่าไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อน
แต่ถ้าเป็นมูเฟียสกับลีโอ เขาจะเสนอให้คุณหยุดซื้อไข่และไก่เนื้อจากฟาร์มใหญ่ที่เลี้ยงในกรงคับแคบ แต่ให้ซื้อจากคนเลี้ยงไก่แบบที่ปล่อยให้ไก่ได้คุ้ยเขี่ยหาอาหารในธรรมชาติ สัมผัสแสงแดด คลุกฝุ่น เป็นไก่แข็งแรงอารมณ์ดีไม่มีความเครียด ซื้อเนื้อหมูเนื้อวัวจากคนเลี้ยงที่เลี้ยงสัตว์แบบยั่งยืน มีพื้นที่มากพอให้มันเดินเล่น ได้คลุกดิน กินหญ้า ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ เว้นแต่ยามจำเป็นเพื่อการรักษา ดูแลสัตว์ให้มีความสุขตามอัตภาพของมันก่อนที่มันจะมาเป็นอาหารคน ไหนๆ มันก็ช่วยต่อชีวิตคนแล้ว ตอบแทนมันด้วยการเลี้ยงให้อยู่ดีมีความสุขหน่อยเถิด
คุณจะเชื่อฟาร์มใหญ่ หรือเชื่อมูเฟียสกับลีโอดี ?
>> ชมภาพยนต์ The Meatrix II
>> ชมภาพยนต์ The Meatrix ภาค 2 ครึ่ง
>> The Meatrix 360 Interactive for an animated tour through a factory farm and surrounding area
ข้อมูลจาก คอลัมน์กรีนคอนซูเมอร์ วารสารฉลาดซื้อฉบับที่ 60
กรรณิการ์ พรมเสาร์
{mxc}