กลายเป็น “วิวาทะ” ระหว่างเอ็นจีโอกับปตท.มาพักใหญ่ ถึงความจำเป็นในการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม แม้ว่ารัฐบาลจะเบรคการขึ้นราคาไปแล้ว ก็ตาม
อย่าง ไรก็ตาม บมจ.ปตท.ในฐานะผู้ค้าก๊าซรายใหญ่ของประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้แบกรับภาระการอุ้มราคาก๊าซหุงต้มเป็นเงินกว่า 8 พันล้านบาท เรียกร้องว่า ในจังหวะที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงเช่นนี้ เป็นจังหวะที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะถือโอกาสนี้ปรับโครงสร้างราคา พลังงาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือก๊าซฯ
ในฐานะที่กรุงเทพธุรกิจเป็นสื่อที่เกาะติดเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง จึงได้รวบรวมบทความที่กลายเป็นวิวาทะ รวมถึงมุมมองที่เป็นกลางของผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เพื่อให้สังคมได้ร่วมกันสังเคราะห์
โดยในมุมมองของนักวิชาการด้านพลังงานอย่าง “พรายพล คุ้มทรัพย์” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ค่อนข้าง "เห็นด้วย" กับการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม โดยเขาได้หยิบยกทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์มาอ้างอิง อย่างตรงไปตรงมา และยังเสนอทางออกของปัญหา โดยระบุว่า…
การนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มาอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม มาเป็นเวลานาน พูดตามจริงแล้ว ต้องถือว่าเป็นแนวทางที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนพฤติกรรมการใช้ โดยเฉพาะการนำก๊าซหุงต้มมาใช้ในภาคขนส่ง
เมื่อกลไกตลาดถูกบิดเบือน ไม่สะท้อนความเป็นจริงของต้นทุนการผลิต ทำให้เกิดการส่งสัญญาณ ที่ผิดๆไปยังผู้ใช้
“ระหว่างการใช้ก๊าซหุงต้มในภาคขนส่ง กับการใช้ในภาคครัวเรือน มองในแง่เศรษฐศาสตร์ ถ้าเราเอาก๊าซหุงต้มในราคาที่ไม่ได้อุดหนุนไปใช้ในรถยนต์ เปรียบเทียบกับการใช้น้ำมัน ถือว่า ค่อนข้างแพง”
เขายังระบุว่า ผลพวงจากการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม ผ่านกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้กระจายการใช้มาถึงภาคขนส่ง โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้น 20-30% ของปริมาณการใช้ก๊าซหุงต้มในประเทศ ซึ่งแม้จะเป็นอัตราที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับการใช้ในภาคครัวเรือน
แต่พรายพลเห็นว่า อัตราดังกล่าว เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ “เร็ว และ แรง” จนน่ากังวล
ประเด็นดังกล่าว ยังถือเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ผลักดันให้การผลิตก๊าซหุงต้มเริ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ จนถึงขั้นต้อง “นำเข้า” ก๊าซหุงต้ม ในปีที่ผ่านมา
กลายเป็น “ตัวเร่ง” สำคัญ ทำให้ ปตท.ในฐานะผู้ค้าก๊าซหุงต้มรายใหญ่ที่สุดของประเทศ อดรนทนไม่ไหว ลุกขึ้นมาผลักดันให้มีการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม
นั่นเพราะ…ทุกตันของการนำเข้า ย่อมหมายถึง ภาระขาดทุนของปตท.
“เดิมทีเมื่อก๊าซหุงต้มยังเพียงพอต่อการใช้ในประเทศ ปตท.ยังคงไม่ขาดทุนจากการอุดหนุนราคา แต่กำไรน้อย เพราะสามารถผลิตเนื้อก๊าซฯได้เองในประเทศ
แต่พอระยะหลังเมื่อปีที่แล้ว ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นถึงขนาดต้องนำเข้ามาใช้ ปตท.ก็ขาดทุนเห็นๆ เพราะต้องจ่ายเงินออกไป
แน่นอนราคาก๊าซฯในต่างประเทศที่ซื้อเข้ามา ย่อมมีราคาที่สูงกว่าราคาก๊าซฯ ซึ่งปตท.ผลิตได้เอง
“จะเห็นได้ว่าเมื่อก่อนมีก๊าซหุงต้มเหลือ จนต้องส่งออก ปตท.ก็ยังพอมีเงินมาตู๊ กับการขายในประเทศในราคาที่ถูกอุดหนุน แต่พอปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น จนถึงขั้นขาดแคลนต้องนำเข้าก็เริ่มขาดทุนเห็นๆ” พรายพล อธิบายให้เห็นภาพ
อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ปริมาณการผลิตก๊าซหุงต้มไม่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ปตท.นำก๊าซฯที่ได้ไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยมีปตท.เข้าไปถือหุ้นในฐานะบริษัทแม่
แต่หากจะมองอย่างเป็นธรรมแล้ว จะเห็นว่าการนำก๊าซฯไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จะได้มูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าการนำมา “เผาทิ้ง” เป็นก๊าซหุงต้ม
“ในแง่ของประเทศชาติ ถือว่าดีกว่า” เขาระบุเช่นนั้น
ส่วนความเหมาะสมในการกำหนดราคาจำหน่าย เหตุใดจึงต้องอ้างอิง “ราคาตลาดโลก”นั้น พรายพล ระบุว่า ราคาตลาดโลก ก็ถือเป็นเกณฑ์หนึ่งที่ต้องคำนึงถึง
แต่สูตรคำนวณราคาก๊าซหุงต้มในไทย ได้ถ่วงน้ำหนักระหว่างราคาก๊าซหุงต้มในตลาดโลกกับราคาเนื้อก๊าซในประเทศ ตามนโยบายกำหนดราคาแบบกึ่งลอยตัว ซึ่งมีการควบคุมราคา ณ โรงแยกก๊าซฯ และ ณ โรงกลั่น ไว้ชัดเจน
“ตอนนี้ปตท.ต้องควักเนื้อ จากส่วนต่างของราคาตลาดโลกกับราคาควบคุม กลายเป็นการเสียโอกาสในการดำเนินธุรกิจ
รัฐโดยกองทุนน้ำมันฯต้องควักเนื้อ เป็นหนี้ปตท.จากการอุดหนุนราคา จะว่าไปแล้วต้นทุนที่เป็นจริง ยังสูงกว่าราคาตลาดโลก หรือต้นทุนเนื้อก๊าซในประเทศด้วยซ้ำ” พรายพล ระบุเช่นนั้น
ถามว่า “ใคร” ได้ประโยชน์จากการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม ?
พรายพล ระบุว่า ไม่พูดว่าใครได้ประโยชน์ แต่อย่างน้อยปตท.ไม่ขาดทุน ในทางเศรษฐศาสตร์ การกำหนดราคาให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ถือเป็นการกระจายทรัพยากรที่ถูกต้องเหมาะสม ช่วยทำให้เกิดการประหยัดการใช้ ลดการนำเข้า
ถามถึง “ทางออก” ในการแก้ไขปัญหานี้ ทำอย่างไรจึงจะทำให้ปตท.ขาดทุนลดลง ขณะที่ผู้ใช้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม ก็ได้รับการเบาเทาเบาบางผลกระทบ
พรายพล เสนอแนวทางว่า รัฐควรจะเลือก “อุดหนุน” ราคาก๊าซหุงต้มเฉพาะในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง คล้ายๆกับการดำเนินมาตรการยกเว้นค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ให้กับประชาชนที่ใช้น้ำ-ไฟ ไม่เกินอัตราที่กำหนด หรือการลดราคาน้ำมันให้กับกลุ่มประมง
โดยยืนยันว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการอุดหนุนราคาแบบ “เหวี่ยงแห”
“ถ้าไม่พูดถึงการใช้ก๊าซหุงต้มในรถยนต์ พูดถึงแต่การใช้ก๊าซหุงต้มในภาคครัวเรือน ก็พอจะมีเหตุผลในการอุดหนุนราคาอยู่บ้าง แต่จริงๆการอุดหนุนควรเลือกอุดหนุนกับคนที่ยากจน เราไม่สามารถจะให้การอุดหนุนในภาพรวมได้ ซึ่งรัฐจะต้องไปหาวิธีดำเนินการ แยกคนรวย คนจน แน่นอนเศรษฐี คนชั้นกลาง ไม่มีความจำเป็นต้องเข้ามาอุดหนุนราคา”
พรายพล ระบุว่า กรณี ของต่างประเทศที่ใช้คือ “การขึ้นทะเบียนคนจน” เมื่อคนกลุ่มนี้เดือดร้อน จากสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ราคาแพง รัฐก็จะไปช่วยคนกลุ่มนี้ เช่น ให้เงินช่วยเหลือ หรือลดราคาสินค้าให้เฉพาะกลุ่ม
สำหรับประเด็นที่สังคมตั้งคำถามถึงบทบาทของปตท.ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ ที่ต้องดูแลผลประโยชน์ของประชาชน กับการยึดถือผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นั้น พรายพล ระบุว่า เป็นเรื่องอุดมคติ
โดยเขายอมรับว่า ในอดีตก่อนที่ปตท.จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับอภิสิทธิ์ในการดำเนินการหลายอย่างในฐานะบริษัทของรัฐ แต่ปตท.ก็ต้องเข้าไปเป็นกลไกของรัฐในการแทรกแซง โดยกดราคา ทำให้ผู้เล่นในตลาดรายอื่น เกิดขึ้นยาก
“ก่อนปตท.เข้าตลาดฯ รัฐจะเฟเวอร์ปตท. เพราะปตท.ถูกใช้เป็นเครื่องมือ แต่ก็ได้สิทธิประโยชน์ต่างๆเหนือบริษัทในธุรกิจเดียวกันทำให้ปตท.ครองตลาดก๊าซฯมาตลอด แต่ตอนนั้นราคาตลาดโลกก็ยังไม่แพง แม้รัฐจะอุดหนุนแต่ตอนนั้นปตท.ก็ยังมีกำไร ผิดกับในขณะนี้”
เรียกว่า ปตท.ต้องผูกขาดธุรกิจ เพราะจำใจต้องผูกขาด “พรายพล” กล่าวอย่างนั้น
แต่ก็ไม่มีทฤษฎีไหนที่บอกว่า พอปตท.เป็นบริษัทพลังงานของรัฐ แล้วต้องขายของ “ขาดทุน” มีแต่บอกว่า ต้องทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพ และทำธรกิจให้มีกำไรสมเหตุสมผล ไม่ผูกขาด ไม่เอารัดเอาเปรียบ
“ไม่ใช่มาบอกว่าให้ปตท.เอากำไรจากธุรกิจอื่นไปชดเชยขาดทุน เพราะอย่าลืมว่ารัฐเป็นเจ้าของปตท.ถือหุ้นปตท.เกินครึ่ง รัฐได้เงินจากการปันผล และเงินเข้าคลัง จริงๆแล้วรัฐต้องเข้ามาดูเรื่องนี้อย่างจริงจัง ถึงจะถูก”
ข้อเท็จจริงความจำเป็นในการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG)
ความจำเป็นในการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ???
ปตท.ลั่นชดเชยครบหมื่นล.!! เลิกอุ้มก๊าซหุงต้ม
ร้องวุฒิรัฐทุ่ม8พันล.หนุนปตท.นำเข้าLPG
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 12/2/52