5 เทรนด์สู่การบริโภคที่ยั่งยืน

 

วันสิทธิผู้บริโภคสากล 2563 (2020)
‘The Sustainable Consumer’
(ผู้บริโภคที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม)

         อัตราการบริโภคของประชากรโลกในขณะนี้ทำให้เราตระหนักว่าเรายังห่างไกลมากจาก “การบริโภคอย่างยั่งยืน” ทุกๆ หนึ่งนาที มีขวดพลาสติกถูกจำหน่ายออกไปกว่า 1 ล้านขวด ในขณะที่พลาสติก 50,000 ล้านชิ้นลอยอยู่ในทะเล เราซื้อเสื้อผ้ากันปีละ 80,000 ชิ้น และบริโภคอาหารปีละ 3,900 ล้านตัน โดยหนึ่งในสามของอาหารเหล่านั้นเป็นอาหารเหลือทิ้งอีกด้วย

         อาจเป็นเรื่องยากที่จะหยุดการบริโภคแบบไม่ยั่งยืนในระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็มีแนวโน้มว่าเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2562 มีผู้บริโภคหลายล้านคนออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลและภาคธุรกิจร่วมกันแก้ไขวิกฤติการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโดยด่วน
เนื่องในโอกาสวันผู้บริโภคสากลปี พ.ศ. 2563 สหพันธ์ผู้บริโภคสากลและองค์กรสมาชิกมากกว่า 200 องค์กร ในหนึ่งร้อยกว่าประเทศ จะร่วมกันใช้แฮชแท็ก #SustainableConsumer เป็นแพลตฟอร์มในการรณรงค์เพื่อส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืน และเป็นเวทีที่ผู้บริโภคจะได้แสดงพลังผ่านการจับจ่ายเลือกซื้อสินค้า หรือบริการต่างๆ

 

5 เทรนด์สู่การบริโภคที่ยั่งยืน


1. การเรียกร้องข้อมูลเรื่อง “ความยั่งยืน” ของสินค้า

         ข้อมูลที่ชัดเจนเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้บริโภค ซึ่งจะตัดสินใจเลือกซื้อเลือกใช้สินค้าหรือบริการที่สนองรูปแบบการใช้ชีวิตแบบยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อมีความรู้และข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับการกล่าวอ้างเรื่อง “ความยั่งยืน” ของสินค้า/บริการ

         ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงจะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภค การอวดอ้างว่าผลิตภัณฑ์/บริการของตนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นปัญหาใหญ่ การสำรวจโดย IDEC สมาชิกจากประเทศบราซิลพบการอ้างที่เป็นเท็จถึงร้อยละ 48 จากทั้งหมด 500 ผลิตภัณฑ์

         ในขณะเดียวกันหากผู้ประกอบการที่ให้ข้อมูลอย่างชัดเจน โปร่งใส และรับผิดชอบ ก็สามารถได้เปรียบคู่แข่ง ดูข้อมูลดังกล่าวได้ที่ Consumer Information Programme ของ One Planet Network ซึ่งจะมีหลักการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคในเรื่องต่างๆ

 

2. การขนส่งที่ยั่งยืน การเดินทางโดยใช้บริการแชริ่ง

         ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกำลังจะเป็นตัวแปรสำคัญในความพยายามลดรอยเท้าคาร์บอน การเริ่มนำรถยนต์ไฟฟ้าหรือนวัตกรรมแท็กซี่บินได้มาใช้ หมายความว่าการเดินทางของเราจะเปลี่ยนไป และมีแนวโน้มจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นภายในปี 2030

         แล้วผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอะไรบ้างในปี 2019 สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการที่ผู้บริโภคหันมาใช้บริการเรียกรถ (ride sharing) มากขึ้น มีการประเมินว่ามูลค่าตลาดการใช้บริการรถร่วมกันจะสูงถึง 170,000 ล้านภายในปี 2025 บริการแบบนี้สามารถลดอัตราการถือครองรถยนต์ได้ นอกจากนี้บริการคาร์พูลก็กลายเป็นตัวเลือกแรกๆ ของผู้บริโภคอีกหลายคน

         การรณรงค์ในระดับรากหญ้าก็กำลังให้ผลที่น่าพอใจ เช่นการรณรงค์ Flight Free 2020 ทำให้ผู้บริโภคหลายคนปฏิญาณว่าจะไม่ใช้บริการเครื่องบินในปี 2020 ขณะนี้หลายสายการบินกำลังตอบสนองความต้องการผู้โดยสารด้วยการให้บริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

3. แฟชั่นหมุนเวียน

         ในการประชุม Consumers International Summit 2019 ที่มีผู้นำองค์กรผู้บริโภค ผู้ประกอบการ หน่วยงานรัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วม สิ่งที่ทุกคนเห็นร่วมกันคือบทบาทของคน Gen Z ในการเรียกร้องให้เกิดความโปร่งใสในการอ้างความยั่งยืนโดยแบรนด์หรือผู้ผลิต

         ผู้ประกอบการแฟชั่นบางแบรนด์ก็ให้ความใส่ใจและตั้งเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนด้วยวิธีเน้นความโปร่งใสอย่างถึงที่สุด แบรนด์เหล่านี้ให้ข้อมูลที่ชัดเจนและสามารถเปรียบเทียบได้แก่ผู้บริโภค ตั้งแต่การผลิต ต้นทุน และส่วนต่างที่เป็นกำไรของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ไหนมีความยั่งยืนกว่ากัน

         แนวคิดเรื่องการหมุนเวียนกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน (การผลิตเสื้อผ้าขึ้นจากวัสดุที่ปลอดภัย นำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง และการนำเสื้อผ้าเก่ามารีไซเคิล) การหมุนเวียนนี้เกิดขึ้นได้ในหลายระดับ เช่นในอินเดีย มีองค์กรที่ให้ความรู้ผู้บริโภคเกี่ยวกับทางเลือกในการบริจาคเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว การรีไซเคิล รวมถึงการนำไปปรับใช้ใหม่ด้วย

 

4. หีบห่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

         วัสดุหีบห่อที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอุปสรรคสำคัญที่ต้องก้าวผ่านให้ได้หากเราต้องการส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของออนไลน์หรือจับจ่ายที่ร้านใกล้บ้าน สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือถุง กล่อง หรือหีบห่อที่ไม่จำเป็น

         เราต้องการความเปลี่ยนแปลง งานวิจัยระดับโลกระบุว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญกับหีบห่อที่สามารถใช้ซ้ำหรือนำไปรีไซเคิลได้ ในกระบวนการผลิตก็มีความพยายามของผู้ประกอบการที่จะลดการผลิตขยะพลาสติกเช่นกัน

 

5. สินค้าที่มีอายุการใช้งานนานขึ้น

         ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานจำกัด เรื่องนี้ผู้บริโภคทราบดี แต่การที่ผลิตภัณฑ์บางอย่างถูกออกแบบมาให้สิ้นอายุขัยเร็วเกินไปก็ยังเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่นโทรทัศน์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอื่นๆ อาจมีกลไกเสีย โปรแกรมขัดข้อง หรือมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมสูง

         เราจะป้องกันเรื่องนี้อย่างไร ดังที่ปรากฎในโครงการระดับโลก เช่น กฎหมายว่าด้วยสิทธิในการซ่อม (Digital Index) ไปจนถึงเครื่องมือรายงานผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งานแร็วเกินไปอย่าง Test-Achats ‘Trashed Too Fast’ หรือผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่ใช้งานไม่ได้แล้ว ทั้งหมดนี้เพื่อจัดการกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขณะนี้บริษัทเทคโนโลยีบางแห่งได้เริ่มตั้งเป้าหมายเรื่องการใช้วัสดุหมุนเวียนแล้ว

พิมพ์ อีเมล