การตัดสินใจตรึงราคาก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวี รวมทั้งการปรับแผนการผลิตไฟฟ้าใหม่ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อเร็วๆ นี้ ถือเป็นการตัดสินใจของผู้นำประเทศที่ “รู้เท่าทัน”
บรรดาแทคโนแครตด้านพลังงานและบริษัทยักษ์ใหญ่ ปตท. ที่ชงข้อมูลขึ้นราคาก๊าซมาให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบโดยอ้างเหตุผลสารพัด
แต่ อย่างไรก็ตาม การเบรกขึ้นราคาก๊าซเป็นแต่เพียงการตัดสินใจเฉพาะหน้า เพื่อไม่ให้สวนทางกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เพราะโจทย์ที่เป็นปัญหาใหญ่ในเชิงโครงสร้างธุรกิจก๊าซและน้ำมัน ซึ่งอยู่ภายใต้การยึดกุมในลักษณะกึ่งผูกขาดโดย ปตท. บริษัทเอกชนที่อาศัยอภิสิทธิ์รัฐวิสาหกิจดำเนินธุรกิจทำกำไรบนหลังประชาชนคน ไทยนั้น รัฐบาลยังไม่ได้เข้าไปแตะต้องแม้แต่น้อย
ยังไม่นับว่า กระบวนการตัดสินใจด้านนโยบายพลังงานของชาติ รัฐบาลอภิสิทธิ์ จะกล้าผ่องถ่ายอำนาจการตัดสินใจไปสู่ประชาชนผ่านการลงประชามติหรือผ่านตัว แทนประชาชน คือ รัฐสภา ดังประเทศอารยะทั้งหลายหรือไม่ โดยเฉพาะการให้สัมปทานพลังงานใหม่หรือต่ออายุสัมปทาน
ตลอดเวลาที่ผ่านมา อำนาจการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศไทย เป็นสิทธิ์ขาดของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีโดยมีกลุ่มบริษัทธุรกิจพลังงานเป็น ผู้อยู่เบื้องหลัง
กระทั่ง ในช่วงรัฐบาลทักษิณ บริษัทธุรกิจพลังงานได้พัฒนาตัวเองมายืนอยู่เบื้องหน้าอย่างสง่าผ่าเผยด้วย การส่งผู้บริหารเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานร่วมกับคณะรัฐมนตรี กำหนดนโยบายเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่รางวัลธรรมาภิบาล ซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็นนักการเมืองและเครือข่ายในคณะรัฐบาลนั่นเอง
ในช่วงหลายปีที่รัฐบาลทักษิณเถลิงอำนาจ จึงดูเหมือนว่าการตัดสินใจในเชิงนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลจะผ่านการปรึกษา หารือและไฟเขียวจากบริษัทยักษ์ใหญ่เสียก่อน และธรรมเนียมปฏิบัตินี้ได้พยายามส่งต่อให้รัฐบาลอภิสิทธิ์สืบทอด ดังจะเห็นได้จากการชงเรื่องยืนยันขึ้นราคาค่าก๊าซให้รัฐบาลตัดสินใจ “เอาตามที่เสนอ” เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แต่การหักดิบไม่เอาตามข้อเสนอ แสดงให้เห็นว่าผู้นำจากพรรคประชาธิปัตย์ ยังมีกึ๋นและทันเกม โดยอ้างเหตุให้ตรึงราคาไปก่อนเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจโดยรวม
นับ จากนี้ จึงเป็นที่น่าจับตาว่ารัฐบาลจะรุกอีกก้าวเข้ามาแก้โจทย์ใหญ่ในเชิงโครงสร้าง ด้านกิจการพลังงานที่บิดเบี้ยว ลึกลับดำมืดยากที่ประชาชนจะเข้าถึงและเข้าใจ ทั้งที่เป็นต้นเหตุให้ค่าครองชีพสูงเกินกว่าความเป็นจริง โดยรูปธรรมของปัญหาที่สะท้อนออกมา เช่น
การ ขาดแคลนก๊าซแอลพีจีเทียม (ไม่ได้ขาดแคลนจริง) ทำให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ กดดันให้รัฐบาลปล่อยราคาลอยตัวตามตลาดโลกทั้งที่ประเทศไทยมีก๊าซเป็น ทรัพยากรของชาติเพียงพอต่อความต้องการ
ราคาน้ำมันโลกลดลงแต่ราคาน้ำมันในไทยกลับสูงขึ้น
ความลับของค่าการตลาดในธุรกิจขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปที่ไม่มีใครควบคุม
ต่างชาติซื้อน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่นในไทยได้ถูกกว่าคนไทยซื้อ
ค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) เพิ่มขึ้นเพราะราคาก๊าซซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลัก กฟผ.ซื้อจาก ปตท. แพงกว่า ปตท.ขายให้บริษัทลูก
การกำกับดูแลในเชิงนโยบายที่มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ฯลฯ
ประเด็นการขาดแคลนก๊าซแอลพีจี โดยมีกลุ่มขนส่ง รถแท็กซี่ รถยนต์ดัดแปลง ตกเป็นจำเลยนั้น ความจริงแล้ว หากเข้าถึงและเข้าใจในข้อมูลพื้นฐานที่ว่า ณ ปัจจุบัน ประเทศไทย มีแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบขนาดใหญ่ที่ดำเนินการผลิตแล้วรวมกันมากกว่า 40 แห่ง สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว และน้ำมันดิบ รวมกันได้ถึง 726,000 บาร์เรลต่อวัน หรือเท่ากับ 115 ล้านลิตรต่อวัน (ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน) ก็จะเห็นถึงความอุดมสมกับสโลแกน “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในอ่าวมีก๊าซ” ซึ่งหมายถึงประเทศไทยมีทรัพยากรและมีความสามารถในการพึ่งพาตัวเองด้าน พลังงาน ไม่ใช่ต้องนำเข้าอย่างเดียว
ไม่ เพียงเท่านั้น ประเทศไทยยังส่งออกน้ำมันและก๊าซไปขายต่างประเทศอีกด้วย โดยมูลค่าการส่งออกพลังงานของไทยในปัจจุบันสูงกว่ามูลค่าส่งออกข้าวซึ่งเป็น อาชีพหลักของคนไทย กล่าวคือ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2551 ประเทศไทย ส่งออกพลังงานกว่า 8,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่ามูลค่าส่งออกข้าวซึ่งอยู่ที่ 5,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (สถิติการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ณ เดือนธันวาคม 2551)
ที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่านั้นก็คือ รายได้จากการส่งออกพลังงานของไทย มีมูลค่าใกล้เคียงกับมูลค่าการส่งออกน้ำมันของประเทศเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปก !!
กล่าวเฉพาะก๊าซธรรมชาติ หากดูปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (ไม่รวมแหล่งบนบก) จะพบว่า มีมากกว่า 2,386 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (ข้อมูลกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ) ซึ่งปริมาณขนาดนี้หากนำมาเข้าโรงแยกก๊าซฯ ก็จะได้ก๊าซแอลพีจีหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายใน ประเทศ ไม่ต้องพึ่งพิงการนำเข้า
แต่ ปัญหาก็คือ ปัจจุบันประเทศไทย มีโรงแยกก๊าซฯ ทั้งหมด 7 แห่ง เป็นของ ปตท. 5 แห่ง ( 4 แห่งที่ระยอง และอีก 1 แห่งที่ขนอม) มีความสามารถแยกก๊าซฯ สูงสุดได้เพียง 1,770 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เท่านั้น ส่วนโรงแยกก๊าซแห่งใหม่ มีปัญหาการก่อสร้างล่าช้าโดย ปตท. ให้เหตุผลว่า ราคาก๊าซแอลพีจีในประเทศที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลไม่ให้เกิน 315 เหรียญฯต่อตัน ไม่จูงใจให้เกิดการลงทุน
ส่วนอีก 2 แห่งคือ โรงแยกก๊าซฯ ของบริษัททรานส์ ไทย-มาเลเซีย ที่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง ปตท. กับ เปโตรนาส มาเลเซีย มีกำลังการแยกก๊าซฯ 425 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ผลิตภัณฑ์ที่ได้ส่งให้กับมาเลเซียใช้ทั้งหมดตามสัญญา ส่วนโรงแยกก๊าซฯ ของ ปตท.สผ. ที่ จ. กำแพงเพชร มีปริมาณรับก๊าซเพียงวันละ 50 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น
เมื่อ เหตุผลสำคัญที่ใช้ในการตัดสินใจลงทุนหรือไม่สำหรับ ปตท. บริษัทเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ฯในเวลานี้ ก็คือ ผลกำไร ต่างไปจาก ปตท. ในอดีตที่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของชาติ ซึ่งคำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมของประเทศเป็นสำคัญ จึงเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนก๊าซแอลพีจีภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคซึ่งศึกษาลึกลงไปได้ค้นพบพบความจริงว่า ราคาก๊าซแอลพีจี ที่รัฐบาลกำหนด ณ โรงแยกก๊าซ ปตท มีกำไรประมาณ 8 บาทต่อกิโลกรัม
ผลกำไร 8 บาทต่อกิโลกกรัม ปตท. ยังไม่ถือว่าจูงใจต่อการลงทุน !
ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับราคาก๊าซในตลาดโลกที่พุ่งทะยานขึ้นไปถึง 800-900 เหรียญฯต่อตัน ในช่วงราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา
ใน มุมของ ปตท. ก็คือ หากจะให้ลงทุนก็ต้องปล่อยลอยตัวตามราคาโลกที่มีขึ้นมีลง แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ แล้ว ปตท. จะปรับขึ้นหรือปรับลงตามตลาดโลกหรือไม่ ก็เห็นกันอยู่ในกรณีราคาน้ำมันที่ขึ้นราคาอย่างรวดเร็วแต่ปรับตัวลงอย่าง ช้าๆ
การวางหมากกลทางธุรกิจของ ปตท. ทำให้เกิดสถานการณ์ขาดแคลนก๊าซแอลพีจีภายในประเทศ เพื่อกดดันให้รัฐบาลลอยตัวราคาก๊าซ จนต้องนำเข้าก๊าซฯจากต่างประเทศในราคาตลาดโลก โยนภาระส่วนต่างของราคาก๊าซแอลพีจีในประเทศ ซึ่งถูกรัฐบาลควบคุมราคาอยู่ที่ 315 เหรียญฯต่อตัน ขณะที่ราคาตลาดโลกอยู่ที่ 800-900 เหรียญต่อตัน ซึ่งปตท. กล่าวอ้างว่าเป็นผู้แบกภาระขาดทุนไว้ประมาณ 9,000 ล้านบาท ให้รัฐบาลเข้าไปอุ้มโดยดึงเงินจากกองทุนน้ำมัน
กลายเป็นว่า ผู้ใช้น้ำมันต้องจ่ายเพื่ออุ้มผู้ใช้ก๊าซ สร้างปัญหาทับซ้อนขึ้นไปอีก ทั้งๆ ที่รากเหง้าของปัญหาอยู่ที่ ปตท. ซึ่งคำนึงถึงแต่กำไรสูงสุด
การ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานจากก๊าซในภาคขนส่ง อุตสาหกรรมและปิโตรเคมี หากจะเพิ่มมากขึ้น ด้วยเพราะประเทศไทยมีทรัพยากรอย่างเพียงพอต่อความต้องการหากบริหารจัดการให้ ดีก็ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าโดยไม่จำเป็นดังที่เป็นอยู่ ก็จะเป็นการลดต้นทุน ลดค่าครองชีพของประชาชนในระยะยาว แท็กซี่ ขนส่ง รถยนต์ดัดแปลงใช้ก๊าซ จะได้หลุดพ้นจากการตกเป็นจำเลยของ ปตท. เสียที
ไม่ เช่นนั้น แผ่นเสียงตกร่อง “ลอยตัวราคาก๊าซ” ยังจะตามหลอนคนไทยไปอีกนาน หากรัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่เข้ามาจัดการปัญหาในเชิงโครงสร้างธุรกิจก๊าซซึ่งผูกขาดโดย ปตท. ในเวลานี้
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 มกราคม 2552 11:50 น