นโยบายประชานิยม นับถอยหลัง กองทุนน้ำมันฯ

รายงานโดย :ทีมข่าวพลังงาน:
วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2552 นสพ.ไทยโพสต์
การตัดสินใจของ รัฐบาล “อภิสิทธิ์” ในการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี ต่อไปแบบไม่มีกำหนด และการอุ้มราคาขายปลีกน้ำมันหลังสิ้นสุดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันใน เดือนก.พ.

ทำให้ภาระหนัก ไปตกอยู่ที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เนื่องจากเป็นเครื่องมืออย่างเดียวที่จะช่วยดูแลราคาพลังงานของประเทศได้ เร็วที่สุด

เมื่อสำรวจตรวจสอบสถานะของกองทุนน้ำมันฯ ในปัจจุบัน แม้ยังอยู่ในวิสัยของการบริหารจัดการได้ แต่ในระยะยาวไม่มีใครรับประกันว่า ฐานะเงินกองทุนน้ำมันฯ สุทธิที่มีอยู่ 1.33 หมื่นล้านบาท จะหมดไปกับการเป็นเครื่องมือของรัฐบาลเมื่อไหร่ โดยเฉพาะภารกิจล่าสุด ในการดูแลราคาขายปลีกน้ำมัน และการ อุดหนุนราคาแอลพีจี

ทั้ง นี้ ยังไม่นับรวมกับการใช้หนี้คืนให้กับบริษัท ปตท. จากการนำเข้าแอลพีจีในช่วงที่ผ่านมากว่า 8,000 ล้านบาท ที่ต้องทยอยจ่ายคืนในระยะต่อไปอีกด้วย จากปัจจุบันที่มีเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันฯ เฉลี่ยเดือนละ 3,000-4,000 ล้านบาท

ภาครัฐเคยมีบทเรียนราคาแพงจากการนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปอุ้มราคาน้ำมันเมื่อช่วงเดือนม.ค. 2547-ก.ค. 2548 เบ็ดเสร็จแล้วใช้เงินไปกว่า 9.2 หมื่นล้านบาท และเพิ่งเริ่มมีฐานะกองทุนน้ำมันฯ “เป็นบวก” เมื่อช่วงปลายปี 2550 แม้ว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันตอนนี้จะไม่ร้ายแรงเหมือนในช่วงนั้น แต่ก็ไม่ควรไว้ใจกับความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่สำคัญไม่ควรจะเชื่อบรรดานักวิเคราะห์ในการคาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันมาก เกินไป

การเตรียมวงเงินของกองทุนน้ำมันฯ 3,000 ล้านบาท รองรับการอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมัน หลังยกเลิกมาตรการภาษีน้ำมัน หรือการตรึงราคาน้ำมันนั้น หลายฝ่ายกำลังเป็นห่วงกับหน้าที่ดังกล่าวของกองทุนน้ำมันฯ เพราะถ้าเทียบกับราคาขายปลีกน้ำมันในปัจจุบันเฉลี่ย 16-22 บาท/ ลิตร ถือเป็นระดับราคาที่ต่ำ หากจะต้องปรับราคาตามอัตราภาษีที่เก็บขึ้นเฉลี่ย 2-3 บาท/ลิตร

ในเบื้องต้นกระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่า หลังยกเลิกมาตรการภาษี จะใช้วิธีการลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากเบนซินและดีเซลเพื่อพยุงราคาขายปลีกไม่ให้ปรับสูงขึ้น แต่จะเป็นอัตราเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในขณะนั้น คำถามคือ หากช่วงเวลาดังกล่าวราคาน้ำมันตลาดโลกปรับสูงขึ้นมาก จะต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ เข้าไปช่วยอีกเท่าไหร่ และเชื่อได้ว่าภายใต้นโยบายประชานิยมของรัฐบาล คงต้องใช้วิธีการตรึงราคาน้ำมันออกไปก่อนแน่นอน

ส่วนการดูแลราคาก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี โดยเลือกวิธีชะลอการปรับราคาออกไป ทั้งราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง ปัญหาที่จะตามมา คือ คงไม่สามารถหยุดปริมาณการนำเข้าแอลพีจีที่ยังมีต่อเนื่องได้ แม้ตอนนี้จะเริ่มมีจำนวนการนำเข้าที่ลดลงจากเคยสูงสุดเดือนละ 1 แสนตัน เหลือ 3.3 หมื่นตันก็ตาม

แต่ผู้ที่รับภาระ คือ ปตท. ต้องควักเงินจ่ายค่าแอลพีจีนำเข้าไปก่อน โดยมีเงื่อนไขว่าภาครัฐจะนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปใช้หนี้คืนในภายหลัง เพียงแต่ยังไม่กำหนดวันเวลาที่ชัดเจน ดังนั้นบทบาทของกองทุนน้ำมันฯ ตอนนี้มีแต่จ่ายและจ่าย ส่วนการสะสมรายได้คงหมดโอกาสในช่วงนี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่อยากเห็นตอนนี้ คือ ตัวเลขกองทุนน้ำมันฯ ที่มีฐานะติดลบ การบริหารเงินกองทุนน้ำมันฯ ที่ผิดพลาด จนสร้างภาระหนี้กลับมาเหมือนในอดีต และคงต้องชั่งใจกับรัฐบาลที่จะส่งสัญญาณฝึกนิสัยของคนไทยให้รู้จักคำว่า ประหยัดและใช้พลังงานอย่างมีคุณค่า

อย่าลืมว่า ตราบใดที่รัฐยังต้องอุ้มราคาน้ำมัน ราคาก๊าซฯ เช่นนี้ คงไม่มีใครนึกถึง คำว่า ประหยัด หรือว่ารัฐบาลชุดนี้มานั่งบริหารเพียงแค่ชั่วคราว จึงละเลยกับปัญหา ที่จะตามมาในอนาคต

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน