ความจริงที่ขาดหายไปในการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG)
เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 4054
ถึงแม้นายกรัฐมนตรีจะได้เลื่อนการปรับขึ้นราคา ก๊าซหุงต้มไปแล้ว แต่ความพยายามเสนอให้มีการขึ้นราคายังคงมีอยู่ ซึ่งความสับสนของการให้ข้อมูลถึงความจำเป็นในการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะธุรกิจค้าก๊าซนี้มีมูลค่าสูงถึงกว่า 8 หมื่นล้านบาทต่อปี สร้างความร่ำรวยให้กับเจ้าของธุรกิจนี้เป็นอย่างมาก ด้วยโครงสร้างทางธุรกิจการผลิตที่มีลักษณะกึ่งผูกขาด จึงทำให้กลุ่มทุนพลังงานเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลมากทั้งต่อภาคการเมืองและ สื่อสารมวลชน ดังนั้น ประชาชนจึงมักได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียวจากกลุ่มผู้มีผลประโยชน์จากการขึ้น ราคาดังกล่าว แต่สำหรับแฟนพันธุ์แท้ด้านพลังงาน ซึ่งเป็นผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือชมรมผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีกลับพบว่า ข้อมูล/ข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากข้อมูลของ ปตท.และกระทรวงพลังงานโดยสิ้นเชิง ประเด็นที่ 1 ผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีในรถยนต์เป็นตัวการที่ทำให้ก๊าซขาดแคลนจริงหรือ จากแผนภูมิที่ 1 จะเห็นว่าครัวเรือนใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นอันดับหนึ่งที่ 43.6% ส่วนอุตสาหกรรมและปิโตรเคมีใช้มากเป็นอันดับสองที่ 40.3% (ทั้ง ปตท.และกระทรวงพลังงานแทบไม่เคยกล่าวถึงผู้ใช้กลุ่มนี้เลย) ขณะที่ยานยนต์ ซึ่งตกเป็นจำเลยของทางการกลับใช้ก๊าซเพียง 16.1% เท่านั้น จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่าการใช้ในภาคอุตสาหกรรมและปิโตรเคมีเป็นตัวแปรสำคัญ ในการใช้ก๊าซแอลพีจีที่มากกว่าผู้ใช้รถยนต์หลายเท่า
จากข้อมูลกระทรวงพลังงานยังพบอีกว่าในปี 2536 ที่ได้มีการนำก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้ในประเทศไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโต รเคมี โดยมีอัตราการเจริญเติบโตของการใช้จนถึงปี 2551 สูงขึ้นถึง 588% ขณะที่การใช้ในภาคยานยนต์ มีอัตราการเจริญเติบโตในช่วงเดียวกันที่ต่ำกว่ามาก แล้วเหตุใดจึงไม่มีการให้ข้อมูลนี้ต่อสังคม คำตอบก็อยู่ที่โครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่มทุนพลังงานในธุรกิจปิโตรเคมีนั่น เอง ดังนั้น ประชาชนผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีในรถยนต์ จึงต้องตกเป็นแพะแต่เพียงผู้เดียวไปโดยปริยาย
ประเด็นที่ 2 ก๊าซแอลพีจีมีเพียงพอต่อการใช้ของประชาชนทั้งครัวเรือนและยานยนต์หรือไม่ จากข้อมูล 11 เดือนของปี 2551 พบว่าไทยสามารถผลิตก๊าซแอลพีจีในประเทศได้ถึง 4.05 ล้านตัน ในขณะที่ภาคครัวเรือนและยานยนต์มีการใช้อยู่ที่ 2.66 ล้านตันเท่านั้น จากข้อเท็จจริงนี้จึงเห็นได้ว่าก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้ในประเทศมีเพียงพอต่อ ประชาชนคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะใช้ไปเพื่อการใดก็ตาม แต่เมื่อความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมและปิโตรเคมีมากขึ้น จึงทำให้เกิดการแย่งใช้ก๊าซของประชาชนและภาคธุรกิจ หลักการและเหตุผลจึงอยู่ที่ว่าก๊าซที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซของ ปตท. (เป็น 60% ของปริมาณการผลิตในประเทศ) มาจากทรัพยากรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยอันเป็นสมบัติสาธารณประโยชน์ควรตกอยู่ กับประชาชนหรือเอกชน รัฐคงต้องเป็นผู้ตัดสิน (หมายเหตุ ปตท.เองก็ซื้อก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยราคาต่ำกว่าตลาดโลก ที่มา : กระทรวงพลังงาน โดยใช้ราคาเฉลี่ยก๊าซธรรมชาติของไทยตั้งแต่ปี 2542)
ประเด็นที่ 3 จำนวนโรงแยกก๊าซเป็นสาเหตุหนึ่งของการขาดแคลนแอลพีจีหรือไม่ จากข้อมูลของบริษัท ปตท.เอง พบว่า ก่อนแปรรูป ปตท.เป็นเอกชน ปตท.มีการสร้างโรงแยกก๊าซอย่างต่อเนื่องรวมทั้งสิ้น 4 โรง โดยอยู่ที่ระยอง 3 โรง และที่นครศรีธรรมราช 1 โรง ซึ่งเท่ากับว่าโรงแยกก๊าซเหล่านี้สร้างโดยเงินของประชาชน แต่หลังการแปรรูป ปตท.กลับมีการสร้างโรงแยกก๊าซ (ด้วยเงินของผู้ถือหุ้น) เพิ่มขึ้นเพียง 1 โรงเท่านั้น (ที่ จ.ระยอง)
หลักการการสร้างสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อประชาชน นั้น รัฐจะต้องเตรียมการเพื่อจัดหาให้เพียงพอต่อความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นอันดับแรก อาทิเช่น กรณีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่จะต้องบริหารจัดการปริมาณไฟฟ้าให้มากเพียงพอต่อ ความต้องการอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไฟฟ้าดับ ด้านน้ำมันและก๊าซก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากพลังงานเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตของประชาชนในยุคปัจจุบัน ก็เชื่อได้ว่าหาก ปตท.ยังเป็นของรัฐและประชาชนอยู่ก็จะมีการสร้างโรงแยกก๊าซอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณก๊าซที่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ นี่คือ ตัวอย่างของผลเสียจากการแปรรูป ปตท.ให้เป็นเอกชน ทำให้เหตุผลในการสร้างโรงแยกก๊าซต้องคำนึงถึงผลกำไรต่อผู้ถือหุ้น (ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยที่มีฐานะ) เป็นหลัก รวมถึงการขาดแคลนก๊าซที่เป็นผลร้ายต่อประชาชนกลับเป็นโอกาสต่อผู้ทำธุรกิจ ก๊าซในการขึ้นราคา
ประเด็นที่ 4 ปัจจุบันประชาชนจ่ายค่าก๊าซแอลพีจีต่ำกว่าตลาดโลกหรือไม่
จะเห็นได้ว่าประชาชนไทยต้องจ่ายค่าก๊าซแอลพีจี สูงกว่าราคาตลาดโลกมานานแล้ว ทั้งๆ ที่แอลพีจีผลิตได้ในประเทศ โดยราคา 18.13 บาทต่อกิโลนี้เป็นราคาควบคุมที่ยี่ปั๊ว (ผู้ค้าตามตรา 7) ดังนั้น ราคาปลีกจึงสูงกว่านี้อีกประมาณกิโลละ 2 บาท ไม่ว่าผู้ขุดเจาะ โรงแยกก๊าซ โรงกลั่น ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว จะได้กำไรมากน้อยเท่าใด และผลกำไรจะตกแก่ผู้ใดนั้นมิใช่สิ่งที่ประชาชนจะต้องใส่ใจ เขารู้แต่เพียงว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่หามาด้วยความยากลำบากได้จ่ายออกไป เพื่อซื้อหาพลังงานด้วยราคาที่สูงขึ้นมาโดยตลอด ขณะที่กลุ่มทุนพลังงานก็มีกำไรงดงาม
ประเด็นที่ 5 การใช้ก๊าซแอลพีจีในยานยนต์เป็นการใช้ผิดประเภทจริงหรือ จากการสอบถามชมรมผู้ใช้ก๊าซแอลพีจี สมาคมธุรกิจอุปกรณ์ใช้ก๊าซสำหรับยานยนต์ และชมรมผู้ประกอบการสถานีบริการก๊าซแอลพีจี พบว่าก๊าซแอลพีจีได้รับการส่งเสริมให้เป็นพลังงานทางเลือกในรถยนต์ส่วนบุคคล และรถแท็กซี่อย่างกว้างขวางทั่วโลก ส่วนก๊าซเอ็นจีวีนั้นจะใช้กับรถประจำทาง และรถขนส่งขนาดใหญ่เป็นหลัก ดังนั้น การให้ข้อมูลว่าการใช้ก๊าซแอลพีจีในรถยนต์เป็นการใช้ที่ผิดประเภทนั้น จึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในประเทศต่างๆ
พลังงานด้านปิโตรเลียมของประเทศไทยเป็นสิ่งที่ สำคัญมากต่อความอยู่รอดของชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามวิกฤติเช่นนี้ เนื่องจากพลังงานเป็นต้นทุนอันสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีทรัพยากรปิโตรเลียม จึงควรให้ความสำคัญกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรตัวจริงมีส่วนร่วมในการ ตัดสินใจ และถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะต้องปรับปรุงนโยบายการบริหารจัดการ พลังงานด้านปิโตรเลียมครั้งใหญ่ ที่ปัจจุบันรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่กลุ่มทุนพลังงานก่อนที่ราคาพลังงานจะเผา ผลาญเศรษฐกิจไทยซ้ำเติมเพิ่มจากวิกฤติที่เรากำลังเผชิญอยู่
ทิวากร ณ กรุงเทพ
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 12/02/52