------------------------------------------------
เนื่องด้วยปัจจุบัน พบว่าการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์มีการโฆษณาที่อาจฝ่าฝืนกฎหมายจำนวนมาก โดยการนำเสนอที่มีลักษณะโอ้อวด หรือแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จหรือเกินความจริง ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ไม่หายจากการเจ็บป่วย หรือเป็นโรคมากขึ้น เกิดการเสียทรัพย์สิน เพราะต้องการหายจากความเจ็บป่วย โดยสื่อวิทยุกระจายเสียง เคเบิ้ลทีวี ดาวเทียม เป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่ายในทุกๆพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานราชการ ได้แก่ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ประจำจังหวัดขอนแก่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ภาค๒ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 ขอนแก่น สำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดขอนแก่น สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น สถานีวิทยุกระจายเสียงรักษาดินแดง สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น สถานีวิทยุกระจายเสียงทหารอากาศ 020 ขอนแก่น สถานีวิทยุกระจายเสียงกองทัพบก กองทัพภาคที่ 2 กระจายเสียงด้วยระบบ A.M. ความถี่ 1170 KHz. สถานีวิทยุกระจายเสียงกองทัพบก กองทัพภาคที่ 2 กระจายเสียงด้วยระบบ FM 88.25 MHz.สถานีวิทยุพิทักษ์สันติราษฎร์ ขอนแก่น เครือข่ายผู้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ชมรมสื่อสร้างสรรค์จังหวัดขอนแก่น สถานีวิทยุกระจายเสียงประจำถิ่น 12 ขอนแก่น สมาคมสื่อมวลชนจังหวัดขอนแก่น ชมรมคนทำสื่อจังหวัดขอนแก่น สมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น สถานีวิทยุกระจายเสียงทุกแห่ง สมาคมสื่อเคเบิ้ลทีวี และหน่วยงานอื่นๆได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม โดยต้องสร้างความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ และจำเป็นที่จะต้องสร้างความตระหนัก ความรับผิดชอบของสื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ เคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม ในการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาโฆษณาที่ไม่เหมาะสม จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ขึ้น โดยมีสาระสำคัญของความร่วมมือ ดังนี้
ข้อ 1 ขอบเขตของความร่วมมือ
กำหนดขอบเขตความร่วมมือ เป็น 4 ด้าน ดังนี้
1.1 ด้านการพัฒนากลไกการทำงานร่วมกัน
กำหนดให้มีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่เหมาะสมจังหวัดขอนแก่นโดยทุกหน่วยงานได้ร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อใช้เป็นกลไกความร่วมมือในการทำงาน
1.2 ด้านการบังคับใช้กฎหมาย
สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ ของแต่ละหน่วยงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการโฆษณาที่อาจเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ให้ร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่น หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น หรือสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หรือร่วมกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่เหมาะสมจังหวัดขอนแก่น เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จโดยเร็วและแจ้งผลให้หน่วยงานอื่นๆ ทราบ เพื่อเป็นข้อมูลในการปฏิบัติงานร่วมกันต่อไป
1.3 ด้านการสร้างความตระหนักแก่สื่อมวลชนในการโฆษณาอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม
ร่วมกันให้ข้อมูลแนะนำแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องในการโฆษณาแก่ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่ดีเป็นแบบอย่างต่อไป
1.4 ด้านการเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชน
ร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร ความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อแก่ประชาชน และผู้ประกอบการ/ผู้จัดรายการ กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เช่น การอบรม สัมมนา ให้ความรู้ด้านกฎหมาย และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องจัดทำคู่มือการโฆษณาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ
ข้อ ๒ การดำเนินงานและบทบาทหน้าที่
2.1 คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ประจำจังหวัดขอนแก่น
2.1.1 กำหนดนโยบาย วางแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัด บรูณาการการบังคับใช้กฎหมาย และประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์เกี่ยวกับสินค้าและบริการ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2.2 ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่น
2.2.2 รับเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร ให้คำปรึกษา รับเรื่องปัญหาความต้องการ และข้อเสนอแนะของประชาชน รวมทั้งทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการร่วมตามมาตรา 32 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2556
2.3 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด มีหน้าที่
2.3.1 เผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายการโฆษณาผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพแก่ผู้ประกอบการ, ผู้ดำเนินรายการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์, หน่วยงานราชการและผู้สนใจอื่นๆในรูปแบบการจัดอบรม สัมมนา ฯลฯ
2.3.2 เผยแพร่ความรู้ในการเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพ ให้รู้เท่าทันสื่อโฆษณา แก่ภาคประชาชน และเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค
2.3.3 เฝ้าระวัง ตรวจสอบ รับเรื่องร้องเรียนและจัดการเรื่องร้องเรียนการโฆษณาผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพที่เผยแพร่ในจังหวัดขอนแก่นให้ดำเนินการตามกฎหมายในสื่อโฆษณาที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินการร่วมกับผู้ดำเนินการกิจการวิทยุกระจายเสียง และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ภาค 2
2.3.4 รวบรวมสื่อโฆษณาที่ไม่ถูกต้องและเรื่องร้องเรียนทางสื่อโฆษณานอกเหนือจากที่ได้รับมอบอำนาจฯ ส่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคมแห่งชาติ ภาค 2
2.3.5 ประสานงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ภาค 2 มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการโฆษณาอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ จังหวัดขอนแก่น
2.3.6 เป็นผู้พิจารณาอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพตามกฎหมายที่ได้รับมอบอำนาจฯ ที่ยื่นขออนุญาตภายในจังหวัดขอนแก่น
2.4 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ภาค 2 มีหน้าที่
2.4.1 รับ และประมวลเรื่องร้องเรียนด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
2.4.2 สนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การประชาสัมพันธ์ความรู้ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้แก่ประชาชน ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมสิทธิเพื่อประโยชน์สาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
2.4.3 คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
2.4.4 ตรวจสอบการดำเนินงานของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มิให้ดำเนินการใด ๆ ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
2.5 สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น มีหน้าที่
2.5.1 เฝ้าระวังสื่อ รวบรวมโฆษณาทางสื่อวิทยุกระจายเสียง เคเบิ้ลทีวี ที่อาจผิดกฎหมายและล่อลวง เอาเปรียบผู้บริโภค หรือมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพจากการโฆษณา ร้องเรียนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน
2.5.2 เผยแพร่ ความรู้ด้านสิทธิผู้บริโภคแก่ประชาชน
2.6 สื่อวิทยุกระจายเสียง มีหน้าที่
2.6.1 ตรวจสอบโฆษณา ดังนี้
1.1 การได้รับอนุญาตผลิตภัณฑ์(อย.) การได้รับอนุญาตการโฆษณา(อย.หรือสสจ.ขก.)
1.2 โฆษณาต้องไม่โอ้อวด เกินจริง
1.3 โฆษณาต้องไม่อ้างสรรพคุณหรือส่อให้เกิดความเข้าใจว่าเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ
1.4 โฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องไม่เกี่ยวกับการบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรค
1.5 โฆษณาต้องไม่มีลักษณะการให้มีบุคคล กลุ่มคนมาชักจูงโน้มน้าว ชวนเชื่อ หากไม่ทราบให้สอบถามได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น 043-221125 หากพบว่าโฆษณาไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อขออนุญาตได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น
2.6.2 โฆษณาที่ออกอากาศ ต้องไม่โอ้อวด เกินจริง โดยไม่ใช้ข้อความดังนี้ ดีที่สุด เร็วที่สุด ได้ผลทันที ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีผลข้างเคียง อาการดีขึ้นทันทีอันดับ๑ อาการดีขึ้นทันที รับประกันผลโดย การันตีการใช้งานโดย (อ้างผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มคน กลุ่มอาชีพ ฯลฯ) หรือข้อความที่มีลักษณะคล้ายกันนี้
2.6.3 โรคหรืออาการของโรคที่ห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกัน ได้แก่
1.1 เบาหวาน
1.2 มะเร็ง
1.3 อัมพาต
1.4 วัณโรค
1.5 โรคเรื้อน
1.6 โรค หรืออาการของโรคสมอง หัวใจ ตับ ม้าม ไต
2.6.4 ปฏิเสธการโฆษณาหากเห็นว่าโฆษณาดังกล่าวเข้าข่ายละเมิดกฎหมาย ละเมิดจริยธรรม ละเมิดสิทธิผู้บริโภค และเสี่ยงต่อการสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชน
2.6.5 ตรวจสอบเฝ้าระวังการเผยแพร่สื่อโฆษณาของสถานีวิทยุกระจายเสียงภายในเครือข่ายสื่อวิทยุกระจายเสียงและจัดการแก้ไขปัญหาภายในภาคีเครือข่าย
ข้อ 3 กำหนดระยะเวลา
บันทึกข้อตกลงนี้ให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558 จนถึง วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2560 เป็นระยะเวลา 2 ปี
ข้อ๔ การแก้ไขเพิ่มเติมบันทึกข้อตกลง
หน่วยงานทั้งหมดที่มีรายชื่อ อาจแก้ไขเพิ่มเติมบันทึกข้อตกลงได้ โดยความเห็นชอบร่วมกันของทุกฝ่ายและจัดทำเป็นหนังสือ โดยให้ถือว่าการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกข้อตกลงนี้
บันทึกข้อตกลงนี้ มีข้อความถูกต้องตรงกัน ทุกฝ่ายได้อ่านแล้วเห็นว่าเป็นไปตามเจตนา จึงลงลายมือไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยานและเก็บรักษาฝ่ายละฉบับ