ข้อมูลเพื่อผู้บริโภค

ความหวานในชีวิต

น้ำตาล คือเหตุแห่งสงครามและการค้าทาส
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วก่อนที่โลกเราจะได้รู้จักน้ำตาลนั้น ชาวอินเดียเป็นพวกแรกที่นิยมเคี้ยวอ้อยและดื่มน้ำอ้อย แต่การจะนำความหวานจากน้ำอ้อยมาขายเป็นการค้านั้นยังไม่สามารถทำได้ เพราะน้ำอ้อยจะหมักตัวและเสียง่าย

ต่อมาในปี ค.ศ.600 ชาวเปอร์เซียจึงสามารถคิดค้นกระบวนการทำอ้อยให้เป็นน้ำตาลได้ และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการค้าน้ำตาล

หลังจากนั้น ชาวอาหรับได้เทคโนโลยีนี้ไปและสามารถควบคุมการค้าน้ำตาลไว้ในอำนาจได้ และว่ากันว่า จากการที่กินและติดน้ำตาลกันนี้เองที่ทำให้อาณาจักรของอิสลามมิกชนล่มสลาย ดังที่เลียวนาร์ด รอวู้ฟ นักพฤกศาสตร์ชาวเยอรมันได้บันทึกไว้ว่า “ชาวเติร์กและมัวร์จะตัดน้ำตาลให้เป็นก้อนเล็ก ๆ และเดินเคี้ยวตามถนนหนทาง ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงกลายเป็นนักกินไปและมิใช่นักรบผู้ทรหดเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต”

ชาวยุโรปได้ลิ้มรสน้ำตาลครั้งแรกตอนที่ทำสงครามครูเสดกับมุสลิมนี่เอง และแม้ว่าสงครามจะสิ้นสุดลงในปี 1204 แล้วก็ตาม แต่ต่อมาในปี 1306 สันตปาปาก็ได้รับใบสั่งให้ทำสงครามอีกครั้งหนึ่ง ใบสั่งสงครามฉบับนั้นระบุว่า

ในแผ่นดินของสุลต่านมีการปลูกอ้อยปริมาณมหาศาล สุลต่านจึงมีรายได้จากการจำหน่ายและเก็บภาษีหากคริสเตียนสามารถยึดครองดินแดนแห่งนี้ได้ ความเสียหายย่อยยับจะตกแก่สุลต่าน ขณะเดียวกันผลประโยชน์มหาศาลจากไซปรัสจะเป็นของคริสเตียน

แม้ว่าน้ำตาลจะไม่ใช่เหตุผลอย่างเป็นทางการในสงครามครูเสดครั้งนี้ แต่น้ำตาลก็เป็นผลประโยชน์แฝงที่สำคัญยิ่ง

ประวัติศาสตร์หน้าที่ทั้งอัปลักษณ์และอัปยศที่สุดได้เกิดขึ้นในปี 1444 เมื่อเฮนรี่นักเดินเรือได้เดินทางจากโปรตุเกสมาอัฟริกาตะวันตกเพื่อเสาะแสวงหาน้ำตาลแต่ไม่พบ สิ่งที่เขาพบคือ คนผิวดำ

คนผิวดำที่ทรหดอดทนสามารถทำงานในไร่อ้อยท่ามกลางแสงแดดจ้าและอากาศร้อนจัดได้ เฮนรี่จึงจับคนผิวดำกลับมาด้วย 235 คน เพื่อมาขายเป็นทาส นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการกดขี่เพื่อนมนุษย์อันยาวนานถึง 400 ปี

โนเอล เดียร์ นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษได้เขียนไว้ในหนังสือประวัติศาตร์น้ำตาลว่า “มิใช่เรื่องที่พูดเกินจริงแต่ประการใดหากจะกล่าวว่า ในบรรดาทาสชาวอัฟริกัน 20 ล้านคนที่ซื้อขายกันนั้น 2 ใน 3 ของจำนวนนี้มีสาเหตุมาจากน้ำตาล”

เมื่อเริ่มค้าทาส เราอาจคิดว่าฝ่ายคริสตจักรจะห้ามปราม แต่เปล่าเลย…สันตปาปาเองกลับทรงอวยพรให้ “โจมตีชาวซาราเซ็น(ชาวมุสลิมโบราณที่อยู่ตามทะเลทรายในอาระเบีย) พวกนอกศาสนาและศัตรูของพระคริสตเจ้าให้เป็นทาสอยู่ใต้ปกครองของเรา”

เหตุผลที่เป็นทางการระบุว่า เพื่อพิทักษ์จิตวิญญาณของพวกเขาเหตุผลแฝงก็คือจะได้เอาพวกเขามาทำงานในไร่อ้อย

สำหรับอเมริกานั้นคริสโตเฟอร์  โคลัมบัสเป็นผู้นำน้ำตาลเข้าไป ต่อมาได้แนะนำให้ชาวอเมริกันอินเดียนเข้าไปทำงานในไร่อ้อยที่สเปน แต่สมเด็จพระราชินีอสซาเบลล่าแห่งสเปนทรงทัดทานความคิดนี้แต่ต่อมาเมื่อสิ้นพระชนม์ลง กษัตริย์เฟอร์ดินานซึ่งทรงเห็นด้วยก็ตกลงทำตามคำแนะนำทันที
อังกฤษเป็นประเทศต่อมาที่เข้าร่วมในการแข่งขันการผลิตน้ำตาลด้วย ตอนแรก พระราชินีอลิซาเบธที่ 1 ทรงต่อต้านการใช้แรงงานทาส ทว่าต่อมาพระองค์เองกลับหลงใหลในรสชาติของน้ำตาล ในปี 1588 จึงทรงอนุญาตให้บริษัทบริติชผูกขาดการค้าทาสแต่เพียงผู้เดียว

ขณะเดียวกันที่หมู่เกาะอินดีส ชาวอังกฤษได้ทำการหมักน้ำอ้อยจนเป็น น้ำไฟ หรือเหล้ารัม แล้วนำไปแลกเปลี่ยนกับเฟอร์ของชาวอินเดียนในอเมริกาเหนือ การค้าที่ได้ผลกำไรงามได้เกิดขึ้นแล้วจากเหล้ารัมราคาถูกเมื่อนำไปแลกเฟอร์ที่ขายได้ราคาดีในยุโรปก็ทำคนหลายคนกลายเป็นเศรษฐีย่อย ๆ ไปในพริบตา เงินตราที่ได้จากการค้าเฟอร์และค้าทาสเพื่อผลิตน้ำตาลกลายเป็นสิ่งจูงใจให้มีการค้าทาสเพิ่มขึ้น และไร่อ้อยก็เกิดขึ้นอีกมากมายนับไม่ถ้วน

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นพ้องต้องกันกับสถานการณ์ดังกล่าวนี้ คลอดด์ เอเดรียน เฮลวิเทียส นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเป็นผู้หนึ่งที่คัดค้าน เขาได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาว่า “ไม่มีที่ใดในยุโรปที่ถังบรรจุน้ำตาลไปถึงโดยไม่เปื้อนเลือด…หากยังมีสำนึกกันอยู่ก็จงเลิกเสีย จงปฏิเสธความสุขบนปลายลิ้นจากการเสพน้ำตาลที่ซื้อหามาพร้อมกับน้ำตาและเลือดเนื้อของเพื่อนมนุษย์ผู้ไร้สุขนับไม่ถ้วน…”

ผลก็คือ เฮลวิเทียสถูกประณาม นักบวชแห่งคริสตจักรกล่าวว่าความคิดของเขาเป็นอันตราย หนังสือที่เขาเขียนถูกเผาทิ้ง แต่ความคิดที่ต่อต้านน้ำตาลก็แพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว จนในปี 1792 ได้มีการก่อตั้งสมาคมแอนตี้ซัคคาไรท์ (Anti-Saccharite Society) ขึ้นในอังกฤษเป็นครั้งแรก ต่อมาการบอยคอตน้ำตาลก็แพร่ไปจนทั่วยุโรป

เมื่อกระแสการต่อต้านน้ำตาลเกิดรุนแรงขึ้น บริษัทบริติชอีสต์อินเดียผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ก็ออกมาอ้างว่า “น้ำตาลของอีสต์อินเดียมิได้ใช้แรงงานทาสในการผลิต”

แม้ว่าจะมีการเลิกทาสในอังกฤษและฝรั่งเศสเมื่อปี 1807 อเมริกาในปี 1833 แต่ก็หาได้หยุดยั้งการผลิตน้ำตาลได้ ทาสรูปแบบใหม่ก็คือแรงงานราคาถูกที่ทำงานหนักในไร่อ้อยเกิดขึ้นแทนที่ น้ำตาลปริมาณมหาศาลถูกผลิตขึ้นมา คนทั้งโลกก็ติดน้ำตาลโดยทั่วหน้ากัน ปริมาณการบริโภคน้ำตาลในสังคมสมัยใหม่ทุกวันนี้สูงถึง 60 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

นี่คือความเป็นมาของน้ำตาล ความหวานที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าจำเป็นสำหรับชีวิต


อะไรอยู่ในน้ำตาล
น้ำตาลเป็นสารอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานเราใช้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน คาร์โบไฮเดรตนี้สามารถแบ่งออกได้ 3 กลุ่ม คือ แป้ง น้ำตาล และเซลลูโลส

น้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีความซับซ้อนน้อยที่สุด แป้งและเซลลูโลสมีความซับซ้อนมากกว่า ในการย่อยคาร์โบไฮเดรตนั้นร่างกายเราจะย่อยสลายแป้งและน้ำตาลให้กลายเป็นน้ำตาลกลูโคสโมเลกุลเดี่ยวเพื่อที่จะนำไปใช้เป็นพลังงานได้

สิ่งที่เราเรียกกันว่าน้ำตาลนั้นไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลทรายขาว น้ำตาลอ้อย น้ำตาลโตนด ซึ่งเราใช้ใส่ในชาเค้ก และขนมหวานต่าง ๆ นั้นเป็นน้ำตาลซูโครสที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในอ้อย ในตาล หรือหัวผักกาดแล้วนำมาผ่านกรรมวิธีการผลิตให้อยู่ในรูปที่นำไปเติมในอาหารต่าง ๆ ได้ง่าย
น้ำตาลฟรุคโตสนั้นจะพบในผลไม้และน้ำผึ้ง เป็นน้ำตาลที่ทดสอบแล้วว่ามีความหวานมากที่สุด ส่วนกลูโคสหรือเด็กซโตรสก็พบได้ในอาหารบางอย่างเช่นกัน    

สำหรับแลคโตสเป็นน้ำตาลที่มีอยู่ในนมมีความหวานน้อยกว่าน้ำตาลประเภทอื่น

น้ำตาลที่เกิดขึ้นและมีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติ กับน้ำตาลที่เราสกัดออกมาให้อยู่ในรูปของน้ำตาลเพื่อใช้ในการผสมอาหารนั้นมีความแกต่างกันอยู่ในแง่ของผลต่อสุขภาพ เพราะตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาเราก็เริ่มจะเห็นผลกันอย่างชัดเจนว่า น้ำตาลนำมาซึ่งโรคร้ายหลายอย่างตั้งแต่โรคไฮเปอร์แอคติวิตี้ โรคอ้วน โรคเบาหวาน รวมไปถึงฟันผุ นั่นเป็นผลต่อสุขภาพกาย
แต่ถ้ามีใครบอกว่าน้ำตาลเป็นอาหารที่ก่อปัญหาสังคม คุณจะว่าอย่างไร ?

น้ำตาล  อาหารเจ้าปัญหา ?
ผลของของน้ำตาลต่อสังคมที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะมีมากมายหลายประการแต่เป็นผลที่ผู้คนคุ้นชินจนรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา
เป็นธรรมดาไปแล้วที่เด็กจะเป็นโรคไฮเปอร์แอคทีฟ ผู้ใหญ่อารมณ์แปรปรวนฉุนเฉียวก็ธรรมดาสังคมมีอาชญากรรมและความรุนแรงสูงขึ้นก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปอีก

มีหลายกรณีที่พบว่าคู่ครองที่จวนเจียนจะหย่าร้างกันนั้นกลับมาดีกันได้เหมือนเดิมเมื่องดรับประทานน้ำตาล แม้ว่าสิ่งนี้ไม่อาจพิสูจน์อะไรได้แต่ก็มีข้อสังเกตกรณีอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกไม่น้อย เป็นต้นว่า

ดร.เวสตัน  ไพร้ซ์ ทันตแพทย์ผู้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลกในราวทศวรรษ 1930 เขาพบว่า ในสังคมแบบดั้งเดิมนั้นแทบจะไม่ปรากฎข่าวอาชญากรรมขึ้นเลย แต่เมื่อผู้คนในสังคมดั้งเดิมเริ่มบริโภคน้ำตาลและอาหารฟอกหรือขัดสีจนขาวกันมากขึ้น สุขภาพก็เริ่มทรุดโทรมอาชญากรรมก็เพิ่มขึ้น

นักวิจัยอีกผู้หนึ่งที่สนใจความสัมพันธ์ระหว่างน้ำตาลและอาชญากรรมก็คือ เจ.ไอ.รอเดล อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Prevention รอเดลได้เชื่อมโยงนิสัยการบริโภคของหวานกับภาวะจิตใจของอาชญากรที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ กรณีไว้ในเรื่องที่เขาเขียน Natural Health , Sugar and the Criminal Mind เป็นต้นว่า

     - ไมเคิลเป็นเด็กเกเร ไม่ตั้งใจเรียน เขามักจะขว้างปาของเล่นและหยิกน้องชายอยู่เสมอ…แต่หลังจากที่ให้เด็กชายงดอาหารจำพวกไอศกรีม ขนมปังกรอบ เค้ก ขนมปัง จากแป้งขัดขาว ช็อคโกแล็ต ช็อกโกแลตนม และเครื่องดื่มธัญญาหาร เด็กชายก็เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ
     - พยาบาลคนหนึ่งที่ก่อคดีฆ่าเด็กทารก 3 รายและทำร้ายร่างกายเด็กจนบาดเจ็บอีก 2 รายเป็นคนที่อ้วนมาก เธอมักแสดงความเมตตาต่อเด็กด้วยการให้ไอศกรีมและน้ำอัดลม ขณะที่ตัวเธอเองก็มักจะมีกล่องลูกกวาดติดตัวเสมอ เธอชอบดื่มน้ำอัดลมหวาน ๆ ทั้งวัน
     - ผู้สื่อข่าวได้วิเคราะห์ลักษณะของหญิง 4 คนที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหาฆ่าคนตายที่แคลิฟอร์เนีย ไว้ในนิตยสาร The Los Angeles Herald Examiner ว่า ผู้หญิงทั้ง 4 คนชอบขนมหวาน ลูกกวาด ไอศกรีม นางสไปเนลลีรับประทานไอศครีมและพายในคืนก่อนที่เธอจะตาย ส่วนนางพีทีก็จะละเลียดลูกกวาดของเธอซ้ำยังมีแก่ใจแบ่งให้สื่อมวลชนและชางภาพอีกด้วย สำหรับบาร์บาร่า เกรแฮมนั้น อาหารมื้อสุดท้ายของเธอเป็นไอศครีมผสมน้ำเชื่อมถั่ว ส่วนนางดันแคนนั้นขณะพิจารณาคดีเธอจะเคี้ยวลูกอมรสเปปเปอร์มิ้นท์อยู่ตลอดเวลา
     - เด็กฝึกงานที่ร้านเบเกอรี่แห่งหนึ่งยักยอกเงินเพื่อซื้อขนมหวาน บางทีเขากินช็อคโกแล็ตได้ถึง 3 กล่องรวด เขาสารภาพว่าความอยากของเขามีสูงมากจนชนะเหตุผลและจริยธรรม
     - เด็กหนุ่มอายุ 16 ปียิงชายอายุ 76 ปีเสียชีวิต ก่อนที่จะยิงชายชราผู้นี้ เด็กหนุ่มได้เงินไปซื้อรองเท้าแต่เขาเอาไปซื้อลูกกวาดแทน
     - จอห์น กุตเตอร์ ได้เขียนไว้ในหนังสือ Inside South America ว่าคนโคลัมเบียนั้นนิยมรับประทานอาหารหวานมาก ว่ากันว่าชาวโคลัมเบียบริโภคน้ำตาลเป็นปริมาณสูงที่สุดในโลก ขณะเดียวกันโคลัมเบียก็เป็นประเทศที่ตกอยู่ในห้วงของสถานการณ์ที่ใช้ความรุนแรงมาเป็นเวลายาวนานแล้ว
อย่างไรก็ดี ในช่วงทศวรรษ 1980 ก็มีหลักฐานมารองรับข้อสังเกตนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นต้นว่า สตีเฟน ชุนทาเลอร์ นักอาชญวิทยาได้ค้นพบว่า นักโทษที่ถูกจองจำมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นเมื่องดอาหารที่มีน้ำตาลสูงทุกประเภท

ตัวอย่างสุดท้ายที่โรเดลกล่าวถึงในหนังสือของเขาก็คือ ชายผู้ชอบรับประทานเค้กหน้าครีม เรียกว่ามีเท่าไรไม่เคยพอ นอกจากนี้เขายังมีกล่องลูกกวาดอยู่ข้างตัวตลอดเวลา และเขาจะดื่มไวน์ไม่ได้เลยถ้าไม่ได้เติมน้ำตาลลงไป เขาเป็นคนที่ติดน้ำตาลอย่างหนักและฟันเสียแทบทั้งปากก็ว่าได้ และเขาผู้นี้ก็เป็นอาชญากรตัวฉกาจของโลกที่ยังไม่ใครเทียบเขาได้ เขาฆ่าคนมาแล้วหลายล้านคน
เขาชื่อ อดอล์ฟ   ฮิตเลอร์

ไม่เพียงแค่ฮิตเลอร์เท่านั้นฝ่ายสัมพันธฒิตรซึ่งเป็นศัตรูของเขาก็ไม่น้อยหน้ากันนัก ว่ากันว่าทีมผู้คิดค้นระเบิดนิวเคลียร์ก็มีนิสัยส่วนตัวที่น่าสนใจ
นายพลเลสลี่ โกรฟ หัวหน้าโครงการแมนฮัตตั้นซึ่งเป็นโครงการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ ก็จะมีช็อคโกแล็ตเก็บไว้เต็มตู้ในห้องทำงานของเขาเสมอ
เจ โรเบิร์ต อ็อพเพนไฮม์เมอร์ หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ผู้สร้างระเบิดยูเรเนียมและพลูโตเนียมลูกแรกของโลกก็เป็นคนที่ติดน้ำตาลขนาดมีเท่าไรไม่เคยพอ ส่วนเอ็ดเวิร์ด  เทลเลอร์ บิดาแห่งระเบิดไฮโดรเจนก็เป็นคนติดช็อคโกแล็ต

รสหวานยังจำเป็น
คนจีนนั้นมีความเชื่อว่าสุขภาพร่างกายของคนเราจะดีนั้นนอกจากจะต้องมีความสดุลระหว่าง หยิน-หยางแล้ว ต้องรับประทานอาหารครบ 5 รสด้วย ได้แก่ เปรี้ยว หวาน เค็ม ขม และเผ็ดร้อน การรักษาสมดุลของรสทั้ง 5 นั้นหมายความว่า ต้องได้รับแต่ละรสเข้าไปอย่างสม่ำเสมอโดยไม่จำเป็นต้องมี 5 รสในทุกมื้อ การทำให้ร่างกายได้รับรสให้ครบทั้ง 5 รสนั้นไม่ใช่สิ่งที่ยากเย็นอะไรนัก แต่สิ่งที่ยากกว่าก็คือ ทำให้ได้รับเข้าไปในสัดส่วนที่พอเหมาะ รสที่เรามักลืมไปคือ รสขม เพราะคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่รับประทานพืชผักรสขม ส่วนรสที่ได้รับเข้าไปอย่างสม่ำเสมอคือรสหวานกับเค็ม
ระหว่างรสหวานกับเค็มนั้นแน่นอนเหลือเกินว่ารสที่เย้ายวนเราที่สุดก็คือ รสหวาน มิเช่นนั้นคงไม่มีการติดน้ำตาลกันมากขนาดนี้ รสหวานในแง่ของหยิน-หยางนั้นเป็นรสที่มีความเป็นกลางที่สุดจึงเป็นส่วนที่มีมากที่สุดในอาหารของเรา รสหวานนั้นจะช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร ม้าม และอวัยวะที่เกี่ยวข้อง

รสหวานมิใช่มีแต่ข้อดีเพียงอย่างเดียว ดังได้กล่าวแล้วว่าการรับประทานอาหารที่มีรสหวานมากเกินไปก็อาจก่อให้เกิดปัญหาได้เช่นกันเพราะจะทำให้กระเพาะอาหาร ม้าม และตับอ่อนทำงานมากเกินไป ผลก็คือทำให้เป็นโรคเบาหวานได้ อย่างไรก็ดี การได้รับรสหวานมากเกินไปนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ทีเดียวหากคุณรับประทานแต่อาหารที่มีความหวานตามธรรมชาติของมันเอง ไม่รวมถึงความหวานจากการทำให้หวานด้วยน้ำตาลหรือสารให้ความหวานอื่น ๆ

คนส่วนใหญ่มักจะลืมรสหวานที่ได้จากอาหารธรรมชาติไปแล้ว เพราะเมื่อนึกถึงความหวานก็จะนึกถึงน้ำตาลตามมาทันที อาหารที่มีรสหวานโดยธรรมชาติได้แก่ ธัญพืชทั้งเมล็ด ผักที่มรสหวาน อย่างแครอท หมอ กะหล่ำปลี ฟักทองและผลไม้

อาหารที่มีรสหวานมักจะมีสีเหลืองหรือสีส้ม อาหรเหล่านี้คุณอาจจะไม่รู้สึกว่ามีรสหวาน นั่นอาจเป็นเพราะว่าปุ่มรับรสของคุณไม่ไวต่อรสหวานจากธรรมชาติเสียแล้ว หรืออาจเป็นเพราะว่าคุณเคี้ยวอาหารไม่ละเอียดพอ

สารให้ความหวาน ช่วยลดโรคภัยได้จริงหรือ
อย่างไรก็ดีทั้ง ๆ ที่ในอาหารธรรมชาติก็มีรสหวาน แต่เมื่อเราคิดถึงโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากความหวานอย่างโรคอ้วน ถึงแม้เราก็จะเลือกงดน้ำตาล แต่ก็ไม่ได้หันมาหาความหวานในธรรมชาติ พวกเราหันไปหาสารให้ความหวานแทน

สารให้ความหวานเหล่านี้ไม่มีคุณค่าทางอาหาร ไม่ให้แคลอรี แต่มีความหวาน 30-200 เท่าของน้ำตาลซูโครส เช่น แอสปาร์เตม ประกอบด้วยกรดอะมิโน 2 ตัว คือกรดแอสปาร์ติค และฟีนิลอะลานีนน หวาน 180-200 เท่าของน้ำตาลทีเดียวค่ะ

สารให้ความหวานเข้ามาในท้องตลาดบ้านเรามากมายหลายยี่ห้อ มีการเชิญชวนผู้บริโภคโดยเฉพาะคุณสาว ๆ ที่ไม่อยากอ้วนแต่ชอบหวานว่า ความหวานเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต นางงามในจอโทรทัศน์ถึงกับกระแทกถ้วยกาแฟใส่บริกรทันทีที่เธอดื่มกาแฟแก้วหวานแล้วคิดว่าเป็นน้ำตาล โฆษณาตั้งใจจะบอกผู้บริโภคว่าแม้จะเป็นความหวานเทียมแต่ก็แยกไม่ออกระหว่างสารให้ความหวานกับน้ำตาล ผู้บริโภคก็จะคิดต่อว่า เพราะฉะนั้นหันมากินสารให้ความหวานยี่ห้อที่นางงามคนนี้กินดีกว่าเพราะเหมือนน้ำตาลและไม่อ้วน

สำหรับผลของสารให้ความวานต่อน้ำหนักตัวนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ นักวิจัยบางรายมีความเห็นว่า เมื่อใครก็ตามรับประทานสารให้ความหวาน ร่างกายจะเรียกร้องให้รับประทานโปรตีนและไขมันเข้าไปเป็นการชดเชยพลังงานที่ขาดหายไปจากน้ำตาลที่เคยรับประทาน งานศึกษาบางชิ้นก็ว่า สารให้ความหวานจะกระตุ้นความอยากอาหาร

ปัญหาประการหนึ่งของสารให้ความหวานก็คือ มันไม่ได้ทำให้คุณลดความอยากกินอาหารหวานลง ทางที่ดีคุณควรฝึกปุ่มรับรสหวานของคุณให้คุ้นชินกับการลดน้ำตาลลงด้วยตัวคุณเองโดยไม่ต้องหาอะไรอื่นมาทดแทน หลังจากนั้นคุณจะสามารถลิ้มรสหวานธรรมชาติจากอาหารที่กล่าวถึงข้างต้นได้ นั่นจึงจะเป็นความหวานที่จำเป็นในชีวิตอย่างแท้จริง

พิมพ์ อีเมล

12220 views
ดิฉันได้อ่านบทความคอลัมน์ ชีวิตที่เลือกได้ เรื่อง กฟผ โดยคุณชัยอนันต์ สมุทวณิช ในนสพ. ผู้จัดการ เมื่...

Read more

27083 views
แม้ว่าในฉลากยา จะระบุให้ผู้ใช้ยาได้ทราบถึงวิธีใช้ยาและความถี่ของการใช้แล้วก็ตาม ...

Read more

11261 views
ถกกันอีกรอบกับประเด็น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เอกชนเตรียมรวมตัวกันในนาม 9 สมาคมฯ ขอรัฐแก้กฎหมาย...

Read more

14912 views
 ปัจจุบันนี้อาหารสำเร็จรูปเป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคมากขึ้น ฉลากโภชนาการเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ไ...

Read more

รู้ไว้ใช้สิทธิ์

IMAGE มหากาพย์ซิมฟรี แถมหนี้ไม่อั้น
“ได้รับแจกซิมฟรี แต่ไม่ได้เปิดใช้บริการ...
IMAGE อันตรายจากการหางานตามใบปลิว
เดี๋ยวนี้เวลาไปไหนมาไหน...
IMAGE สิทธิของผู้โดยสาร
ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนสิ่ง ที่ตามมาก็คือ...
IMAGE กฎหมายน่ารู้ผู้โดยสาร
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ