ข้อมูลเพื่อผู้บริโภค

ปิดทีวีกันดีกว่า

อันนี้ไม่เกี่ยวกับม็อบดาราที่สนามม้านางเลิ้งแต่อย่างใด เพียงแต่ม็อบดาราทำให้นึกถามตัวเองขึ้นมาว่าเราได้อะไรและเสียอะไรไปกับการดูทีวี เครื่องไฟฟ้าหน้าตาสี่เหลี่ยมที่ส่งคนแปลกหน้ามาพูดคุยกับเราและลูกหลานทุกๆ วัน

ทำไมสมาคมกุมารเวชศาสตร์ของอเมริกันหรือ American Academy of Pediatrics(APP) จึงได้แนะนำว่าเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบไม่ควรดูทีวี ? นอกจากนั้นยังแนะนำผู้ปกครองอีกว่าไม่ควรวางทีวีไว้ในห้องนอนเด็ก จำกัดเวลาดูทีวีไว้วันละไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง และอย่าใช้ทีวีเป็นพี่เลี้ยงเด็ก

แน่นอนว่าเบื้องหลังคำแนะนำนั้นย่อมมีที่มาที่ไปซึ่งคนเป็นพ่อแม่ควรให้ความสนใจ
     Joseph Chilton Pearce เขียนไว้ในหนังสือ Evolution’s End ของเขาว่า ศักยภาพของเด็กเปรียบเหมือนเมล็ดพันธุ์ ต้องการการดูแลเอาใจใส่ที่ดี สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อที่จะได้เติบโตอย่างถูกต้องเหมาะสม เด็กทารกนั้นเกิดมาพร้อมกับเซลล์สมองหมื่นล้านเซลล์ ใช้เวลาสามปีแรกของชีวิตสร้างเซลล์เพิ่มขึ้นอีกพันล้านเซลล์ จากนั้นเซลล์ประสาทก็จะสร้างเส้นใยเชื่อมต่อกันเป็นตาข่าย

     พอเด็กอายุหกขวบมีขนาดสมองเป็น 2/3 ของผู้ใหญ่ แต่มีเส้นใยประสาทที่เชื่อมต่อกันเป็นตาข่ายนี้มากกว่าผู้ใหญ่และเด็กอายุ 18 เดือนถึง 5-7 เท่า สมองของเด็ก 6-7 ขวบจึงมีศักยภาพมหาศาล ศักยภาพที่ว่านี้จะหยุดพัฒนาประมาณอายุ 10-11 ขวบ ถึงตอนนั้นเด็กจะเสียเส้นใยประสาทนี้ไปประมาณ 80% (Pearce 1992, Buzzell 1998) ปรากฏว่าสิ่งที่เราไม่ได้ใช้ไม่ได้พัฒนาเราจะเสียไป โดยเอนไซม์ชนิดหนึ่งจะถูกปล่อยออกมาในสมองและค่อย ๆ ละลายไมอีลินซึ่งเป็นสารโปรตีนที่หุ้มรอบเส้นใยประสาทออก ไมอีลินนี้เป็นเหมือนเส้นทางเดินของสัญญาณประสาทไมอีลินยิ่งหนาเท่าไร ประสาทก็ยิ่งไวเท่านั้น แต่ก็ต้องการสิ่งเร้ามากระตุ้น ขณะที่การนั่งดูทีวีนิ่ง ๆ นาน ๆ ถูกยัดเยียดด้วยภาพ เสียง ที่ผ่านหูผ่านตาอย่างรวดเร็ว เพื่อตรึงผู้ชมไว้กับที่ทำให้สมองไม่ได้ทำงานมากนัก

Jane Healy ,PhD เขียนไว้ในบทความ Explaining the Childhood Brain Drain ว่า สมองของเด็กที่กำลังเจริญเติบโตนั้นถูกกำหนดโดยประสบการณ์ที่เด็กได้รับ เซลล์ประสาทในสมองตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้นความรู้สึก(sensory stimuli) ทำให้เกิดการเชื่อมต่อกับเซลล์ข้างเคียงขึ้นมาเรียกว่า Synapses การเชื่อมประสานกันของเซลล์ประสาทนั้นทำให้เกิดเครือข่ายที่เป็นรากฐานของระบบประสาทที่ใช้ในการอ่านเพื่อความเข้าใจ การคิดอย่างวิเคราะห์ ความเอาใจใส่พินิจพิจารณา และการแก้ปัญหา

ความสนใจ      ความพยายามและความอยากรู้อยากเห็นของเด็กจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการสร้างเครือข่ายของเซลล์ประสาท ทุก ๆ การตอบสนองต่อภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัสทำให้เกิดการเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งสมองทำงานมากเท่าไร ยิ่งมีความสามารถมากขึ้นเท่านั้น แต่ขณะที่เด็กอายุ 3-5 ปี ซึ่งเป็นช่วงของการพัฒนาการรับรู้และความสามารถทางด้านภาษานั้น…เป็นช่วงที่เด็กส่วนใหญ่เริ่มรู้จักดูและติดทีวี

     Dr. Jerry Levy นักจิตวิทยาชีวภาพ(biopsychologist) ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก และเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดีในฐานะที่เป็นผู้สนใจเรื่องการพัฒนาสมองทั้งสองซีกกล่าวว่า “เมื่อเด็กดูทีวี ก็จะไม่ได้อ่านหนังสือ เด็กที่อ่านหนังสือนวนิยาย จะจินตนาการสร้างฉากในท้องเรื่อง สร้างภาพของตัวละครว่าหน้าตาเป็นอย่างไร อารมณ์เป็นแบบไหน น้ำเสียงเป็นอย่างไร สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ฉาก และอารมณ์ความรู้สึกที่สร้างขึ้นมานี้มีความสำคัญมาก ซึ่งทีวีไม่ได้เปิดช่องทางให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์แบบนี้เลย สมองถูกออกแบบมาให้เผชิญกับสิ่งท้าทายในเรื่องของความรู้ความเข้าใจ มันก็เหมือนกล้ามเนื้อ ถ้าไม่ออกกำลังกายกล้ามเนื้อก็ลีบ ถ้าไม่ฝึกสมอง สมองก็ลีบ”

     เด็กที่ได้แต่นั่งอยู่หน้าจอจึงไม่ได้สร้างจินตนาการของตนเอง ไม่ได้คิดค้นเกมการเล่นใหม่ ๆ ได้แต่ซึมซับเอาสิ่งที่คนแปลกหน้าในทีวีพูดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร สวมใส่เสื้อผ้าแบบไหน กินอาหารอะไร ซึ่งนำไปสู่การสิ้นเปลืองเงินทองโดยใช่เหตุและไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ

     เด็กที่มีโอกาสเล่นโน่นเล่นนี่จึงมีพัฒนาการทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสได้ดีกว่าเด็กที่ได้แต่นั่งดูเฉย ๆ เพราะขณะที่ดูทีวี สายตาเด็กจะจับจ้องอยู่นิ่ง ๆ ที่เครื่องรับโทรทัศน์ที่ไม่มีจุดโฟกัส ตาที่ไม่ได้เคลื่อนไหวจึงพัฒนาไปได้ไม่ดีเท่าตาที่เคลื่อนไหวไปมา เช่น ขณะที่อ่านหนังสือ หรือดูรูปภาพที่ต้องกวาดสายตา นอกจากนั้นภาพจากจอทีวียังมีแค่สองมิติ เด็กที่ติดทีวีจึงไม่มีพัฒนาการทางด้านการมองภาพให้เห็นความตื้นลึก ขาดความสามารถในการสังเกต

     การดูทีวีนาน ๆ ทำให้สมองซีกขวาทำงานหนัก ถ้าดูเกินสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมงอาจไปยับยั้งการทำงานของสมองซีกซ้ายซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางด้านภาษา การใช้เหตุผล

     การดูทีวีง่ายกว่าการอ่านหนังสือ เพราะไม่ต้องใช้สมาธิ ไม่ต้องจดจ่อ เด็กเล็กซึ่งอยู่ในวัยที่ยังอ่านไม่ออกหากปล่อยให้ดูทีวีบ่อย ๆ ทีวีก็อาจขโมยศักยภาพทางด้านนี้ไปกลายเป็นเด็กที่ไม่ชอบการอ่าน การเขียน

     นอกจากนี้ยังมีพบว่าการดูทีวีมาก ๆ สัมพันธ์กับโรคอ้วนและโคเลสเตอรอลในเลือดสูง เนื่องจากการนั่งอยู่กับที่นาน ๆ การรับประทานของขบเคี้ยวระหว่างดูทีวี และอิทธิพลของโฆษณาที่ชี้ชวนให้ซื้ออาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

     ที่สำคัญ ทีวียังทำให้การรับรู้ความเป็นจริงบิดเบือนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงในสังคม เพราะทีวีทั้งจากภาพข่าว ละคร การ์ตูน เสนอภาพความรุนแรงค่อนข้างถี่ ทำให้เกิดการเลียนแบบนอกจอโดยไม่รู้ตัวว่านั่นคือการกระทำที่รุนแรงเพราะคุ้นชินจากการดูทีวีอยู่ทุกวัน อย่างที่มีข่าวเด็กนักเรียนชั้นม.4 แทงเพื่อนนักเรียนด้วยกัน

     ผู้ปกครองบางคนบอกว่าให้เด็กดูทีวีตอนมีเวลาว่างเพื่อไม่ให้เบื่อ อย่าลืมว่าความว่างและความเบื่อนี่เองที่ทำให้เด็กเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ อยากทำโน่นทำนี่ต่อไป อย่าให้ทีวีมาทำลายศักยภาพตรงนี้ด้วยการทำตัวเป็นเพื่อนแก้เหงาเลย

     เรื่องของการติดทีวีเป็นเรื่องใหญ่ ในอเมริกามีองค์กรเอกชนที่ไม่หวังผลกำไรแห่งหนึ่งชื่อ TV-Free America ทำการรณรงค์ให้คนอเมริกันลดการดูทีวีลงบ้างเนื่องจากผลกระทบจากทีวีที่กล่าวมาข้างต้น ประกอบกับพบว่าในปัจจุบันนี้อเมริกันชนติดทีวีกันงอม เด็กอายุ 2-5 ปีร้อยละ 25 มีทีวีอยู่ในห้องนอน และเด็กวัยนี้โดยเฉลี่ยดูทีวีวันละ 3 ชั่วโมง ส่วนเด็กอายุ 4-6 ปีร้อยละ 54 ชอบดูทีวีมากกว่าการได้อยู่กับพ่อ ส่วนคนอเมริกันทั่วไปเฉลี่ยแล้วใช้เวลาร้อยละ 40 ของเวลาว่างอยู่หน้าจอทีวี คิดสะระตะแล้วพออายุ 65 ปี จะใช้เวลาดูทีวีไปประมาณ 9 ปีของชีวิต

TV-Free America
จึงจัดรณรงค์สัปดาห์แห่งการปิดทีวี(TV-Turnoff Week) ขึ้นมาทุกปีในราวเดือนเมษายน สำหรับเมษายนที่ผ่านมานี้เป็นปีที่ 6 แล้ว มีองค์กรต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนอย่างเป็นทางการถึง 61 องค์กร เป็นต้นว่า สมาคมการแพทย์อเมริกัน สมาคมการศึกษาแห่งชาติ วายเอ็มซีเอ. ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการปิดทีวีเพียงสัปดาห์เดียวสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อร่างกาย จิตใจ และทำให้สายสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและชุมชนเข้มแข็งขึ้น

     ทีวีทุกวันนี้ให้อะไรแก่เราบ้าง มีแต่การนำเสนอภาพพฤติกรรมที่รุนแรง ทั้งทางร่างกายและภาษาพูด เสนอทัศนคติทางเพศที่สุ่มเสี่ยง การดื่มเหล้า การบริโภคเกินพอดี อาหารที่ไม่เป็น ประโยชน์ต่อร่างกาย เกมโชว์ที่ยัดเยียดโฆษณาให้ผ่านสายตาผู้ชมตลอดเวลา และ ที่สำคัญทีวีไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้ความบันเทิงแก่เราอย่างที่ผู้ประกอบการพูดกันอยู่ปาวๆ รายการทุกรายการอยู่ได้เพราะโฆษณา และโฆษณาทุกชิ้นก็อยู่ได้เพราะผู้บริโภคซื้อสินค้า โดยที่ค่าโฆษณาแพงลิ่วนั้นบวกอยู่ในราคาสินค้าที่ผู้บริโภคซื้อเรียบร้อยแล้ว

     คุณอาจคิดว่าคุณมีภูมิคุ้มกันพอที่จะไม่มีโฆษณาใดๆมาชักจูงได้ แต่ข้อเท็จจริงอันหนึ่งก็คือไม่มีบริษัทที่เป็น “ผู้สนับสนุนรายการ” รายใดขาดทุนจนล้มหายตายจากไป ย่อมบอกเราได้ว่า โทรทัศน์มีอิทธิพลต่อผู้ชมจริงๆ

ไม่เชื่อก็ลองปิดทีวีสักสัปดาห์เป็นไร
!

วารสารฉลาดซื้อฉบับที่ 39
ประจำเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2543

พิมพ์ อีเมล

12308 views
ดิฉันได้อ่านบทความคอลัมน์ ชีวิตที่เลือกได้ เรื่อง กฟผ โดยคุณชัยอนันต์ สมุทวณิช ในนสพ. ผู้จัดการ เมื่...

Read more

27445 views
แม้ว่าในฉลากยา จะระบุให้ผู้ใช้ยาได้ทราบถึงวิธีใช้ยาและความถี่ของการใช้แล้วก็ตาม ...

Read more

11327 views
ถกกันอีกรอบกับประเด็น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เอกชนเตรียมรวมตัวกันในนาม 9 สมาคมฯ ขอรัฐแก้กฎหมาย...

Read more

15100 views
 ปัจจุบันนี้อาหารสำเร็จรูปเป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคมากขึ้น ฉลากโภชนาการเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ไ...

Read more

รู้ไว้ใช้สิทธิ์

IMAGE มหากาพย์ซิมฟรี แถมหนี้ไม่อั้น
“ได้รับแจกซิมฟรี แต่ไม่ได้เปิดใช้บริการ...
IMAGE อันตรายจากการหางานตามใบปลิว
เดี๋ยวนี้เวลาไปไหนมาไหน...
IMAGE สิทธิของผู้โดยสาร
ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนสิ่ง ที่ตามมาก็คือ...
IMAGE กฎหมายน่ารู้ผู้โดยสาร
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ