หลัง ถูกริเริ่มเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว Slow Food ก็กลายเป็นแนวความคิดเล็กๆ ที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก ในฐานะข้อเสนอของไลฟ์สไตล์ที่ตอบโต้กับวิถีชีวิตสมัยใหม่ ที่มี Fast Food เป็นตัวแทน
ในครั้งนั้น คาร์โล เปตรินี นักหนังสือพิมพ์ชาวอิตาเลียน ผู้ซึ่งชื่นชอบและให้ความสำคัญกับศิลปะการปรุงอาหาร ทั้งยังต้องการรักษาอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติไว้ ได้ลุกขึ้นมาเป็นตัวตั้งตัวตีรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ร่วมอุดมการณ์ เพื่อต่อต้านการคุกคามของ McDonald ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหารโลกที่มาเปิดสาขาในกรุงโรม เมื่อปี 1986
การรุกคืบของ McDonald สร้างความไม่พอใจแก่ชาวเมืองและผู้ต้องการอนุรักษ์ศิลปะการปรุงอาหาร เมื่อขบวนการ Slow Food ถูกตั้งขึ้นเป็นสมาคม โดยมีสัญลักษณ์เป็นรูปหอยทากตัวเล็กๆ ให้เป็นตัวแทนการเคลื่อนที่อย่างช้าๆ เพื่อชูคุณค่าของความละเมียดละไมในการใช้ชีวิต
จุดประสงค์หลักของสมาคม ก็เพื่ออนุรักษ์อาหารท้องถิ่น อาหารประจำชาติ และศิลปะการปรุงอาหารแบบดั้งเดิมที่กำลังถูกกลืนหาย ก่อนจะขยายตัวขึ้น เป็นขบวนการระดับสากล เริ่มจากกลุ่มประเทศ ในยุโป เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สเปน กรีซ ขยายตัวต่อไปยังแคนาดา สหรัฐอเมริกา แล้วข้ามมา ที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จนเข้ามายังเอเชีย โดยปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 60,000 คนจากห้าทวีป (กว่าครึ่งหนึ่งมาจากอิตาลี)
ล่าสุด มูลนิธิชีววิถี ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ชุมชนคนรักป่า และสถาบันต้นกล้า จัดงานเปิดตัวเครือข่าย Slow Food Thailand เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่โรงละครมะขามป้อม ย่านสุทธิสาร เพื่อหวังรณรงค์ประเด็นบริโภคนิยม โดยสร้างวัฒนธรรม Slow Food ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้นในสังคมไทย ซึ่งเท่ากับเป็นการกลับคืนสู่พื้นฐานเดิมที่คนไทยเคยกินอยู่ดั้งเดิมที่ใกล้ ชิดธรรมชาติ
กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการ มูลนิธิชีววิถี ซึ่งเป็นแกนหลักจัดตั้งเครือข่าย Slow Food Thailand เล่าถึงการรวมตัวครั้งนี้ว่ามาจากกลุ่มซึ่งทำงานด้านเกษตรกรรมในพื้นที่มา เป็นเวลานับสิบปี ซึ่งถือเป็นการทำงานกับฝ่ายผู้ผลิตเป็นหลัก และเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพูดคุยกับผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น
"เราได้มีโอกาสไปร่วมประชุมกับเครือข่าย Slow Food ที่อิตาลี ซึ่งมีสมาชิกจากหลายประเทศร่วมเป็นเครือข่าย เราจึงเข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยเป็นการแชร์หลักการ ประกอบด้วย Good Clean และ Fair ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งกระบวนการ ที่ผู้ผลิตสามารถอยู่ได้ และผู้บริโภคได้ประโยชน์ด้วย"
การทำงานของเครือข่ายมุ่งที่การณรงค์ใน 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้บริโภค และสื่อมวลชน โดยมีการเปิดรับอาสาสมัครผ่านทางเว็บไซต์ www.slowfoodthai.org และผ่านสื่อต่างๆ เพื่อที่ผู้สนใจแนวคิด Slow Food จะเข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร และได้ร่วมกันคิดวางแผนในการรณงค์เผยแพร่แนวคิดให้เป็นที่รับรู้และปฏิบัติ กว้างขวางต่อไป
ทั้งนี้ เบื้องต้น ทางเครือข่ายได้วางกิจกรรมที่เป็นการเผยแพร่ความรู้กับผู้บริโภค เช่น ในเดือนพฤษภาคมนี้ จะร่วมกับเครือข่ายเกษตรที่ อำเภอสะทิงพระ จังหวัดสงขลา เพื่อจัดเทศกาลอาการ Slow Food ซึ่งได้แก่อาหารที่ผลิตจากวิธีการธรรมชาติดั้งเดิมของท้องถิ่น
ส่วนในช่วงเทศกาลกินเจ ก่อนเดือนตุลาคม ก็จะให้เริ่มรณรงค์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับถั่วชนิดต่างๆ ที่สามารถรับประทานในช่วงเทศกาลเจ นอกจากถั่วเหลือง ซึ่งปัจจุบันเน้นการนำเข้า และมีปัญหาการปนเปื้อนจีเอ็มโอ
"ตอนนี้มีอาสาสมัครแล้ว 20 กว่าคน คงได้มาคุยกันว่าจะกระตุ้นสังคมในเรื่อง Slow Food ได้อย่างไร นอกเหนือจากเริ่มต้นที่การเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของตัวเองและคนใกล้ๆ ตัว เช่น การทำน้ำพริก ทำกับข้าวไปกินเอง และเริ่มชักชวนเพื่อนๆ ที่ทำงานก่อน"
กิ่งกร ยอมรับว่า วิถีของ Slow Food ดูจะเป็นการเพิ่มความยุ่งยากให้แก่การดำเนินชีวิต แต่ถ้ามองอีกมุม อาจเป็นเพราะที่ผ่านมา สังคมเมืองทำให้ทุกคนใช้ชีวิตรีบเร่ง และพลาดสิ่งดีๆ รวมถึงด้านอาหารการกิน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการผลิตทั้งระบบ
ดวงพร ทรงวิศวะ เจ้าของร้าน โบ ลาน ซึ่งเพิ่มสมัครเข้าเป็นสมาชิกเครือข่าย Slow Food Thailand เล่าว่า เธอเปิดร้านอาหารไทยชื่อ โบ ลาน ที่ซอยสุขุมวิท 26 เมื่อ 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยใช้แนวคิด Slow Food ซึ่งได้รู้จักเมื่อครั้งที่ไปศึกษาและทำงานที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อกลับมาทำธุรกิจร้านอาหารยังประเทศไทย และทราบเกี่ยวกับเครือข่าย Slow Food Thailand จึงมาสมัครเป็นสมาชิก
"ที่ร้านเน้นเรื่อง Bio-diversity พยายามใช้ผักพื้นบ้านที่มีความหลากหลาย แต่ก็หายากมาก ตอนนี้วิ่งตลาดเองทุกวัน ร้านเลยเปิดช่วงเย็น เพราะตอนกลางวันไปตลาด ตามล่าหาวัตถุดิบ ซึ่งเราใช้วัตถุดิบที่ไม่ผ่านกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรม เราคั้นกะทิเอง ตำน้ำพริกเอง พยายามทำทุกอย่างเอง ตอนนี้กำลังหาวิธีทำน้ำปลา ซึ่งมีคนเตือนว่ากลิ่นจะแรงมาก" ดวงพร เล่าด้วยเสียงสนุกสนานถึงความยากลำบากในการเปิดร้านแนว Slow Food
ซึ่งเธอยอมรับว่า นอกจากวิธีการของ Slow Food จะเพิ่มความยุ่งยากแล้ว การหาคนมาช่วยงานก็ไม่ง่าย
"หาคนทำครัวยาก คนไทยเองไม่อยากทำอาหารไทย ยิ่งต้องทำเองทุกอย่างแบบนี้ ไม่มีใครอยากทำ ซึ่งน่าสงสารอาหารไทยมาก ทั้งๆ ที่ถ้าพูดถึง Slow Food อาหารไทยถือว่าใช่เลย" ด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้ดวงพรมุ่งมั่นที่จะดำเนินแนวทาง Slow Food และหวังจะผลักดันแนวความคิดที่เป็นประโยชน์นี้ให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างต่อ ไป
ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
{mxc}