‘แจกเน็ต กสทช.’ ไม่ตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ ยืนยันลดค่าบริการให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์กว่า

news pic 14042020 freeinternetคอบช. วิจารณ์ ‘แจกเน็ต กสทช.’ ไม่ตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ ยืนยันลดค่าบริการให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์มากกว่า พร้อมชี้ การใช้เงินกองทุนต้องแจ้งรายละเอียดของมาตรการให้ชัดเจน

         ตามที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เล่นบทน้อยใจจนถึงระดับเสียกำลังใจในการดำเนินโครงการเพิ่มเน็ตมือถือและเพิ่มความเร็วเน็ตบ้าน ภายหลังจากที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ซึ่งนายฐากรระบุว่าโครงการมีที่มาจากความต้องการสนองนโยบายรัฐบาลที่ให้ประชาชนลดการออกจากบ้านเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ประกอบกับมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนการทำงานจากบ้าน โดยในการนี้ เลขาธิการ กสทช. ได้แจกแจงรายละเอียดของการดำเนินโครงการ จำนวน 5 ข้อ สรุปสาระสำคัญได้ว่า การที่ กสทช. จะจ่ายเงินให้แก่ค่ายมือถือ 100 บาทเป็นค่าเน็ตที่เพิ่มขึ้นจำนวน 10GB นั้น เป็นการจ่ายแทนประชาชนในราคาที่ต่ำมาก ซึ่งทำให้ค่ายมือถือมีรายได้ลดลงกว่า 4-5 เท่า จนค่ายมือถือไม่ยินยอมที่จะดำเนินการนาน 3 เดือนตามที่รัฐบาลและ กสทช. ขอไว้เดิม ส่วนข้อเสนอที่ว่าควรช่วยประชาชนด้วยการเลื่อนการชำระค่ามือถือนั้น นายฐากรระบุว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้มือถือแบบรายเดือนที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.4 เท่านั้น พร้อมกันนั้นก็ได้ยืนยันว่าโครงการมีการออกแบบโดยพิจารณาอย่างรอบคอบจากทุกมิติ คำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง และมั่นใจว่าจะดำเนินการด้วยความโปร่งใส

          ในการนี้ อนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) พิจารณาสิ่งที่นายฐากรชี้แจงแล้ว มีข้อสังเกตและข้อคิดเห็น ดังนี้

          1. ในการวิพากษ์วิจารณ์โครงการเพิ่มเน็ตมือถือและเพิ่มความเร็วเน็ตบ้าน ไม่ได้มีการแสดงความไม่เห็นด้วยหรือตั้งคำถามต่อประเด็นวัตถุประสงค์เรื่องการสนับสนุนนโยบายอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ แต่อย่างใด ข้อวิจารณ์ส่วนใหญ่มุ่งไปที่มาตรการหรือวิธีการเป็นหลัก พร้อมทั้งมีข้อเสนอทั้งระดับมาตรการที่ควรจะเป็นหรือมาตรการทดแทน ตลอดจนมาตรการที่เสริมมาตรการหลัก เพื่อเป็นการปิดช่องโหว่หรือเสริมศักยภาพของมาตรการเดิม

          2. เลขาธิการ กสทช. ชี้แจงโดยให้น้ำหนักสำคัญกับประเด็นผลประโยชน์ของผู้ให้บริการหรือค่ายมือถือที่จะต้องสูญเสียไปกับมาตรการนี้ ด้วยการย้ำหลายครั้งถึงรายได้ที่ลดลงและภาระของค่ายมือถือ จนอาจกล่าวได้ว่า หากข้อชี้แจงของเลขาธิการ กสทช. เชื่อถือได้ ประชาชนก็ควรที่จะต้องสำนึกบุญคุณต่อค่ายมือถือกันให้จงหนัก หากแต่เมื่อพิจารณาตามที่เลขาธิการ กสทช. ชี้แจง โดยสกัดแต่ข้อมูลหรือตัดดราม่ารวมถึงการชี้นำออกไป จะพบว่า เรื่องของรายได้ที่ลดลงและภาระที่ต้องแบกรับ แท้จริงตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ถ้าไม่มีการเพิ่มเน็ตโดยที่ กสทช. จ่ายเงินแทน ประชาชนต่างจะพากันซื้อแพ็คเกจเสริมเพิ่มเน็ตที่มีราคาระดับหลายร้อยบาท โดยจากตัวอย่างราคาแพ็คเกจที่มีการยกมาทำให้เห็นว่าสำหรับเน็ต 10GB ที่ใช้งานได้นาน 30 วันน่าจะมีราคาขายเกินกว่า 600 บาท ซึ่งเลขาธิการ กสทช. เลือกใช้ตรรกะที่ว่า เมื่อประชาชนไม่ต้องจ่ายเองก็เท่ากับได้ประโยชน์ไปเต็มๆ (ตามราคาที่ยกมา) ในขณะที่ด้านของค่ายมือถือก็เสียประโยชน์ตามส่วนต่างที่หายไป ซ้ำยังพยายามที่จะแปลความการขาดรายได้ให้เป็นเรื่องของภาระและการเสียประโยชน์ ทั้งที่จริงๆ อาจเป็นเพียงเรื่องของการเสียโอกาสและการไม่อาจทำกำไรตามคาด (ย้ำว่าตามคาดเท่านั้น มิใช่ตามควรหรือตามที่เป็นไปได้)

          3. การเทียบเคียงและการคิดเชื่อมโยงแบบง่ายๆ ของเลขาธิการ กสทช. ได้ละเลยข้อเท็จจริงจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น 1) การซื้อแพ็คเกจเน็ตเสริมคงไม่เกิดขึ้นเป็นการทั่วไปเช่นเดียวกับการให้กดรับเน็ตเพิ่มโดยไม่มีค่าใช้จ่าย 2) ความจำเป็นต้องใช้เน็ตเพิ่มของแต่ละคนย่อมแตกต่างหลากหลายทั้งปริมาณและระยะเวลา 3) อัตราค่าบริการในตลาดมีความหลากหลายและซับซ้อนมาก ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ ส่วนอัตราที่ยกมานั้นยังน่าสงสัยว่าเป็นตัวแทนหรือสะท้อนราคาในตลาดได้หรือไม่ 4) กสทช. คือ หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรคมนาคมด้วย

          หากเราอุปมาโครงการเพิ่มเน็ตมือถือของ กสทช. นี้ เหมือนการเหมาบุฟเฟ่ต์ชุดใหญ่ให้ประชาชนเข้าทานฟรี แม้ว่าบุฟเฟ่ต์ชุดใหญ่นี้เดิมตั้งราคาไว้สูง และ กสทช. ผู้เป็นเจ้าภาพตกลงจะจ่ายในราคาลดพิเศษ แต่ในการจ่ายนั้นก็จ่ายตามรายหัว ซึ่งจะมีเพิ่มมากกว่าภาวะปกติทั่วไป ราคาพิเศษดังกล่าวจึงเท่ากับเป็นราคาเหมาสำหรับการขายปริมาณมาก ซึ่งมิใช่ว่าทุกคนที่เข้ามาจะทานได้จุสมราคา จึงไม่สมเหตุสมผลเลยที่จะอ้างว่า เจ้าของร้านบุฟเฟ่ต์ต้องขาดทุนจากการขายบุฟเฟ่ต์ชุดใหญ่ในราคาลดพิเศษ เนื่องจากการขายได้ในปริมาณรายหัวที่มากมายมหาศาลอย่างไม่มีทางจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินี้อาจสร้างรายได้เพิ่มมากกว่าต้นทุนที่จะเกิดเพิ่มขึ้นก็ได้ ทั้งนี้ยังไม่นับว่า กสทช. ควรใส่ใจด้วยว่า ราคาค่าเน็ตที่ค่ายมือถือตั้งสำหรับแพ็คเกจต่างๆ นั้น สะท้อนต้นทุนแค่ไหนอย่างไรทั้งนี้ ต้นทุนหลักของบริการโทรคมนาคม คือ ค่าโครงข่าย การเพิ่มเน็ตให้กับประชาชนไม่น่าที่จะทำให้ต้นทุนของผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นสักเท่าไร

          อีกสิ่งหนึ่งที่ชวนพิศวงก็คือ หากผู้ให้บริการหรือค่ายมือถือต้อง “เสียประโยชน์” หรือมี “ภาระหนัก” จากมาตรการเพิ่มเน็ตของ กสทช. จริงๆ เหตุใดจึงไม่มีการเสนอมาตรการลักษณะอื่น หรือแม้แต่ กสทช. เอง เหตุใดจึงต้องยึดติดกับมาตรการนี้ ทั้งที่เห็นว่าเป็นการทำร้ายผู้ให้บริการ

          4. ข้อเสนอสำคัญจากฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ก็คือ การช่วยเหลือผู้บริโภคด้วยวิธีการลดค่าบริการในกรณี Postpaid หรือแบบรายเดือน และเติมเงินให้ในกรณี Prepaid หรือระบบเติมเงิน ซึ่งหาก กสทช. ชดเชยเงินให้ทั้งหมด มาตรการนี้ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการหรือค่ายมือถือแต่อย่างใด (ขณะเดียวกัน ค่ายมือถือก็ไม่ได้ช่วยเหลือหรือให้อะไรกับสังคมเลย) แต่มาตรการนี้จะส่งผลช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ กสทช. กลับมองข้ามข้อเสนอที่มาจากองค์กรผู้บริโภคนี้ไปแบบปิดตามิดชิด แล้วเลือกที่จะชี้แจงต่อข้อเสนอในประเด็นเรื่องเลื่อนการชำระเงินค่าบริการออกไป 2 – 3 เดือน ด้วยการบอกว่าเป็นข้อเสนอที่ผิดบริบท เนื่องจากผู้ใช้บริการมือถือส่วนใหญ่อยู่ในระบบเติมเงิน ดังนั้นผู้ได้รับประโยชน์จะเป็นคนส่วนน้อย นั่นคือ ผู้ใช้บริการรายเดือนที่มีเพียงร้อยละ 2.4 เท่านั้น ซึ่งตัวเลขดังกล่าวก็ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างมาก แท้จริงแล้ว สัดส่วนผู้ใช้บริการ Prepaid จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 - 30 ของผู้ใช้บริการทั้งหมด (อ่านที่มาของข้อมูลได้ที่ นี่) ทั้งนี้ จากรายงานของสำนักงาน กสทช. เอง ก็เคยมีการแสดงตัวเลขชัดเจนว่า สัดส่วนผู้ใช้บริการ Prepaid ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 มีร้อยละ 24.4 แต่ในขณะนี้ข้อมูลกลับหายไปจากเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช. แล้ว

          5. เลขาธิการ กสทช. ยังไม่ได้ตอบสนองหรือมีการชี้แจงใดๆ ต่อหลายๆ ข้อวิจารณ์และมาตรการที่มีการเสนอ เช่นประเด็นที่ว่าหากผู้ใช้บริการมีแพ็คเกจของตัวเองอยู่แล้วและยังมิได้ใช้เกินแพ็คเกจที่มี (ซึ่งตามปกติก็มักจะใช้กันไม่เกิน) เมื่อได้เน็ตเพิ่มอีก 10 GB อาจไม่สามารถใช้หมดภายใน 30 วันจึงควรที่จะสามารถทบเน็ตที่เหลือไปใช้ในเดือนต่อๆ ไปได้ หรือประเด็นเรื่องคุณภาพบริการที่ไม่ควรจะด้อยลง ไม่อย่างนั้นอาจเปรียบเหมือน กสทช. ซื้อตั๋วราคาถูกให้ประชาชนจำนวนมากไปขึ้นรถไฟฟ้าในชั่วโมงเร่งด่วน แล้วปล่อยให้ต้องเบียดเสียดกันไป ใครขึ้นได้ก็ขึ้น ขึ้นไม่ได้ก็ต้องรอ โดยที่ผู้ให้บริการไม่คิดที่จะเพิ่มขบวนรถให้เพียงพอหรือแม้แต่ประเด็นการขยายวันใช้งานออกไปให้แก่ผู้ใช้บริการแบบ Prepaid จนกว่าสภาวะโรคระบาดจะยุติ เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้อาจประสบปัญหาความลำบากหรือมีอุปสรรคในการเติมเงินเข้าระบบ ส่วนผู้ใช้บริการแบบ Postpaid ไม่จำเป็นต้องยืดระยะเวลาจ่ายบิลก็ได้ แต่ควรขยายขอบเขตการค้างชำระค่าบริการ จากที่กำหนดว่าค้างได้ไม่เกิน 2 รอบบิล ควรขอให้ค่ายมือถืออย่าเพิ่งไปบีบด้วยการตัดบริการ ซึ่งจะทำให้เดือดร้อนหนัก ควรผ่อนผันให้พ้นช่วงวิกฤตนี้ไปก่อน

          6. นอกจากนี้หาก กสทช. ให้ความสำคัญกับเรื่องความโปร่งใสจริงแล้ว อย่างน้อยในการประชาสัมพันธ์ก็ไม่ควรเรียกโครงการนี้ว่าเป็นการเพิ่มอินเตอร์เน็ตฟรี เนื่องจากความจริงมีการจ่ายเงินจากกองทุน ซึ่งเป็นการเสียโอกาสในการนำเงินไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะอื่นๆ รวมทั้งควรมีการเปิดเผยรายละเอียดของมาตรการให้ชัดเจน โดยเฉพาะข้อตกลงระหว่าง กสทช. กับผู้ให้บริการ ตลอดจนการแสดงฐานคิดที่ทำให้ตัดสินใจใช้วิธีการนี้ในการช่วยเหลือ เหตุใดจึงต้องสนับสนุนเน็ตในปริมาณ 10GB หรือได้มีการพิจารณาวิธีการอื่นเปรียบเทียบกันหรือไม่อย่างไร และภายหลังจากที่ดำเนินโครงการไปแล้ว ก็ควรเปิดเผยจำนวนเน็ตส่วนเพิ่มที่มีการใช้งานจริงด้วยว่ามีเท่าใด พร้อมทั้งประเมินเทียบความคุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้อุดหนุนไป

          7. ในเรื่องที่มีผู้บริโภคออกมาแห่ขอยกเลิกเน็ต ที่ กสทช. ให้สิทธิ์ในสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก หลังพบว่า เมื่อใช้แล้ว เน็ตไม่มีคุณภาพ หรือช้ากว่าเน็ตเดิม ทำให้ไม่ได้รับความสะดวก คอบช. ขอเสนอให้ กสทช. มีการประชาสัมพันธ์ แจ้งข้อมูลช่องทางให้สิทธิผู้บริโภคในการทำรายการยกเลิกที่ง่าย เหมือนเช่นตอนสมัคร และหากมีการใช้งานเน็ตไปแล้วบางส่วน ก็ไม่ควรจ่ายเงินให้ค่ายมือถือแบบเหมา ควรพิจารณาจ่ายตามการใช้งานจริง 

          และ 8. กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ควรตระหนักด้วยว่าโครงการนี้เป็นการใช้เงินสาธารณะ (งบประมาณของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ) จึงมิใช่การสงเคราะห์ที่ไม่จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบใดๆ ชนิดที่ว่า “ของฟรีไม่จำเป็นต้องมีคุณภาพ” ดังนั้น ควรควบคุมดูแลให้เน็ตที่เพิ่มให้ประชาชนนั้นมีคุณภาพด้วย และเร่งแก้ไขในเรื่องที่มีผู้บริโภคออกมาแห่ขอยกเลิกเน็ตที่ กสทช. ให้สิทธิ์ภายหลังจากที่ใช้แล้วพบว่าเน็ตช้ามาก ขณะเดียวกันก็ควรมีการประชาสัมพันธ์ แจ้งข้อมูลช่องทางการขอยกเลิกใช้สิทธิที่เข้าถึงได้ง่าย และไม่ควรที่จะนับกรณีเหล่านี้เป็นผู้ใช้สิทธิ์ นั่นคือ ไม่ควรต้องมีการจ่ายเงินให้แก่ค่ายมือถือสำหรับกลุ่มคนที่ขอคืนสิทธิ์เหล่านี้

Tags: กสทช. , คอบช. , มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, COVID-19, โควิด19, Covid19, โควิด-19, อินเทอร์เน็ต, อินเทอร์เน็ตฟรี, แจกเน็ต, ลดค่าบริการ

พิมพ์ อีเมล