กลุ่มผู้เสียหายจากการกู้สินเชื่อเพื่อซื้อสามล้อฯ โครงการ ‘สามล้อเอื้ออาทร’ และผู้เสียหายจากการกู้ยืมเงิน ‘สหกรณ์บริการจักรเพชร’ ทวงถามความคืบหน้าและเร่งรัดคดี กับ ‘สอบสวนกลาง’ ด้านทนายความฯ เผย รองผบช.ก. ได้ส่งสำนวนไปยัง ป.ป.ช. เพิ่มด้วย เนื่องจากพบเจ้าหน้าที่รัฐส่อทุจริต ส่วนหัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ชี้ โครงการของรัฐควรตรวจสอบให้ละเอียดทุกขั้นตอน เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเสียหายจากโครงการที่รัฐตั้งขึ้น
จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นำกลุ่มผู้เสียหายจากการกู้สินเชื่อเพื่อซื้อรถสามล้อเครื่องในโครงการ ‘สามล้อเอื้ออาทร’ ของรัฐ แจ้งความร้องทุกข์ต่อผู้บังคับการกองบังคับการปราบปราม และได้เสนอเรื่องต่อไปยังผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเพื่อพิจารณา จากนั้นจึงมีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 และภายหลังได้มีการสอบสวนผู้เสียหายฯ แต่ละราย รวมถึงตรวจสอบรถยนต์ตามข้อกล่าวหา แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใด ในการดำเนินการเรื่องนี้นั้น
ล่าสุด วันนี้ (20 ตุลาคม 2563) เวลาประมาณ 10.00 น. ที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) กลุ่มผู้เสียหายฯ และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เดินทางมาทวงถามความคืบหน้าคดี กับ พล.ต.ต.ปัญญา ปิ่นสุขรอง ผบช.ก. เพื่อให้เร่งรัดการดำเนินคดีดังกล่าวโดยเร่งด่วน
เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากเดิมที่ มพบ. มีการแจ้งความกับสหกรณ์บริการฯ ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนไป และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนไปกลับพบว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาร่วมมือฉ้อโกงประชาชนกับสหกรณ์บริการฯ ด้วย ทำให้ทาง บช.ก. จำเป็นต้องส่งสำนวนสอบสวนที่รวบรวมไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อฟ้องศาลต่อไป
ขณะที่ นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ตอนนี้สหกรณ์บริการฯ ได้ฟ้องกลับผู้เสียหายฯ ว่าแจ้งความเท็จ ซึ่งการกระทำดังกล่าวยิ่งทำให้ผู้เสียหายฯ ได้รับความเสียหายมากขึ้นไปอีกจากการถูกฟ้องกลับเป็นคดีอาญา (การฟ้องร้องเพื่อให้อีกฝ่ายถูกจำคุก หรือ รับโทษอื่นๆ ในทางอาญา เช่น ให้ปรับ) ดังนั้น เพื่อให้ผู้เสียหายฯ ได้รับความเป็นธรรมและไม่ถูกเอาเปรียบไปมากกว่านี้ อีกทั้งยังเพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ได้รับความเสียหายจากสหกรณ์บริการฯ แห่งนี้อีก จึงอยากฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานให้ช่วยเร่งรัดการดำเนินคดีให้โดยด่วน ทั้ง บช.ก. ในเรื่องการดำเนินการเรื่องคดี ป.ป.ช. ให้ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินการของสหกรณ์บริการฯ ที่ยังดำเนินการอยู่ และอาจทำให้มีผู้หลงเชื่อและถูกหลอกลวงอีกได้ รวมถึงช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายฯ ที่มีเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังต้องการฝากถึงกรมส่งเสริมสหกรณ์ฯ ให้มีการตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมายสูงสุดของกรมส่งเสริมฯ กับสหกรณ์บริการฯ เพื่อเป็นการช่วยทั้งผู้ที่ได้รับความเสียหายฯ ไปแล้ว รวมถึงประชาชนที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์บริการฯ ดังกล่าวไม่ให้ได้รับผลกระทบในอนาคตต่อไป
“ฝากถึงหน่วยงานรัฐในการจัดทำโครงการต่างๆ ที่จะมาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ควรมีการตรวจสอบทุกขั้นตอนไปจนสิ้นสุดโครงการนั้นๆ เพื่อป้องกันการนำช่องโครงการช่วยเหลือเหล่านี้มาฉกฉวยโอกาสเอาเปรียบประชาชน และเพื่อให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลืออย่างจริงจัง ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยจนกลายเป็นว่าประชาชนได้รับความเสียหายจากโครงการที่รัฐตั้งขึ้น” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 2 ตุลาคม 2561 :: กลุ่มตุ๊กตุ๊กกว่า 40 ราย ร้อง มพบ. เหตุถูกฟ้องคดีไม่เป็นธรรม
- 13 พฤศจิกายน 2561 :: มพบ. เผย ‘โครงการสามล้อเอื้ออาทร’ อาจเข้าข่ายฉ้อโกง เหตุสัญญาซื้อรถพิสดาร พร้อมเป็นตัวแทนนำผู้เสียหายร้องกองปราบฯ 19 พ.ย. นี้
- 19 พฤศจิกายน 2561 :: มพบ. ร้องกองปราบฯ คดีฉ้อโกง ‘ตุ๊กตุ๊ก’ กว่า 100 ราย
- 27 พฤศจิกายน 2561 :: 'ออมสิน' รับปากยื่นขอชะลอการฟ้องและบังคับคดี 'ตุ๊กตุ๊ก' พร้อมนัดฟังคำตอบ 15 ม.ค. 62
- 15 มกราคม 2562 :: 'ออมสิน' รับข้อเสนอ 'มพบ.' ให้กลุ่มผู้เสียหายจ่ายหนี้ตามจริง
- 26 มิถุนายน 2562 :: 'กลุ่มตุ๊กตุ๊กเอื้ออาทร' บุก บช.ก. และ สตช. ถามความคืบหน้าคดี
- 28 สิงหาคม 2562 :: ใกล้จบ! ออมสิน รับปาก ให้กลุ่มผู้เสียหายตุ๊กตุ๊กจ่ายหนี้ตามจริง
- 15 กันยายน 2563 :: มพบ. และกลุ่มตุ๊กตุ๊ก ยื่นหนังสือ ขนส่งฯ ถามความจริง 'โครงการสามล้อเอื้ออาทร'