มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สะท้อนปัญหา ‘ผิดนัดชำระหนี้’ พุ่งสูง จากพิษโควิด - 19 เสนอ ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้

news pic 21012021 fairfinance cover

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สะท้อนปัญหา ‘ผิดนัดชำระหนี้’ พุ่งสูง จากเศรษฐกิจช่วงโควิด - 19 พร้อมเสนอ ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และจัดการกับสินเชื่อผิดกฎหมาย ด้าน Fair Finance Thailand เผยผลประเมิน ‘ธนาคารไทยจริงใจแค่ไหน ปี 3’ จากตัวชี้วัด 13 หัวข้อ

          จากการที่แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมแห่งประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ได้ทำการประเมินธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ด้วยความตั้งใจที่จะร่วมกันผลักดันภาคธนาคารไทยให้ก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ “การธนาคารที่ยั่งยืน” (sustainable banking) นั้น

          วานนี้ (21 มกราคม 2564) นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวในช่วงเสวนา ‘วิกฤติหนี้ครัวเรือนหลัง Covid-19 ความท้าทายของธนาคารในการคุ้มครองผู้บริโภค’ ว่า สำหรับ ปัญหาผู้บริโภคที่มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามาในด้านการเงินการธนาคาร โดยเฉพาะช่วงโควิด - 19 พบปัญหาเรื่องหนี้สินในประเด็นที่หลากหลาย อาทิ เรื่องการผิดนัดชำระหนี้ เรื่องการฟ้องคดี รวมถึงเรื่องการถูกทวงถามหนี้ที่ผิดกฎหมาย ในส่วนของเรื่องการผิดนัดชำระหนี้นั้น ผู้บริโภคมักจะเข้ามาขอคำปรึกษาหรือขอความรู้เรื่องการจัดการกับปัญหาหนี้ของตัวเองจากปัญหาเศรษฐกิจจนไม่สามารถจัดการชำระหนี้ได้ และตามมาด้วยการถูกฟ้องคดีจากการผิดชำระหนี้ ซึ่งจากสถิติเรื่องร้องเรียน ธุรกิจที่มีการฟ้องคดีที่สุด คือ ธุรกิจเช่าซื้อรถ บางรายถูกยึดรถไปแล้วและมาเจอการฟ้องเรื่องส่วนต่าง บางรายนำรถไปคืนก็ยังเจอปัญหาเรื่องส่วนต่างอยู่ ไม่เพียงแต่เรื่องผู้เช่าซื้อถูกฟ้องคดี แต่ผู้ค้ำประกันบางรายก็ถูกฟ้องคดีด้วยเช่นกัน

          อย่างไรก็ตาม การฟ้องคดีเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งที่นโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลพยายามขอความร่วมมือจากผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อให้มีการช่วยเหลือลูกหนี้ แต่ยังพบปัญหาจากการถูกทวงหนี้และติดตามหนี้ ซึ่งบางรายไม่มีความสามารถในการชำระหนี้จึงไปเจรจาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่ธนาคารกลับบอกว่าไม่มีนโยบายดังกล่าว

          “ยังพบปัญหาที่ธุรกิจจำนำทะเบียนรถไม่ส่งมอบสัญญาและลูกหนี้ที่เข้ามาร้องเรียนไม่ทราบว่าตัวเองมีหนี้สินอยู่กับเจ้าหนี้เท่าไร โดยลักษณะของธุรกิจลักษณะนี้เป็นธุรกิจ Non - Bank หรือผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน รวมถึงมีลักษณะที่ไม่ถูกกฎหมาย ไม่มีการแนบเอกสารตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยสัญญาของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น รายละเอียดในสัญญาไม่มีดอกเบี้ย หรือ ข้อมูลของสัญญาที่ไม่ชัดเจน เป็นต้น รวมไปถึงการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งมีการคิดดอกเบี้ยสูงเกินจริงและผิดกฎหมาย และสิ่งที่ตามมานอกเหนือจากนั้น คือ ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคที่สมัครผ่านแอปฯ กู้เงินถูกเข้าถึงได้อย่างง่ายดายอีกด้วย” นฤมล กล่าว

          ทั้งนี้ ปัญหาข้างต้นเสียงสะท้อนของผู้บริโภคที่สะท้อนว่ายังมีปัญหาในลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องการสะท้อนธนาคารแห่งประเทศไทย คือ หนึ่ง ขอให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย สอง ขอให้ออกมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์โควิด - 19 และเศรษฐกิจจะยังชะลอตัวไปอีกในช่วงดังกล่าว สาม ขอให้มีมาตรการจัดการกับธุรกิจการปล่อยสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันที่ผิดกฎหมาย และสุดท้าย ขอให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้โดยไม่ต้องรอให้เป็นลูกหนี้ NPL

news pic 21012021 fairfinance 2

          ด้านสฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมแห่งประเทศไทย (Fair Finance Thailand) กล่าวว่า ผลการประเมินธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ในหัวข้อ ‘ธนาคารไทยจริงจังแค่ไหน ปี 3’ ได้นำเอาเกณฑ์ประเมิน Fair Finance Guide Methodology ฉบับปรับปรุง ค.ศ. 2020 มาใช้ในการประเมินนโยบายด้านต่าง ๆ ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เปิดเผยสู่สาธารณะ 8 แห่ง (ลดลงจาก 9 แห่งใน 2 ปีแรก เนื่องจากธนาคารธนชาตอยู่ระหว่างการควบรวมกับธนาคารทหารไทย) ใช้เวลารวม 6 เดือน ตั้งแต่สิงหาคม พ.ศ. 2563 - มกราคม พ.ศ. 2564 โดยมีหัวข้อประเมิน คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การทุจริตคอร์รัปชัน, ความเท่าเทียมทางเพศ, สิทธิมนุษยชน, สิทธิแรงงาน, ธรรมชาติ, ภาษี, อาวุธ, การคุ้มครองผู้บริโภค, การขยายบริการ, ทางการเงิน, การตอบแทน, ความโปร่งใสและความรับผิด และ สุขภาพ ซึ่งเป็นหมวดใหม่ที่นำเข้ามาประเมินร่วมด้วย รวมเป็นทั้งหมด 13 หัวข้อประเมิน รวมถึงยังมีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์และเพิ่มองค์ประกอบใหม่ในหัวข้อเดิมอีกด้วย

          ธนาคารได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับ (คะแนนรวมคิดเป็นร้อยละ 100) โดยธนาคารทหารไทย ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง คือ ร้อยละ 38.86 อันดับสอง คือ ธนาคารกรุงไทย ได้คะแนน 22.4 อันดับสาม คือ ธนาคารกรุงเทพ ได้คะแนน ร้อยละ 21.82 อันดับสี่ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้คะแนน ร้อยละ 21.15 อันดับห้า คือ ธนาคารกสิกรไทย ได้คะแนน ร้อยละ 20.6 อันดับหก คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้คะแนน ร้อยละ 16.87 อันดับเจ็ด คือ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ได้คะแนนร้อยละ 16.06 และอันดับแปด คือ ธนาคารทิสโก้ ได้คะแนน ร้อยละ15.86 ในภาพรวมคิดเป็นค่าเฉลี่ยร้อยละ 21.7

          “เหตุผลที่เราต้องสนใจการประเมินธนาคาร เพราะธนาคารถือเป็นผู้รวบรวมเงินฝากของเราและผู้คนจำนวนมหาศาล แต่เรากลับแทบไม่รู้เลยว่าธนาคารนำเงินฝากของเราไปลงทุนสนับสนุนในโครงการหรือธุรกิจอะไรบ้าง หากธนาคารลงทุนกับโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ลงทุนในโครงการที่สร้างมลพิษทางน้ำและอากาศ ไม่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพของผู้คนในชุมชน หรือมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในโครงการ ก็อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการบริหารธุรกิจ ส่งผลเสียต่อผลกำไรและชื่อเสียง และอาจสร้างผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก รวมถึงเราและเงินฝากของเราเอง” สฤณี กล่าว

สามารถเข้าไปดูผลการประเมินฉบับเต็ม ได้ที่ https://fairfinancethailand.org/news/2021/thai-banks-score-2020/
และสามารถรับชมเฟซบุ๊กไลฟ์ย้อนหลัง ได้ที่ https://web.facebook.com/FairFinanceThailand/videos/883607122389426

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, การเงินการธนาคาร, Fair Finance Thailand, ผู้บริโภค, โควิด19, โควิด-19, หนี้, ปัญหาผู้บริโภค, ธนาคารพาณิชย์, หนี้ครัวเรือน, พิษโควิด, โควิด, ธนาคารแห่งประเทศไทย, แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมแห่งประเทศไทย

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน