มพบ. จี้ คปภ. เร่งลดความเหลื่อมล้ำ ย้ำผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถทัวร์ชนรถไฟต้องได้รับสิทธิคุ้มครองเต็มวงเงินประกันภัย

bus law

จากกรณีอุบัติเหตุรถไฟขนส่งสินค้าชนกับรถบัสคณะกฐินของพนักงานโรงงานเพอร์เฟค จังหวัดสมุทรปราการ บริเวณจุดตัดทางข้าม (จุดลักผ่าน) สถานีรถไฟคลองแขวงกลั่นที่ไม่มีเครื่องกั้นถนนข้ามทาง ตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2563 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 18 ศพ และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

ปัญหาอุบัติเหตุรถไฟชนรถบัสบริเวณแบบนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก เป็นบทเรียนซ้ำซากบนความสูญเสียที่ควรต้องป้องกันได้ ทั้งที่เป็นบริการขนส่งมวลชนที่รัฐต้องกำกับดูแลเรื่องคุณภาพบริการและมาตรฐานความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคที่ใช้บริการ สะท้อนถึงความรับผิดชอบในระบบการจัดการและการป้องกันที่ขาดประสิทธิภาพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมการขนส่งทางบก ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ที่มีจุดตัดทางข้ามหรือทางลักผ่านในพื้นที่ รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะที่ประมาทเลินเล่อ ขาดความคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ใช้บริการ

นอกจากนี้ผลจากอุบัติเหตุยังพบปัญหาการชดเชยค่าสินไหมทดแทนที่ไม่เป็นธรรม แม้ว่ารถโดยสารไม่ประจำทางคันเกิดเหตุจะทำ พ.ร.บ.รถ หรือประกันภัยภาคบังคับและประกันภัยภาคสมัครใจ ที่มีวงเงินคุ้มครองของทั้งสองกรมธรรม์ กรณีผู้เสียชีวิตไว้กรมธรรม์ละ 500,000 บาทต่อราย (ค่าเสียหายรวมกันไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อครั้ง) แต่เมื่อเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทำให้วงเงินความคุ้มครองประกันภัยทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจตามสิทธิต่อรายต่อครั้งไม่เพียงพอ จึงต้องใช้หลักเฉลี่ยจ่ายค่าสินไหมทดแทน ทำให้ผู้เสียชีวิตได้รับเงินชดเชยจาก พ.ร.บ.รถ หรือประกันภัยภาคบังคับเพียง 311,551.72 บาท และประกันภัยภาคสมัครใจเพียง 361,551.72 บาท รวมทั้งสองกรมธรรม์เป็นเงิน 673,103.44 บาท เท่านั้น แทนที่ควรต้องได้รับสิทธิกรณีเสียชีวิตอย่างน้อยจากทั้งสองกรมธรรม์เป็นเงินจำนวนรวม 1,000,000 บาท ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาระบบการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่ไม่เป็นธรรมตามสิทธิที่ผู้บริโภคควรได้รับตามกฎหมาย
จากปัญหาที่เกิดขึ้น มูลนิธิเพื่อบริโภคจึงมีข้อเสนอที่สำคัญต่อการแก้ไขปัญหาเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้อย่างปลอดภัย และยกระดับมาตรฐานการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสมเป็นธรรม ดังนี้

1. คปภ. และ กรมการขนส่งทางบก ควรต้องพิจารณาแนวทางปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองประกันภัยสำหรับรถโดยสารขนาดใหญ่ให้สอดคล้องกับหลักการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามเกณฑ์การจ่ายของประกันภัยภาคบังคับและภาคสมัครใจในปัจจุบัน ที่มีเกณฑ์จ่ายกรณีเสียชีวิตรายละ 500,000 บาท โดยเพิ่มความคุ้มครองจาก 10 ล้านบาทต่อครั้ง เป็น 20 ล้านบาทต่อครั้ง เพื่อเป็นหลักประกันความเสี่ยง และให้ความคุ้มครองให้กับผู้บริโภคที่ใช้บริการเต็มตามสิทธิโดยไม่ต้องถูกละเมิดสิทธิซ้ำจากการถูกเฉลี่ยค่าสินไหมทดแทนที่ไม่เป็นธรรม
2. กรณีชดเชยเยียวยาตามสิทธิจากประกันภัยภาคบังคับและภาคสมัครใจ ควรจ่ายให้ผู้บาดเจ็บและทายาทผู้เสียชีวิตเต็มวงเงินความคุ้มครองกรณีค่ารักษาพยาบาลและค่าสินไหมทดแทน ก่อนที่จะแบ่งส่วนจ่ายค่าเสียหายอื่น ๆ เช่น ค่าซ่อมรถคันเกิดเหตุ เนื่องจากผู้โดยสารเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายและไม่ได้มีส่วนกระทำความผิดจึงสมควรต้องได้รับการชดเชยเยียวยาเป็นลำดับแรก

Tags: รถโดยสาธารณะปลอดภัย

พิมพ์ อีเมล