หนุนผู้ตรวจการแผ่นดิน สอบคิดค่าโดยสาร 'สถานีผี' เอาเปรียบผู้บริโภค เสนอ ‘กรมราง’ คุมค่าโดยสารไม่เกิน 5% ของรายได้ขั้นต่ำ

news pic 12052020 BTSGhostStations

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สนับสนุนผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบการคิด ‘ค่าโดยสาร BTS’ กรณีแพงเกินจริงจากการนำสถานีที่ไม่มีจริงมาคิดร่วมด้วย ชี้ เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค พร้อมเร่ง กรมขนส่งทางราง บังคับให้บริษัทฯ ยกเลิกการคิดค่าโดยสารจากสถานีที่ไม่มีจริง รวมทั้งคุมราคาให้เป็นธรรมเหมือน ตปท. โดยคิดค่าโดยสารไม่เกิน 5% ของรายได้ขั้นต่ำ เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้บริการนี้ได้

              จากการที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ออกมาเปิดเผยถึงการพิจารณาข้อร้องเรียนของประชาชน กรณี ‘การคิดอัตราค่าโดยสารแพงเกินจริงของรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS)’ ที่มีการคิดค่าโดยสารรวมกับสถานีในอนาคตที่ยังไม่ก่อสร้าง 2 สถานี มาเป็นเวลานานแล้ว ได้แก่ สถานีเสนาร่วม (อยู่ระหว่าง สถานีสะพานควาย กับ สถานีอารีย์) และสถานีศึกษาวิทยา (อยู่ระหว่าง สถานีสุรศักดิ์ กับ สถานีช่องนนทรี) อีกทั้งจากการตรวจสอบของผู้ตรวจการแผ่นดิน พบว่า กรณีดังกล่าวมีข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการ ต่อมาทางบีทีเอสได้ออกมาชี้แจงการคิดอัตราค่าโดยสารว่าเป็นการคิดตามระยะทางรวมกับจำนวนสถานี และในข้อเท็จจริงมีสถานีในอนาคตที่ไม่สามารถใช้บริการได้ถูกคิดค่าโดยสารรวมไปด้วยนั้น

          วันนี้ (12 พฤษภาคม 2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้มีการติดตามอย่างเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง พบว่า นับตั้งแต่ BTS เปิดให้บริการกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคจะต้องเจอกับราคาค่าโดยสารที่แพงอย่างต่อเนื่อง หากลองคิดคำนวณ (ตามภาพประกอบ) จะพบว่า เราไม่สามารถเดินทางไปสถานีสุรศักดิ์ S5 ได้ในราคา 30 บาท (ราคาที่เท่ากับสถานีอโศก E4) ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วสถานีสุรศักดิ์ควรเป็น S4 และราคาค่าโดยสารควรเป็น 30 บาท เพราะในตอนนี้ยังไม่มีการสร้างสถานีศึกษาวิทยาขึ้น ดังนั้น การที่ BTS นำชื่อสถานีที่ยังไม่มีการก่อสร้างจริงมาอยู่ในระบบคิดค่าโดยสาร จึงถือเป็นการเอาเปรียบผู้โดยสารอย่างชัดเจน และยังเป็นการผลักภาระให้กับผู้โดยสารnews pic 12052020 BTSGhostStations 2

         หลักการคำนวณค่าโดยสาร BTS

สถานีต้นทาง 16 | … | สถานีที่ 1 (16) | … | สถานีที่ 2 (+7) = 23 | … | สถานีที่ 3 (+3) = 26 | … | สถานีที่ 4 (+3) = 30 | … | สถานีที่ 5 (+3) = 33 | … | สถานีที่ 6 (+4) = 37 | … | สถานีที่ 7 (+3) = 40 | … | สถานีที่ 8 (+4) = 44 | … | (คิดอัตรา 44 บาท ตลอดเส้นทางเก่า) | … | สถานีส่วนต่อขยาย (+15) = ราคาสถานีสุดท้ายในเส้นทางเก่า + สถานีส่วนต่อขยาย 10 บาท

          สถานการณ์ตัวอย่าง

          นาย ก พักอาศัยอยู่ย่านสะพานควายเขาต้องนั่ง BTS จากสถานีสะพานควาย ไปทำงานที่ สถานีอารีย์ ทุกวัน เขาต้องเสียเงินค่า BTS ไปกลับรวมวันละ 46 บาท [ ขาไป (16+7* = 23) + ขากลับ (16+7* = 23) ] แทนที่จะเป็น 32 บาท [ ขาไป (16) + ขากลับ (16) ] เขาต้องเสียส่วนต่างให้กับ BTS ถึงวันละ 14 บาท ในหนึ่งเดือนเขาต้องเสียส่วนต่างถึง 280 บาท และใน 1 ปี เขาต้องเสียส่วนต่าง 3,360 บาท ให้กับสถานีที่ยังไม่ได้สร้าง ( * 7 บาท คือ ค่าเดินทางผ่านสถานีเสนาร่วม ที่ถูกคิดเป็นสถานีที่ 1 และ สถานีอารีย์เป็นสถานีที่ 2 )

          นี่จึงเป็นอีกเรื่องที่เราทุกคนต้องออกมาเรียกร้อง เพราะเรากำลังถูก BTS เอาเปรียบเก็บค่าโดยสารในสถานีที่ไม่มีอยู่จริง ทำให้ค่าโดยสารที่เราต้องจ่ายแพงกว่าความเป็นจริง ทั้งที่บริการรถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนสาธารณะขั้นพื้นฐานที่เราทุกคนควรเข้าถึงได้ในราคาที่เป็นธรรม คู่สัญญา คือ กรุงเทพมหานคร ควรต้องเข้ามากำกับดูแล แต่เห็นได้ว่าหลายปีที่ผ่านมา กทม. กลับนิ่งเฉย ไม่รักษาผลประโยชน์ของประชาชน

          อย่างไรก็ตาม มพบ. จะคอยติดตาม และ สนับสนุนผู้ตรวจการแผ่นดินในการเดินหน้าในเรื่องนี้ อีกทั้งเรียกร้องให้กรมขนส่งทางราง มีการบังคับบริษัทฯ ให้ยกเลิกการคิดราคาค่าโดยสารจากสถานีที่ไม่มีจริง และ ทำให้ราคาเป็นธรรม เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้รถไฟฟ้าได้ เหมือนกับในต่างประเทศที่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าคิดเป็นค่าใช้จ่ายเพียงร้อยละ 5 ของรายได้ขั้นต่ำ นอกจากนี้ขอให้ กทม. เร่งทบทวนการคิดคำนวณอัตราค่าโดยสารใหม่ โดยยกเลิกการคิดค่าโดยสารของสถานีที่ไม่สร้างจริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนมากที่สุด

Tags: รถไฟฟ้า, BTS , มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, บีทีเอส, สถานีผี, เสนาร่วม, ศึกษาวิทยา, ค่าโดยสาร, สถานีบีทีเอส

พิมพ์ อีเมล