มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคลุ้นศาลรับหรือไม่รับ หลังยื่นฟ้องคดีเจ้าหน้าที่ของรัฐประพฤติมิชอบในการแบ่งแยกทรัพย์สินกรณีปตท. ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550
12 มิถุนายน 2561 กรุงเทพฯ - นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) แถลงข่าวในนามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่า มูลนิธิฯ ได้มีมติคณะกรรมการมูลนิธิฯ ให้ฟ้องคดีเจ้าหน้าที่ของรัฐและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ข้อหาประพฤติมิชอบในการแบ่งแยกทรัพย์สินของปตท. ต่อศาลอาญา
คดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 และศาลได้นัดฟังคำตัดสินว่าจะรับเป็นคดีหรือไม่ ในวันที่ 19 มิถุนายน 2561 “ต้องมาร่วมลุ้นคำตัดสินด้วยกัน ว่าจะเป็นอย่างไร”
ด้วยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเคยเป็นผู้ฟ้องคดีปกครองเรื่อง พิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีการ่วมกับ นางสาวรสนา โตสิตระกูล นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน นางสาวภินันท์ โชติรสเศรณี และนางสาวบุญยืน ศิริธรรม
ต่อผู้ถูกฟ้องคดี 4 ราย คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นคดีหมายเลขคำสั่งที่ ฟ.47/2549 และศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550
ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 รายละเอียดปรากฏตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
ต่อมา วันที่ 18 ธันวาคม 2550 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ มอบหมายให้
1. กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง รับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว
2. ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของการแบ่งแยกทรัพย์สินดังกล่าว
3. หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป”
วันที่ 2 เมษายน 2558 มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับนางสาวรสนา โตสิตระกูล และนางสาวบุญยืน ศิริธรรม ยื่นคำร้องขอให้ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตรวจสอบว่า มีการปฏิบัติหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550
ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ โดยคตง. มีมติเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มีการแบ่งแยกทรัพย์สินสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด หมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 และมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายไม่น้อยกว่า 32,613.45 ล้านบาท (เป็นมูลค่าท่อส่งก๊าซธรรมชาติทางทะเลและทางบกบางส่วนจากมูลค่าทรัพย์สินที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง) และเนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งมิได้ถูกโอนให้แก่รัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 ทำให้รัฐขาดรายได้จากค่าใช้ทรัพย์สิน ซึ่งถือเป็น
ความเสียหายอีกส่วนหนึ่ง โดยเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการเสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สิน ประกอบกับคณะรัฐมนตรี, นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 3 ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด มิได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาและแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินออกจากทรัพย์สินของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และการเสนอรายงานสรุป
การดำเนินการตามคำพิพากษาของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) วันที่ 25 ธันวาคม 2551 โดยแจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสำคัญและปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่ต้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด รายละเอียดปรากฏตามข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
นับตั้งแต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ร่วมดำเนินการติดตามทวงถามการปฏิบัติตามคำพิพากษามาโดยตลอดร่วมกับผู้ฟ้องคดีและเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน ซึ่งเป็นระยะเวลาล่วงเลยมากว่า 10 ปี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงตระหนักถึงความจำเป็นในการฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อคืน
ความชอบธรรมต่อผู้บริโภคจำนวน 65 ล้านคนซึ่งเป็นประชาชนไทย ซึ่งได้รับความเสียหายต่อการประพฤติมิชอบในการคืนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าว