นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ผู้ประกอบการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญต้องขอใบอนุญาตติดตั้ง เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน พร้อมเสนอหน่วยงานให้หมั่นตรวจสอบคุณภาพสม่ำเสมอ
จากการสุ่มสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 18 เขต จำนวน 855 ตู้ เมื่อปี พ.ศ. 2558 โดยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร พบว่า กว่าร้อยละ 90 ของผู้ประกอบการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่มีการขออนุญาตประกอบกิจการ และสถานที่ตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังไม่เหมาะสมนั้น
นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในปี 2560 เครือข่ายฯ ได้ทำการสำรวจตู้นำดื่มหยอดเหรียญซ้ำ โดยดำเนินการในกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต แต่กลับพบว่า ปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังคงไม่ได้รับการแก้ไข เพราะยังคงมีตู้น้ำดื่มจำนวนมากที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ ดังนั้น สำหรับผู้ประกอบการที่มีกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ หรือวางแผนจะเป็นเจ้าของตู้น้ำดื่ม ต้องขอใบอนุญาตให้ถูกต้อง เพราะตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ภายใต้กฎกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ ‘การผลิตน้ำกลั่น น้ำบริโภค’ เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535
“หากเจ้าของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญขอใบอนุญาตติดตั้งแล้ว จะมีใบอนุญาต และสติ๊กเกอร์แสดงวันที่เปลี่ยนไส้กรองแปะอยู่บน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถทราบได้ว่าตู้น้ำดื่มดังกล่าวนั้นผ่านการตรวจสอบคุณภาพของน้ำและเปลี่ยนไส้กรองอยู่เสมอ แต่หากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่มีใบอนุญาติแปะไว้ แสดงว่าเป็นตู้ที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการขออนุญาตที่ถูกต้อง ทำให้ต้องถูกระงับไม่ให้มีการใช้ตู้ รวมทั้งยังต้องถูกยึดตู้น้ำดื่มไว้จนกว่าจะมีการขออนุญาตติดตั้ง” นางสาวมลฤดีกล่าว
นางสาวมลฤดี กล่าวอีกว่า การดื่มน้ำที่ไม่สะอาดจะส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร จนอาจทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง โรคระบบทางเดินอาหาร โรคบิด และโรคไทฟอยด์ได้ อีกทั้งข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกเมื่อปี 2558 ยังพบว่าประชากรโลกเสียชีวิตจากการดื่มน้ำไม่สะอาด ปีละ 5 แสนคน นอกจากนี้ วิธีการสังเกตว่าน้ำดื่มนั้นสะอาดหรือไม่ ควรดมว่ามีกลิ่นหรือไม่ หรือน้ำมีสีขุ่น มีตะกอน ตะใคร้หรือไม่ หากมีแสดงว่าน้ำไม่สะอาดและไม่ควรนำมาดื่ม แต่ทั้งนี้ควรตรวจสอบภาชนะที่นำมาใส่น้ำด้วยว่าสะอาดหรือไม่ด้วยเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมีการจัดการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอย่างถูกต้อง ด้วยการให้ผู้ประกอบการขออนุญาตติดตั้ง รวมทั้งควรเข้ามาตรวจสอบและเปลี่ยนไส้กรองเสมอๆ เพื่อที่จะได้ไม่มีผู้ได้รับผลกระทบจากการดื่มน้ำจากการใช้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ
ติดตาม Facebook LIVE ปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเถื่อน ได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค