ฟ้องคดีผู้บริโภคไม่ต้องใช้ทนาย...ทำได้จริง!

news pic 14042020 goldshopprosecute 01 resize

ฟ้องคดีผู้บริโภคไม่ต้องใช้ทนาย : กรณีตัวอย่าง ฟ้องร้านทองเอาเปรียบ รับซื้อทองราคาต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด

          หลายคนมักมีความเชื่อว่า การฟ้องศาลเป็นเรื่องยุ่งยาก ต้องใช้เงินเยอะ  แถมใช้เวลานาน  ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นความจริง แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กฎหมายก็ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น  นั้นคือ “พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551” โดยจุดเด่นของกฎหมายฉบับนี้ คือ ช่วยให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีได้เอง กล่าวคือ เมื่อถูกละเมิดสิทธิ สามารถเอาหลักฐานที่มีไปศาล ฟ้องด้วยวาจาได้ ไม่จำเป็นต้องมีทนาย ซึ่งจะมีเจ้าพนักงานคดีเป็นผู้ทำบันทึกรายละเอียดของคำฟ้อง จากนั้นให้ผู้บริโภคในฐานะโจทก์ลงลายมือชื่อรับรอง ซึ่งโจทก์จะมีการยื่นหลักฐานพยานแนบมาพร้อมคำฟ้องด้วย เช่น หนังสือรับรองบริษัท เอกสารเกี่ยวกับสัญญา ใบเสร็จ ภาพแคปเจอร์จากแชทสนทนา ภาพรูปถ่ายสินค้า ภาพคำสัญญาหรือเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

          นอกจากนี้ ยังมีข้อดีอีกหลายประการ เช่น ผู้บริโภคยังได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องคดี ผ่อนคลายเรื่องหลักฐานเป็นหนังสือ อายุความยาวกว่าคดีแพ่งทั่วไป ไม่เคร่งครัดกระบวนการพิจารณา ภาระการพิสูจน์เป็นของผู้ประกอบการศาลพิพากษาเกินคำขอได้ เป็นต้น

ทำได้จริง ตัวอย่างฟ้องร้านทองเอาเปรียบ รับซื้อทองราคาต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด

แม้เราจะทำความเข้าใจกฎหมายบ้างแล้ว เห็นข้อดีหลายอย่าง หลายคนคงอยากทราบว่าแล้วเคยมีใครไปฟ้องคดีเองบ้าง จึงขอยกตัวอย่างกรณีน่าสนใจของ “คุณภัทรกร ทีปบุญรัตน์” ผู้บริโภคที่มีความสตรองในการพิทักษ์สิทธิของตนเอง และเห็นปัญหาว่าเรื่องผู้บริโภคไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่อาจเกิดได้กับผู้บริโภคอื่นๆ เนื่องจากเขามองว่าเวลาที่ผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการก็ไม่ได้ทำกับแค่คนใดคนหนึ่ง ดังนั้น หากฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคก็น่าจะช่วยเหลือตนเองและคนอื่นๆ ได้ มีคดีที่เป็นตัวอย่าง และหากคดีตัวอย่างนี้ชนะ ผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนคำสั่งจะได้ไม่ทำพฤติกรรมดังกล่าวอีก

สำหรับจุดเริ่มต้นในการฟ้องคดี เริ่มจากเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 บุคคลใกล้ชิดในครอบครัวได้ไปซื้อทองรูปพรรณจากร้านทองแห่งหนึ่ง ต่อมาวันที่ 7 เมษายน 2563 คนใกล้ชิดต้องการเงินสดไว้ใช้จ่ายในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 จึงนำทองรูปพรรณไปขายคืนให้กับร้านทองร้านเดิมที่เคยซื้อมา เพื่อเเปลงเป็นเงินสด แต่กลับพบว่า ร้านดังกล่าวรับซื้อทองในราคา 22,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าที่สมาคมค้าทองคำประกาศ คือ 24,741.12 บาท อีกทั้งพนักงานขายและร้านทองก็ไม่ได้แสดงราคารับซื้อที่ถูกต้องไว้ที่หน้าร้านอีกด้วย คุณภัทรกรเห็นว่าการกระทำแบบนี้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายตามประกาศของสำนักกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้น เมื่อเห็นว่าถูกเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาจึงติดต่อกลับไปที่ร้านทองเพื่อขอเลิกสัญญา โดยจะส่งมอบเงินสดเพื่อขอทองรูปพรรณคืน  ต่อมาช่วงบ่ายวันเดียวกันได้นำทองรูปพรรณไปขายใหม่ แต่ได้รับการปฎิเสธรับซื้อในราคาตามประกาศรับซื้อของสมาคมค้าทองคำ จากนั้นจึงได้รวบรวมเอกสารหลักฐานและไปยื่นฟ้องต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภคด้วยตนเอง เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม

ในสถานการณ์ที่เชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด เขามองว่า น่าจะมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่นำทองคำไปขาย เพราะต้องการสำรองเงินสดไว้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่อาจจะไม่ได้ตรวจสอบราคาทองตามประกาศของสมาคมค้าทองคำ ขณะที่ร้านทองหลายแห่งก็รับซื้อทองในราคาที่ต่ำว่าประกาศของสมาคมค้าทองคำ ทั้งที่กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า ‘ร้านทองต้อง ซื้อ - ขายทองตามราคาที่สมาคมค้าทองคำประกาศ’ เขาคิดว่าการฟ้องคดีเป็นคดีผู้บริโภคน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคโดยรวมได้

นอกจากนี้ เขายังตัดสินใจฟ้องคดีโดยไม่ใช้ทนายอีกด้วย เนื่องจากทราบมาว่าหากผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ สามารถไปใช้สิทธิทางศาลได้ด้วยตัวเอง โดยไปให้ถ้อยแถลงด้วยวาจาต่อนิติกรของศาลได้ ด้วยสาเหตุนี้จึงฟ้องเพื่อเป็นกรณีตัวอย่างให้กับผู้บริโภครายอื่นๆ ได้ทราบว่าหากถูกละเมิดสิทธิ สามารถฟ้องคดีได้ด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องมีทนายก็ได้ อย่างไรก็ตาม การฟ้องคดีในช่วงที่ไวรัสกำลังระบาดก็ทำให้มีข้อจำกัดในการให้ถ้อยแถลง จึงต้องกลับมาเขียนถ้อยแถลงด้วยตัวเองและส่งให้นิติกรแก้ไขให้ ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดี จนสามารถยื่นฟ้องได้ในวันที่ 9 เมษายน 2563 เป็นคดีผู้บริโภคเลขที่ ผบ1453/63

ล่าสุด (14 เมษายน 2563) เขายังไปใช้สิทธิทางอาญา แจ้งเรื่องร้องเรียนที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเอาโทษทางอาญาต่อร้านทอง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 29 ที่กำหนดว่า “ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจดําเนินการใดๆ จงใจที่จะทําให้ราคาต่ำเกินสมควรหรือสูงเกินสมควร หรือทําให้ปั่นป่วนซึ่งราคาสินค้าหรือบริการใด” เพื่อให้ร้านทองที่เคยเอาเปรียบเขา และรวมถึงร้านที่ปัจจุบันยังมีการรับซื้อทองในราคาต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดได้รับรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นผิดและมีบทลงโทษจริงๆ

ทั้งนี้ คุณภัทรกรฝากเตือนมาว่า ใครที่จะนำทองไปแปรเป็นเงินสด ให้ติดตามราคาจากประกาศสมาคมค้าทองคำ และซื้อขายทองกับร้านที่ยึดราคาตามประกาศฯ เท่านั้น เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของตัวเอง

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, คดีผู้บริโภค, มพบ., COVID-19, โควิด-19, ร้านทอง, พ้องคดีผู้บริโภค, ไม่ต้องใช้ทนาย, สมาคมค้าทองคำ, ฟ้องคดีด้วยตนเอง, ราคาทอง

พิมพ์ อีเมล