น.ส.นริสรา พึ่งโพธิ์สภ นิสิตปริญญาเอกแห่งวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) รุ่นที่ 7 เปิดเผยถึงผลวิจัย “ภาวะโภชนาการเกิน หรือ ภาวะอ้วน” ว่า ภาวะดังกล่าวเป็นภัยเงียบที่แอบแฝงในความจ้ำม่ำของเด็กเกือบทุกสังคมทั่วโลก โดยงานวิจัยนี้ได้ศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่มีอิทธิพลต่อภาวะโภชนาการเกิน และแสวงหาแนวทางควบคุมภาวะโภชนาการเกินของเด็กวัยเรียนอายุ 9-12 ปี ในกรุงเทพมหานคร พบว่าเกือบครึ่งหนึ่ง คือ ร้อยละ 49.3 มีภาวะโภชนาการเกิน และพบปัจจัยเสี่ยงที่มีอิทธิพลต่อการเกิดภาวะโภชนาการเกิน อาทิ เพศ ระยะเวลาทำกิจกรรมที่ใช้แรงน้อย ระยะเวลาทำกิจกรรมที่ใช้แรงปานกลาง รายได้ของครอบครัว อาชีพของผู้ปกครอง แบบอย่างที่ดีในการดูแลโภชนา การและสุขภาพของผู้ปกครอง กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่โรงเรียน การเลี้ยงลูกด้วยนมมารดา
น.ส.นริสรากล่าวอีกว่า เด็กที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโภชนาการเกิน ได้แก่ เด็กวัยเรียน ผู้ชาย ผู้เป็นลูกคนเดียวและลูกคนสุดท้อง เนื่องจากครอบครัวไทยส่วนใหญ่จะทุ่มเทให้ความรัก ตามใจลูกคนสุดท้อง หากเป็นลูกคนเดียวมักจะได้รับการดูแลเอาใจใส่มากกว่าลูกในลำดับอื่นๆ เด็กมักถูกตามใจให้กินดีอยู่ดี จนอาจทำให้ได้รับสารอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย นอกจากนี้ เด็กที่มีพี่น้องหลายคน เด็กที่มักทำกิจกรรมที่ใช้แรงน้อยถึงปานกลาง เด็กที่ได้ดื่มนมแม่ไม่นาน เด็กในครอบครัวที่มีฐานะดี เด็กที่อยู่ในโรงเรียนที่จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพน้อย มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโภชนาการเกินมากกว่าเด็กวัยเรียนกลุ่มอื่นๆ สำหรับแนวทางควบคุมภาวะโภชนาการเกินของเด็กวัยเรียน คือ 1.มาตรการทางการบังคับกฎ โดยการออกข้อบังคับให้ผู้ประกอบการค้าเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์ขนมเด็ก ต้องปรับปรุงคุณภาพอาหารให้มีคุณค่าทางโภชนาการ ตามปริมาณและสัดส่วนที่เด็กควรได้รับ 2.มาตรการทางวิศวกรรม ได้แก่ การออกแบบและพัฒนาเครื่องออกกำลังกายแบบครบวงจรสำหรับเด็กวัยเรียน การพัฒนาโปรแกรมการออกกำลังกายสำเร็จรูป โดยเชื่อมต่อกับเกมคอมพิวเตอร์ และ 3.มาตรการทางสุขศึกษา ได้แก่การให้ความรู้ด้านโภชนาการแก่ครู อาสาสมัครชุมชน ผู้ปกครอง และนักเรียน.
ข้อมูลจาก นสพ.ไทยรัฐ 17-4052
{mxc}