บริการสุขภาพ

ฟิตเนส ยังมีผู้ร้องเรียนอื้อ หวังทางออกผลักเป็นธุรกิจควบคุม

ฟิตเนส ยังมีผู้ร้องเรียนอื้อ หวังทางออกผลักเป็นธุรกิจควบคุม

แหล่ง ข่าวจากฝ่ายรับเรื่องร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า 2 เดือนแรกของปีนี้มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก ธุรกิจฟิตเนส กว่า 200 เรื่อง และตั้งแต่ปี 2548-2551 พบว่ามีผู้ร้องเรียน สคบ.เกี่ยวกับธุรกิจฟิตนสสูงถึง 893 ราย เป็นบริษัทรายใหญ่ และยังมีบริษัทรายย่อยที่ยกเลิกสัญญากับผู้บริโภค เนื่องจากต้องปิดกิจการจากปัญหาถูกยึดสถานที่ ในขณะที่ผู้บริโภคยังไม่ได้ใช้บริการตามที่สัญญากำหนด แต่ก็ไม่ได้รับเงินคืน

"80% ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ยังอยู่ในชั้นไกล่เกลี่ยของเจ้าหน้าที่ กรณีที่ผู้บริโภคเห็นว่าล่าช้าเป็นเพราะต้องผ่านหลายขั้นตอน ต้องเสนอให้คณะกรรมพิจารณาไปจนถึงสิ้นสุดขั้นตอนไม่นับรวมการเจรจาไกล่ เกลี่ย ใช้เวลาอย่างน้อย 41 วันทำการ แนะผู้เสียหายอาจจะใช้ช่องทางฟ้องร้องผ่านศาลผู้บริโภคได้โดยตรง"

นาย ธีรวัฒน์ จันทรสมบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า การผลักดันธุรกิจฟิตเนสให้เป็นธุรกิจควบคุม เพราะมีการร้องเรียนเรื่องสัญญาที่ไม่เป็นธรรมมาก แต่เนื่องจากคณะกรรมการชุดที่แล้วเพิ่งหมดวาระลง คาดจะได้คณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาทำงานในเดือนเมษายนนี้ ก็จะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อผลักดันให้เป็นธุรกิจควบคุม คาดว่าจะทราบความชัดเจนได้ภายในเดือนเมษายนนี้

นายชัยรัตน์ จุมวงษ์ คณะกรรมการไกล่เกลี่ยเรื่องราวร้องทุกข์ผู้บริโภค สคบ. กล่าวว่า การผลักดันให้เป็นธุรกิจควบคุมนั้น อาจต้องพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ในการทำสัญญาเป็นหลัก เนื่องจากการไกล่เกลี่ยกรณีธุรกิจฟิตเนส แม้จะไกล่เกลี่ยได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่ได้รับเงินคืน เพราะบริษัทจะใช้สัญญาที่ผู้บริโภคยินยอมลงนามในสัญญาเป็นข้อบังคับ ผู้บริโภคก็กลายเป็นผู้ผิดสัญญา แม้จะอ้างว่าไม่ได้อ่านสัญญาถี่ถ้วน เนื่องจากสัญญาดังกล่าวมีรายละเอียดและข้อผูกมัดที่ผู้บริโภคไม่ได้สังเกต โดยเฉพาะเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาที่ผูกมัด อาจจะเข้าลักษณะหมิ่นเหม่ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540

7 มี.ค. 52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน