บริการสุขภาพ

บุก สธ.ร้อง รพ.เอกชนรังสิตไม่รักษา กลัวไม่มีเงินจ่าย ทำ “ลูกแฝด” ตาย

ร้อง สธ.คลอดลูกแฝดตาย จี้สอบโรงพยาบาลเอกชนย่านรังสิตปฏิเสธการรักษา พยาบาลไล่ไปคลอดที่อื่น ข้องใจเหตุเพราะกลัวไม่มีเงินจ่าย กองประกอบโรคศิลปะตรวจสอบโรงพยาบาล ระบุ ผู้ป่วยขอไปรักษาที่อื่นเอง ชี้ โรงพยาบาลปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท

วันที่ 19 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นางวรรณา พ่อครวงศ์ ลูกจ้างบริษัท สยามคูราโบ จำกัด จ.ปทุมธานี พร้อมด้วย นายนรินทร์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยและคณะ เข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ต่อนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เนื่องจากถูกปฏิเสธการรักษาขณะเจ็บท้องคลอด จนทำให้ลูกแฝดเสียชีวิต โดย นายพิเชฐ พัฒนโชติ ที่ปรึกษา รมว.สธ.เป็นผู้รับเรื่องแทน

นางวรรณา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เวลา 04.00 น. เกิด การเจ็บท้องคลอดอย่างรุนแรง ขณะที่ตั้งครรภ์ได้เพียง 6 เดือน จึงนั่งรถแท็กซี่ไปโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านรังสิต ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ฝากครรภ์ตามสิทธิประกันสังคม แต่ก่อนที่จะถึงโรงพยาบาลน้ำคร่ำแตก เพื่อนที่เดินทางมาด้วยจึงได้โทรศัพท์แจ้งให้ทางโรงพยาบาบาลเตรียมเตียงรับ ผู้ป่วย เมื่อถึงโรงพยาบาลกลับมีเพียงเก้าอี้รถเข็นที่พาไปยังห้องฉุกเฉิน ซึ่งได้พบกับพยาบาล 3 คน มีการตรวจประวัติการฝากครรภ์ พบว่า ตนท้องลูกแฝด และขณะนั้นปากมดลูกเปิดกว่า 7 เซนติเมตรแล้ว แต่พยาบาลกลับบอกว่า ค่าใช้จ่ายเป็นแสนจะสู้ไหวหรือ ไปโรงพยาบาลภูมิพลดีกว่า

นางวรรณา กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็เข็นตนออกไปนอกห้อง ขณะที่สามีพยายามขอร้องให้ช่วยดูแลอาการตนก่อน แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ จึงขอให้รถโรงพยาบาลไปส่งที่โรงพยาบาลภูมิพล กลับได้รับคำตอบว่า หากรถโรงพยาบาลนี้ไปส่ง โรงพยาบาลภูมิพลจะไม่รับเข้ารักษา ต่อมาพยาบาลก็ได้มาพูดไล่อีกว่า ทำไมไม่รีบไปรักษาที่อื่นอีก ชักช้าอยู่ทำไม เมื่อสอบถามว่าทำไมต้องมาไล่กันเช่นนี้ พยาบาลก็บอกว่าทำตามที่ผู้ใหญ่สั่ง ตนและแฟนจึงตัดสินใจเรียกรถแท็กซี่ไปโรงพยาบาลภูมิพลด้วยตนเอง กระทั่งคลอดลูกแฝดที่โรงพยาบาลภูมิพลและลูกเสียชีวิต ซึ่งหากตนได้รับการรักษาตั้งแต่แรก บุตรก็คงจะไม่เสียชีวิต การมาร้องเรียนในครั้งนี้จึงต้องการได้รับการชี้แจงจากโรงพยาบาลดังกล่าวว่า มีเหตุผลอะไรถึงปฏิเสธการช่วยเหลือดูแลในวันดังกล่าว

“การ เป็นหมอเมื่อเห็นผู้ป่วยอยู่ตรงหน้าต้องให้การรักษาไม่ใช่หรือ แต่วันนั้นตนไปด้วยอาการค่อนข้างโคม่า ทำไมถึงไม่ให้การรักษาดูแลอะไรเลย ซึ่งการที่ดิฉันใช้สิทธิประกันสังคมและฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ ก็เป็นเพราะใช้บริการมานานและเชื่อมั่นในการรักษาพยาบาลมาโดยตลอด พร้อมที่จะฝากชีวิตไว้ที่นี่ ลูกเราจะมีชีวิตอยู่รอดหรือไม่ก็อยู่ที่เขา ดิฉันแค่อยากรู้เหตุผลสำคัญว่าทำไมไม่ให้การดูแลรักษา เป็นเพราะไม่มีเงินจ่ายหรือ”นางวรรณา กล่าว

นายพิเชฐกล่าวว่า ตนจะนำข้อร้องเรียนรายงานให้ รมว.สธ.รับทราบ ซึ่งบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข เช่น การตรวจสอบมาตรฐานการปฏิบัติงานของสถานพยาบาล ก็จะมอบหมายให้กองประกอบโรคศิลปะลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณการประกอบวิชาชีพของแพทย์และพยาบาล จะส่งเรื่องให้แพทยสภาและสภาการพยาบาลตรวจสอบต่อไป

ด้านนายภัทระ แจ้งศิริเจริญ รักษาการผู้อำนวยการกองประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า จากการส่งเจ้าหน้าที่กองประกอบโรคศิลปะลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นร่วม กับเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม โดยสอบสวนพยาบาลเวร หัวหน้าพยาบาล และแพทย์เจ้าของไข้ ได้รับการแจ้งว่า คนไข้อยู่ในภาวะฉุกเฉินมีอาการน้ำเดิน และปากมดลูกเปิดแล้วถึง 7 เซนติเมตร จึงแจ้งให้คนไข้ทราบว่ามีค่าใช้จ่ายสูง เพราะเป็นการคลอดก่อนกำหนด ญาติจึงแจ้งว่าแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหวขอย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลภูมิพล โดยโรงพยาบาลได้ขอรถโรงพยาบาลส่งต่อไปให้ แต่ต้องรออย่างน้อย 30 นาที คนไข้รอไม่ไหวจึงเรียกรถแท็กซี่แทน ซึ่งหากฟังจากการชี้แจงของฝ่ายโรงพยาบาลยังไม่พบประเด็นที่เป็นความผิด อย่างไรก็ตาม จะต้องฟังข้อเท็จจริงจากฝ่ายผู้เสียหายด้วย

“กฎหมาย ระบุไว้ชัดเจนว่า หากผู้ป่วยไปโรงพยาบาลในกรณีที่ฉุกเฉิน โรงพยาบาลนั้นจะต้องให้การบริการ รักษา ดูแลเบื้องต้นจนกว่าจะพ้นขีดอันตราย จากนั้นจึงถามผู้ป่วยว่าประสงค์จะรับการรักษาที่นี่ต่อหรือไม่ หากไม่ก็จะต้องจัดรถไปส่งที่โรงพยาบาลอื่น ซึ่งโรงพยาบาลที่ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ส่วนผู้ป่วยสามารถเรียกร้องขอค่าเสียหายจากโรงพยาบาลได้”นายภัทระ กล่าว

ผู้จัดการออนไลน์ 19 มีนาคม 2552 15:41 น

 

พิมพ์ อีเมล

ฟิตเนส ยังมีผู้ร้องเรียนอื้อ หวังทางออกผลักเป็นธุรกิจควบคุม

ฟิตเนส ยังมีผู้ร้องเรียนอื้อ หวังทางออกผลักเป็นธุรกิจควบคุม

แหล่ง ข่าวจากฝ่ายรับเรื่องร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า 2 เดือนแรกของปีนี้มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก ธุรกิจฟิตเนส กว่า 200 เรื่อง และตั้งแต่ปี 2548-2551 พบว่ามีผู้ร้องเรียน สคบ.เกี่ยวกับธุรกิจฟิตนสสูงถึง 893 ราย เป็นบริษัทรายใหญ่ และยังมีบริษัทรายย่อยที่ยกเลิกสัญญากับผู้บริโภค เนื่องจากต้องปิดกิจการจากปัญหาถูกยึดสถานที่ ในขณะที่ผู้บริโภคยังไม่ได้ใช้บริการตามที่สัญญากำหนด แต่ก็ไม่ได้รับเงินคืน

"80% ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ยังอยู่ในชั้นไกล่เกลี่ยของเจ้าหน้าที่ กรณีที่ผู้บริโภคเห็นว่าล่าช้าเป็นเพราะต้องผ่านหลายขั้นตอน ต้องเสนอให้คณะกรรมพิจารณาไปจนถึงสิ้นสุดขั้นตอนไม่นับรวมการเจรจาไกล่ เกลี่ย ใช้เวลาอย่างน้อย 41 วันทำการ แนะผู้เสียหายอาจจะใช้ช่องทางฟ้องร้องผ่านศาลผู้บริโภคได้โดยตรง"

นาย ธีรวัฒน์ จันทรสมบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า การผลักดันธุรกิจฟิตเนสให้เป็นธุรกิจควบคุม เพราะมีการร้องเรียนเรื่องสัญญาที่ไม่เป็นธรรมมาก แต่เนื่องจากคณะกรรมการชุดที่แล้วเพิ่งหมดวาระลง คาดจะได้คณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาทำงานในเดือนเมษายนนี้ ก็จะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อผลักดันให้เป็นธุรกิจควบคุม คาดว่าจะทราบความชัดเจนได้ภายในเดือนเมษายนนี้

นายชัยรัตน์ จุมวงษ์ คณะกรรมการไกล่เกลี่ยเรื่องราวร้องทุกข์ผู้บริโภค สคบ. กล่าวว่า การผลักดันให้เป็นธุรกิจควบคุมนั้น อาจต้องพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ในการทำสัญญาเป็นหลัก เนื่องจากการไกล่เกลี่ยกรณีธุรกิจฟิตเนส แม้จะไกล่เกลี่ยได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่ได้รับเงินคืน เพราะบริษัทจะใช้สัญญาที่ผู้บริโภคยินยอมลงนามในสัญญาเป็นข้อบังคับ ผู้บริโภคก็กลายเป็นผู้ผิดสัญญา แม้จะอ้างว่าไม่ได้อ่านสัญญาถี่ถ้วน เนื่องจากสัญญาดังกล่าวมีรายละเอียดและข้อผูกมัดที่ผู้บริโภคไม่ได้สังเกต โดยเฉพาะเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาที่ผูกมัด อาจจะเข้าลักษณะหมิ่นเหม่ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540

7 มี.ค. 52

พิมพ์ อีเมล

หมอขยาดไม่กล้าผ่าตัดคนไข้ เหตุกลัวถูกฟ้อง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 มีนาคม 2552 08:38 น.
       ASTVผู้จัดการรายวัน - ผลสำรวจยืนยันแพทย์ไม่กล้าผ่าตัด เผย พบโรงพยาบาลชุมชนเหลือแค่ 30% ยังผ่าตัดไส้ติ่ง ระบุ ปี 2551 ผ่าตัดลดลงจากปี 2548 กว่า 20% กว่าครึ่งขยาดกลัวถูกฟ้อง ส่วน 23% ชี้ พ.ร.บ.ชดเชยความเสียหายฯ ช่วยได้ หวั่นคนไข้แออัดในโรงพยาบาลใหญ่ คนไข้ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ เล็งสำรวจใหญ่อีกรอบ หาทางแก้ปัญหา
       
       นพ. พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถานบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า จากการสำรวจการผ่าตัดไส้ติ่งของโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 187 แห่ง ระหว่างปี 2548-2551 โดยนำมาเปรียบเทียบกัน พบว่า ในปี 2548 มีการผ่าตัด 55.4% ปี 2549 ลดลงเป็น 49% ปี 2550 ลดลงเป็น 43.3% และปี 2551 ลดลงเป็น 30.6% ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบการผ่าตัดในปี 2548 กับปี 2551 พบว่า ลดลงเกือบ 20% ส่วนเหตุผลที่แพทย์ไม่ทำการผ่าตัดไส้ติ่งแต่เลือกส่งต่อ โดยสามารถตอบได้มากกว่า 1 ข้อ พบว่า โรงพยาบาลชุมชนกว่าครึ่ง หรือ 94 แห่ง ระบุว่า กลัวการฟ้องร้องแล้วแพทย์ถูกตัดสินจำคุก ส่วนโรงพยาบาลชุมชน 87 แห่ง หรือ 46% ระบุว่า ระยะทางระหว่างโรงพยาบาลชุมชนใกล้กับโรงพยาบาลใหญ่สามารถส่งต่อได้ ในกรณีที่เกิดความเสี่ยงสูง และ โรงพยาบาล 80 แห่ง หรือ 42.8% ระบุว่าไม่มีวิสัญญีแพทย์ และไม่มีความพร้อมของเครื่องมือทางการแพทย์

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
       นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อถามว่า หากมี พ.ร.บ.ชดเชยความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่ 23% บอกว่า ช่วยได้มาก 55% ช่วยได้บ้าง เพราะดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ขณะที่ 15.5% บอกว่า ไม่ช่วยเท่าใดนัก ซึ่งเห็นได้ชัดว่า มีแพทย์จำนวนมากที่เห็นว่า พ.ร.บ.ชดเชยความเสียหายฯ สามารถช่วยได้และเป็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการพูดคุยหรือสร้างความเข้าใจ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลควรจะเร่งผลักดันกฎหมายเพื่อบังคับใช้
       
       “ข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลที่ใช้ยืนยันได้ในเบื้องต้น แต่อาจไม่ครอบคลุมความเห็นของโรงพยาบาลชุมชนทั้งหมดที่มีมากกว่า 1 พันแห่ง ดังนั้น สวรส.จะทำการสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติมให้คลอบคลุมพื้นที่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น รวมถึงศึกษาผลกระทบเมื่อแพทย์ไม่ทำการผ่าตัดแล้ว คนไข้ต้องไปแออัดที่โรงพยาบาลจังหวัดมากขึ้นหรือไม่ หรือได้รับผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง” นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว
       
       นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาผลสำรวจพบว่า ได้เริ่มสำรวจขณะที่มีข่าวแพทย์ถูกตัดสินจำคุกเนื่องจากผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดไส้ติ่งเสียชีวิต การตัดสินใจไม่ผ่าตัดไส้ติ่งจึงอาจเกิดความตื่นตระหนกของแพทย์หรือไม่ อย่างไรก็ตามพบว่า แนวโน้มการผ่าตัดไส้ติ่งในโรงพยาบาลชุมชนลดลงเรื่อยๆ มาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว จึงอาจไม่ใช่การตื่นตระหนก แต่ข่าวที่ออกมาเป็นการกระตุ้นความรู้สึกกังวลที่ฝังอยู่ในความรู้สึกของแพทย์มานาน ซึ่งการสำรวจซ้ำจะเป็นการทบทวนสาเหตุของการที่แพทย์ไม่ผ่าตัด รวมถึงจะทราบว่าสถานการณ์ขณะนี้ดีขึ้นหรือแย่ลง รวมถึงมีวิธีการจัดการอย่างไรกับคนไข้ เมื่อได้ผลสรุปจะนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอ เพื่อให้เกิดทางเลือกในการแก้ไขปัญหาต่อไป
       
       “เมื่อก่อนโรงพยาบาลชุมชนให้บริการผ่าตัดไส้ติ่ง ดมยาได้เป็นปกติอยู่แล้ว แต่ขณะนี้การผ่าตัดลดลงเรื่อยๆ จะมีการศึกษาด้วยว่าการผ่าตัดที่ใกล้เคียงกันมีจำนวนลดน้อยลงด้วยหรือไม่ เช่น การผ่าตัดโรคไส้เลื่อน การทำหมัน เป็นต้น นอกจากนี้ อาจรวมถึงการคลอดบุตร ที่แม้ไม่ถือว่าเป็นการผ่าตัด แต่หากเป็นการผ่าคลอดถือว่ามีความยุ่งยากมากกว่าเพราะคนไข้ต้องเสียเลือดมาก จึงมีการส่งต่อในโรงพยาบาลใหญ่ แต่ไม่ใช่ทุกแห่ง เพราะโรงพยาบาลชุมชนในต่างจังหวัดส่วนใหญ่จะมีการทำคลอดโดยพยาบาล แต่หากมีความผิดปกติอาจรายงานแพทย์เวรแต่ในกรณีที่ยากมากจึงส่งให้สูตินรีแพทย์ เนื่องจากสูตินรีแพทย์เป็นสาขาที่มีไม่เพียงพอเช่นเดียวกัน ดังนั้น จะพิจารณาด้วยว่า การผ่าท้องคลอดลงลงด้วยหรือไม่” นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว
       
       นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวว่า กรณีที่วิสัญญีแพทย์ไม่เพียงพอนั้นควรจะมีการทบทวนกันใหม่ว่ามีความจำเป็นที่ต้องใช้วิสัญญีแพทย์ในกรณีใดบ้าง เนื่องจากมาตรฐานการบริการด้านสาธารณสุขของไทยสภาพโดยทั่วไป คงไม่มีแพทย์เพียงพอสำหรับดูแลคนไข้ทุกราย ดังนั้น จึงอาจมีข้อผ่อนปรนให้กับแพทย์ทั่วไปสามารถที่จะปฏิบัติได้ โดยจะต้องมีการทำความเข้าใจกับทั้งฝ่ายผู้ให้บริการและผู้รับบริการเพื่อให้แพทย์ก็สามารถรักษาคนไข้ได้โดยไม่ต้องกลัวความผิดและคนไข้ไม่เสียประโยชน์

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน