แพทย์สูติฯ เตือนหญิงเลือกวิธีผ่าคลอด ส่งผลลูกมีเปอร์เซ็นต์เป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืด และโรคอื่นๆ สูงมากกว่าเด็กที่คลอดตามธรรมชาติ เหตุเด็กไม่ได้รับแบคทีเรียสร้างภูมิคุ้มกันที่อยู่ตรงช่องคลอดเมื่อแรก เกิด
ในการเสวนาเรื่อง "วิธีการคลอดกับผลกระทบสุขภาพเด็กแรกเกิด" จัดโดยบริษัท เนสเลย์ ประเทศไทย จำกัด รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราการผ่าคลอดของหญิงตั้งครรภ์เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกันทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมีอัตราการผ่าคลอดเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะใน รพ.เอกชน ซึ่งจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในปี 2533 มีอัตราผ่าคลอดอยู่ที่ร้อยละ 38.55 แต่ในปี 2549 เพิ่มเป็นร้อยละ 51.45 และเชื่อว่าปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 80-90 แล้ว
เมื่อดูอัตราการผ่าคลอดใน รพ.ขนาดใหญ่ที่มีอัตราการคลอดอันดับต้นๆ ของประเทศ อาทิ รพ.ราชวิถี รพ.ศิริราช ในปี 2550-2551 มีอัตราผ่าคลอดอยู่ที่ร้อยละ 30 เฉพาะในส่วน รพ.ราชวิถี พบว่าเป็นการผ่าคลอดหญิงตั้งครรภ์ครั้งแรก ขณะที่ รพ.สงขลานครินทร์ พบว่ามีอัตราผ่าคลอดเพิ่มสูงเช่นกัน อยู่ที่ร้อยละ 36-37 อัตราการผ่าคลอดที่เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าอัตราเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ไว้แค่ 10%
รศ.นพ.วิทยากล่าวว่า อัตราการผ่าสูงมากในปัจจุบัน ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ในอีก 10-20 ปีข้างหน้านี้ ประเทศไทยจะมีเยาวชนและวัยรุ่นที่ไม่แข็งแรง และเป็นโรคภูมิแพ้และหอบหืดจำนวนมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ส่วนเด็กต่างจังหวัดที่คลอดเองตามธรรมชาติจะแข็งแรงกว่า เนื่องจากได้รับเชื้อแบคทีเรียช่วงคลอดตามธรรมชาติจากช่องคลอดของแม่ ซึ่งแบคทีเรียดังกล่าวเป็นแบคทีเรียที่ดี ช่วยในสร้างภูมิกันโรคให้กับทารก เป็นภูมิต้านทานแรกเกิด ต่างจากการผ่าตัดหน้าท้องซึ่งทำให้เด็กไม่ได้รับ
ขณะที่ รศ.นพ.สรายุทธ สภาพรรณชาติ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า จากงานวิจัยศึกษาพบว่า ร้อยละ 70 ของเด็กที่ผ่าคลอดจะป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ ต่างจากเด็กที่แม่คลอดเองตามธรรมชาติ อีกทั้งยังมีรายงานการศึกษาโรคภูมิแพ้ระหว่างเด็ก รร.เอกชนใน กทม. กับเด็กใน รร.ต่างจังหวัด พบว่า เด็ก รร.เอกชนใน กทม.เป็นโรคภูมิแพ้มากกว่าเด็กในโรงเรียนต่างจังหวัด ที่มีโอกาสสัมผัสดินทรายและเล่นกลางแจ้ง ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน.
นสพ.ไทยโพสต์ 23-02-52