บริการสุขภาพ

แพทย์ชนบท ชง “วิทยา” ใช้สวีเดน ต้นแบบแก้ปัญหาคนไข้ฟ้องหมอ

แพทย์ชนบทเสนอ รมว.สาธารณสุข ใช้ “สวีเดน” เป็นต้นแบบ แก้ปัญหาฟ้องร้องแพทย์-ชดเชยความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ ดึงงบม.41 สปสช.ตั้งต้น เพิ่มงบประมาณชดเชยผู้ป่วย ตั้งหน่วยงานกลางไกล่เกลี่ย
       
       นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ได้เดินทางไปดูงานเรื่องกองทุนชดเชยผู้เสียหายทางการแพทย์ ที่ประเทศสวีเดน และนอร์เวย์ ซึ่งถือว่าประเทศที่มีระบบดูแลปัญหาการฟ้องร้องแพทย์ที่ดีที่สุดในโลก โดยจะจัดทำรายงานเสนอ นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ให้พิจารณานำมาเป็นต้นแบบในการจัดการปัญหาการฟ้องร้องระหว่างแพทย์กับคนไข้ ของไทย โดยมีการตั้งหน่วยงานกลางที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย และชดเชยความเสียหายทางการแพทย์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ดีขึ้น โดยเป็นการฟ้องร้องไปที่หน่วยงาน ขณะที่แพทย์จะไม่ตกอยู่ในฐานะของผู้ที่กระทำผิดแต่จะเป็นผู้ที่ช่วยเหลือ อธิบายให้คนไข้เข้าใจ ช่วยในเรื่องสำนวนการฟ้องร้อง ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
       
       “นอก จากนี้ ในสวีเดนจะมีระบบการประกันภัยผู้ป่วยทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยรัฐบาลเป็นผู้ประกันความเสียหาย จากเดิมที่มีตัวแทนประกันด้านสุขภาพของเอกชนก็ถูกยุบไป โดยมีการออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ทำให้ไม่ต้องเสียเงินให้กับกระบวนการขั้นตอน ที่ใช้เวลานาน ยุ่งยากกว่าจะได้รับเงินชดเชยความเสียหาย กว่า 70% ให้กับทนายความเป็นค่าดำเนินการ ขณะที่ผู้เสียหายได้รับการชดเชยเพียง 30% ทั้งนี้20% ของผู้ที่ฟ้องร้องในสวีเดนจะสามารถทราบผลภายใน 1 ปี โดยไม่ต้องใช้ระยะเวลาในการฟ้องร้องนาน”นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
       
       นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุสวีเดนและนอร์เวย์มีประชากร 9 ล้านคน มีเรื่องที่เข้าสู่กองทุนชดเชยผู้เสียหายทางการแพทย์ที่ตั้งขึ้น ประมาณ 1 หมื่นครั้ง ได้รับการชดเชย 5 พันครั้ง ที่เหลือมีการฟ้องร้องต่อโดย 100-1,000 เรื่อง จะได้รับการชดเชยหากมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น ซึ่งโรงพยาบาลจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนชดเชยฯผู้เสียหายทางการแพทย์ ทั้งนี้ จะมีการนำข้อมูลจากการฟ้องร้องมาปรับปรุงพัฒนาระบบ ซึ่งแพทย์จากที่เคยเป็นคู่กรณีของผู้ป่วย จะกลายเป็นผู้ที่พิสูจน์หลักฐานให้เห็นว่ามีเหตุสุดวิสัยอย่างไร เกิดจากแพ้ยาหรือเหตุอื่น ซึ่งจะทำให้สังคมเกิดความสมานฉันท์ แพทย์กับผู้ป่วยมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น จากข้อมูลของประเทศสวีเดนพบว่า แม้การฟ้องร้องในภาพรวมจะไม่ลดลงจากเดิม แต่ข้อพิพาทก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการศาลลดลง
       
       นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมาในอดีตทั้งโครงสร้างการบริการจัดการระบบสาธารณสุข ประเทศไทยมักอาศัยต้นแบบจากประเทศสหรัฐอเมริกาหรือประเทศแคนนาดา ที่ปัจจุบันถือว่ามีปัญหาด้านระบบสุขภาพเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ในการเริ่มต้นสปสช.มีมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ในการเรื่องการชดเชย ระบุว่า หากเกิดความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข จะได้รับเงินชดเชยเบื้องต้นโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิดจากกองทุนชดเชยค่าเสีย หายทางการแพทย์ โดยมาตรการดังกล่าว เป็นเรื่องที่ดำเนินการอยู่แล้ว รัฐบาลควรเพิ่มงบประมาณเข้ากองทุนดังกล่าว จากเดิม 2 บาท ต่อคนต่อปี เป็น 6-7 บาท ต่อคนต่อปี และบังคับให้ภาคเอกชนร่วมจ่ายเงินสมทบ และสามารถนำเงินส่วนดังกล่าวมาใช้เป็นเงินกองทุน
       
       “ถ้านายวิทยาสนใจแนวคิดนี้ก็ต้องมีการทำเป็นนโยบาย ที่โดนใจชาวบ้านเพราะถือเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วย ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้รับการเหลียวแล หากเกิดข้อผิดพลาดทางการรักษาขึ้น ทั้งนี้ ควรมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ พร้อมทั้งนำแนวคิดของประเทศสวีเดนมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งคาดว่า อาจจะมีความเห็นค้านจากโรงพยาบาลเอกชน แต่ฝ่ายเอ็นจีโอ น่าจะเห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว ดังนั้น จึงควรทำให้เกิดการบังคับใช้ตามกฎหมาย” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 มกราคม 2552

พิมพ์ อีเมล

วิทยาตั้งกรรมการ ศึกษาเมดิเคิลฮับ

วันที่ 13 มกราคม นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือเมดิเคิลฮับว่า เป็น 1 ในนโยบายของรัฐบาล และในเร็วๆ นี้จะออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการศึกษาความเหมาะสมในการดำเนินการโครงการ เมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จ จะเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อให้การดำเนินการรอบคอบที่สุด

"ผมยังมีแนวคิดเดิมคือ ต้องการรับแพทย์จากต่างชาติเข้ามารักษาผู้ป่วยต่างชาติ แต่ต้องเป็นไปตามกรอบของแพทยสภา เพื่อไม่กระทบกับแพทย์ในสังกัด สธ. รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้นที่จะเป็นเมดิเคิลฮับ ส่วน สธ.จะผลักดันและสนับสนุนนโยบาย หรืออำนวยความสะดวกให้เท่านั้น" นายวิทยากล่าว

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ สวรส.ได้เก็บข้อมูลแพทย์ที่ลาออกไปทำงานภาคเอกชนแล้ว เบื้องต้นพบว่าแพทย์ส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์จากโรงเรียนแพทย์ส่วนใหญ่ ถือว่าได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีความสำคัญในการผลิตบุคลากรทางการเแพทย์เพิ่มเติม

"ส่วนกรณีที่จะให้แพทย์ต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย องค์การอนามัยโลกเคยมีการถกเถียงกันในประเด็นใกล้เคียงที่แพทย์ชาวฟิลิปปินส์จะเข้าไปรักษาคนไข้ที่สหรัฐอเมริกาด้วยเหตุผลเชิงเศรษฐศาสตร์ที่ค่าตอบแทนถูกกว่า ฯลฯ อีกทั้งแพทย์ที่จบจากต่างประเทศอาจไม่ตรงกับความต้องการของคนในประเทศนั้นๆ จึงต้องไปรักษาในประเทศที่มีความต้องการแพทย์ในสาขาวิชาที่จบมา ขณะเดียวกัน ทำให้ประเทศต้นทางขาดแคลนแพทย์หนักยิ่งขึ้น ประเทศไทยก็ต้องพิจารณาในประเด็นนี้ด้วยว่าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่กลับขาดแคลนแพทย์" นพ.พงษ์พิสุทธิ์กล่าว

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หากอนุญาตให้แพทย์ต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย ต้องกำหนดระยะเวลาใบประกอบวิชาชีพด้วย

มติชน 14-01-52

พิมพ์ อีเมล

องค์การค้าโลกชมซีแอล

นายปาสคา ลามี ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมพันธมิตรอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญระหว่างประเทศที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ว่า การที่ประเทศสมาชิกประกาศบังคับใช้สิทธิเหรือสิทธิบัตรโดยรัฐ (ซีแอล) มีส่วนช่วยพัฒนาการเข้าถึงยาว่าตั้งแต่มีปฏิญญาโดฮา เมื่อปี 2544 ว่าด้วยทริปส์และการสาธารณสุข ประชาชนสามารถเข้าถึงยาเพิ่มขึ้น จากการลดราคายาลงอย่างมาก, การเพิ่มขึ้นของการให้ทุนสนับสนุนระหว่างประเทศและความยอมรับถึงความจำเป็นที่จะต้องมีความสมดุลในระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่เพิ่มขึ้นและการที่มีบางประเทศสมาชิกในองค์การการค้าโลกใช้มาตรการยืดหยุ่นในความตกลงทริปส์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยา

ทั้งนี้ เมื่อปี 2549-2551 ประเทศไทย อินโดนีเซีย และบราซิล ได้ประกาศใช้ซีแอลเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาโดยประเทศไทยได้ประกาศบังคับใช้สิทธิกับยาต้านไวรัส 2 รายการ ยารักษาหลอดเลือดตีบ 1 รายการ และยารักษามะเร็ง 4 รายการ, อินโดนีเซีย และบราซิล ได้บังคับใช้สิทธิกับยาต้านไวรัส 1 รายการ


นสพ.มติชนวันที่ 12 ธ.ค.51

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน