กรมโรงงานอุตสาหกรรม-กรมวิชาการเกษตรเถียงคอเป็นเอ็น ประกาศ 13 สมุนไพร เป็นวัตถุอันตราย เป็นเรื่องคนไม่เข้าใจตัว พ.ร.บ.อยากทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ แถมทวงบุญคุณหวังดีเกษตรกรไม่ใช้สารเคมี ไม่มีฮั้วเอกชน ขณะที่ "เอ็นจีโอ" จี้ให้ถอนประกาศไม่ใช่แค่ทบทวน ยันมีผลประโยชน์คอรัปชั่น และถ้า 2 หน่วยงานยังนิ่งเฉย จะฟ้องศาลปกครองใน 7 วัน
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับเครือข่ายพัฒนานโยบายอาหารและเกษตรเพื่อสุขภาพ ได้จัดเสวนาหัวข้อ "จากพืชสมุนไพรอันตราย สู่ความท้าทายการมีส่วนร่วมของสังคม" นายยงยุทธ ทองสุข รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการออกประกาศกฎกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องบัญชีวัตถุอันตราย ที่กำหนดให้ 13 สมุนไพรไทยเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ซึ่งพิจารณาโดยคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ และรับฟังความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนจากวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง แล้ว และได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นมาพอสมควร แต่เมื่อเห็นว่าเกิดผลกระทบขึ้นจึงต้องมีการทบทวน โดยให้มีการจัดกระบวนการรับฟังความเห็นขึ้น ทั้งนี้ เห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งจำเป็น แต่ควรพิจารณาตามความหนักเบาของประเด็น เพราะหากต้องมีการมีส่วนร่วมในทุกกรณีจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานได้
"ตอนนี้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ไปแล้ว ซึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจในประกาศ และเมื่อมีการเผยแพร่ออกไปสู่มวลชน เรื่องเล็กก็กลายเป็นเรื่องใหญ่มากขึ้น"
ด้าน ดร.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง นักวิชาการกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม กล่าวว่า การมีส่วนรวมของภาคประชาชนเป็นเรื่องจำเป็น แม้ว่าจะทำให้การทำงานล่าช้าออกไป ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจได้นั้น เห็นว่าหากไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมเลย นอกจากขาดความโปร่งใสแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อประเทศและเศรษฐกิจมากกว่า และแม้ว่าในคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการความเห็น แต่เราก็ไม่อาจรู้ว่าผู้ทรงคุณวุฒิที่ถูกเลือกเข้ามานั้นเป็นใคร มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ดังนั้นจึงควรให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แต่ประเด็นคือว่า ควรอยู่ในระดับใด รวมถึงวิธีการแสดงความเห็น แต่ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ข้อมูลด้วย เพราะการมีส่วนร่วมที่ดีจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีข้อมูลประกอบ ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าประชาชนส่วนใหญ่ต่างเข้าถึงข้อมูลยากมาก จึงควรมีการปรับปรุงมาตรา 9 (8) เพื่อให้มีการเปิดเผยรายงานการประชุมของคณะกรรมการที่พิจารณาประเด็นต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน
ขณะที่ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิวิถีไทย (ไบโอไทย) กล่าวว่า การที่รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่าเรื่องนี้เป็นการทำเรื่องเล็กให้ เป็นเรื่องใหญ่นั้น ตนเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อย่างที่ระบุ และอยากให้มองความเป็นจริง เพราะเรื่องของสุมนไพรเป็นภูมิปัญญาเกี่ยวข้องกับคนไทยมานาน ซึ่งการออกประกาศสมุนไพรอันตรายส่งผลกระทบไปทั่วประเทศ นอกจากนี้มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ได้ประชุมเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ให้ดำเนินการทบทวนประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่าได้เพิกถอนประกาศฉบับนี้แล้ว ทั้งที่ความเป็นจริงประกาศฉบับนี้ยังอยู่ เพราะเป็นเพียงการสั่งทบทวนเท่านั้น
นายวิฑูรย์กล่าวว่า ทางเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนทั้ง 12 องค์กรเห็นว่า ผลการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เป็นเพียงการซื้อเวลาและมีเจตนาจะ หน่วงเหนี่ยวคำประกาศดังกล่าว โดยมิได้นำพาต่อการคัดค้านของหลายฝ่าย ขัดแย้งกับความเข้าใจของสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ ตนคิดว่าหลายเรื่องที่มีการพิจารณาในคณะกรรมการวัตถุอันตรายเกี่ยวข้องกับ ความไม่โปร่งใสและคอรัปชั่น โดยคนแรกที่ออกมาระบุในเรื่องนี้คืออดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรที่ตั้งข้อ สังเกตว่า ประกาศ 13 สมุนไพรไทย มีประเด็นซ่อนเร้น และเอื้อให้ข้าราชการไปกลั่นแกล้งหรือหาผลประโยชน์ได้ แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นการทุจริตในเชิงนโยบายมากกว่า เพราะหลายเรื่องที่กรมวิชาการเกษตรทำนำไปสู่ปัญหา เช่น เซ็นทรัลแล็บ พืชสวนโลก กล้ายาง และการปลูกพืชจีเอ็มโอ ซึ่งเรื่องพืชจีเอ็มโอนั้น ศาลประเทศอินโดนีเซียได้ตัดสินลงโทษข้าราชการแล้ว ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรและบริษัทสารเคมีมีการพบปะพูดคุยและมีความใกล้ชิด มากกว่าภาคประชาชน
"อยากให้จับตาการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายเป็นไปอย่างโปร่งใสหรือไม่ มีวัตถุประสงค์ใด เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้มีคำสั่งระงับการออกประกาศฉบับนี้ชั่วคราว จะยื่นฟ้องให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน เพื่อใช้อำนาจศาลทวงความยุติธรรมของการออกประกาศฉบับนี้" นายวิฑูรย์กล่าว
นายวิชา ธิติประเสริฐ ผอ.สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในการออกประกาศ 13 สมุนไพรไทยเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 นั้น ได้มีการรับฟังเสียงจากประชาชนแล้ว แม้ว่าจะเป็นกลุ่มเล็กน้อย แต่เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งในปี 2550 ได้มีการเปิดรับฟังความเห็น โดยมีผู้เข้าร่วม 150 คน และยังมีส่วนร่วมจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำข้อมูลมาวิเคราะห์และออกประกาศ ที่เป็นการควบคุมเฉพาะการนำมาผลิตเป็นสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ทั้งนี้ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายนี้ควรถูกเรียกว่ากฎหมายจับฉ่าย เพราะครอบคลุมทั้งหมดตั้งแต่สารเคมีที่มีความร้ายแรงเป็นอันตรายอย่างสาร กัมมันตภาพรังสี จนถึงพืชสมุนไพรธรรมดา และเมื่อพืชสมุนไพรถูกจัดให้อยู่ใน พ.ร.บ.วัตถุอันตราย จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด ทั้งๆ ที่เป็นการทำเพื่อเปิดช่องเพื่อช่วยเกษตรกร และลดการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ดังนั้นจึงควรมีการทบทวนชื่อกฎหมาย โดยเปลี่ยนเป็น พ.ร.บ.วัตถุที่ใช้แทน ทั้งนี้ การทำงานของคณะกรรมการวัตถุอันตรายน่าจะได้รับการสรรเสริญด้วยซ้ำ ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นมาจากปัญหาความไม่เข้าใจ และชื่อกฎหมายที่ไม่ทันสมัย อย่างไรก็ตาม สำหรับประกาศกฎกระทรวง 13 พืชสมุนไพรนั้น จะประสานให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติช่วยทำประชาพิจารณ์ในเรื่องนี้ เพื่อความโปร่งใส
"ผมขอชี้แจงกรณีที่นายวิฑูรย์พยายามสื่อว่ามีการคอรัปชั่น โดยโยงกรณีการปลูกพืชจีเอ็มโอ ซึ่งผมไม่คิดว่าจะมีใครกล้าขึ้นมาชี้หน้าใครว่าผิดได้ เพราะเรื่องทั้งหมดยังอยู่ในชั้นศาล และที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยมีข้าราชการในกรมวิชาการเกษตรที่ถูกตัดสินว่าทุจริต คอรัปชั่น ส่วนที่มีการโยงความสัมพันธ์ระหว่างกรมวิชาการเกษตรและบริษัทเอกชนนั้น ยืนยันว่ากรมเปิดประตูรับฟังทุกฝ่าย จึงไม่อยากให้มีการพูดที่เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น ซึ่งหากจะวิพากษ์วิจารณ์ควรพูดอย่างตรงไปตรงมาและพูดให้จบ" นายวิชากล่าว.
นสพ.ไทยโพสต์ 20-02-52