รศ.น.พ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัย และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวในงานเสวนา “ห่างไกลอุบัติเหตุ..รู้จัก First Aids เพื่อลูกน้อย” สำหรับการจัดการความปลอดภัยสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี ว่า อัตราการเสียชีวิตของเด็กทารก (น้อยกว่า 1 ปี) จากการบาดเจ็บที่เกิดจากอุบัติเหตุปีละ 122 ราย และเด็กขวบปี 280 ราย โดยส่วนใหญ่แล้วเกิดกับเด็กผู้ชาย
สาเหตุหลักของการเสียชีวิต คือ การจมน้ำ ตลอดจนการขาดอากาศหายใจในแบบต่างๆ รวมไปถึงจากกระแสไฟฟ้า สารพิษ การหนีบทับ ชนกระแทก และพลัดตกจากที่สูง ดังนั้น การป้องกันดังกล่าว พ่อและแม่ ตลอดจนคนในครอบครัว หันมาใส่ใจกับเรื่องอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกวินาที
โดยเฉพาะสำหรับเด็กเล็กวัยขวบปีแรกที่ไม่สามารถพูดหรือช่วยเหลือตัวเองได้ มีตั้งแต่การบาดเจ็บเพราะรถหัดเดินพลิกคว่ำ การเขย่าตัวเด็ก ซึ่งอาจจะนำไป สู่ภาวะเลือดออกในสมองประสาทตา แขนขาหัก แนะนำว่าพ่อแม่ควรให้เด็กเล็กนอนในท่านอนที่ถูกต้องคือ ท่านอนหงาย มีระยะห่างจากผู้ใหญ่ที่นอนด้วยอย่างน้อย 1 เมตร
นอกจากนี้ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่ควรระวังสำหรับเด็กเล็ก อีกอย่างคือ ของเล่นที่เป็นเส้นสายยาว กว่า 22 ซม.ซึ่งอาจจะเสี่ยงต่อการรัดคอเด็ก รวมถึงเตียงนอน หรือเครื่องนอน จากการศึกษาพบว่าในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีเสียชีวิตต่อปีถึง 180 ราย จากสาเหตุการขาดอากาศหายใจเพราะการติดค้างของศีรษะในช่องว่างระหว่างเตียง กับกำแพง หรือเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ หรือซี่ราวที่มีช่องว่างตั้งแต่ 6 ซม.ขึ้นไป
สำหรับการจัดการความปลอดภัยให้เด็กอายุน้อยกว่า 3 ปีนั้น สามารถทำได้ 3 ทางคือ 1.จัดสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กให้ปลอดภัยทั้งในบ้าน นอกบ้านและการเดินทาง โดยแยกเด็กออกจากจุดอันตราย เช่น ตู้ ประตู บันได ปลั๊กไฟ ของมีคม สารพิษ และแหล่งน้ำ 2. เฝ้าดูแล ปกป้อง คุ้มครองเด็กโดยผู้ดูแลต้องอยู่ในสายตาตลอดเวลาและควรมีความรู้เรื่องการปฐม พยาบาลเบื้องต้น 3.สอนเด็กให้หลีกเลี่ยงจุดอันตราย หรือทักษะการช่วยเหลือตัวเอง ซึ่งในเด็กอายุ 18 เดือนสามารถเรียนรู้คำสั่งได้ง่ายๆ
“หากทำตามขั้นตอนเหล่านี้แล้วลูกยังไม่มีอาการตอบสนอง ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล และระหว่างทางควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นไปพร้อมกัน”
สยามธุรกิจ 30 มี.ค. 2552