มพบ.พัฒนาเครือข่ายผู้บริโภค ‘เก็บตัวอย่าง-เฝ้าระวังอาหาร ยา สินค้าสุขภาพ’ รุกสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ

press pic cover 10102560 001

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเก็บตัวอย่าง-เฝ้าระวังสินค้าและบริการสุขภาพ” เพื่อเสริมความรู้และพัฒนาศักยภาพในการเก็บตัวอย่างสินค้าและบริการประเภทอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพให้กับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อนำไปใช้ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้าถึงระดับท้องถิ่นอย่างมีมาตรฐานถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

วันนี้ (10 ต.ค.60) เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ - มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดกิจกรรมฝึกอบรมปฏิบัติการ การเก็บตัวอย่างและเฝ้าระวังสินค้าและบริการสุขภาพ ภายใต้ โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมความรู้ให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชน สามารถลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่าง ทำการบรรจุ-จัดส่งผลิตภัณฑ์เพื่อส่งตรวจ และเฝ้าระวังสินค้าหรือบริการด้านสุขภาพในท้องถิ่นได้ถูกต้องมีประสิทธิภาพ โดยการบรรยายความรู้การเก็บตัวอย่างเพื่อการทดสอบอาหาร ยาและเครื่องสำอาง จาก ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และคณะ และกิจกรรมฝึกปฏิบัติการเก็บตัวอย่างสินค้า

          นายสมนึก งามละมัย ผู้ประสานงานโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ กล่าวว่า “การมีส่วนร่วมในการทดสอบสินค้าหรือบริการของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจากทั่วประเทศ มีผลดีต่อการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่กว้าง และครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น ทำให้ผลการทดสอบโดยรวม มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น”

          “ผู้เข้าอบรมเองจะได้รับความรู้พื้นฐานในการเลือกซื้อสินค้า ดูข้อมูลบนฉลาก ทำให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคมีความเชี่ยวชาญในการสุ่มเก็บตัวอย่าง โดยเฉพาะสินค้าในตลาดชุมชนที่ดูมีความสุ่มเสี่ยงน่าสงสัยว่าอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไปยังห้องแล็บเพื่อตรวจสอบ และนำผลการทดสอบที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค” นายสมนึกกล่าว

 press pic 10102560 003

 

          นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ความรู้และเทคนิคการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าประเภทอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำอย่างถูกต้องและรวดเร็ว เช่น การคำนวณปริมาณที่ต้องสุ่มเก็บ เลขล็อตการผลิตที่ต้องเป็นชุดเดียวกัน การถ่ายภาพตัวอย่าง การบันทึกข้อมูลฉลากของตัวอย่างอาหารติดบนตัวอย่าง เหล่านี้ต้องทำอย่างระมัดระวังและเข้มงวด เพราะการเก็บตัวอย่างที่ถูกต้องจะสามารถนำส่งตรวจวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสินค้าประเภทอาหารหากเก็บผิดพลาด อาจไม่สามารถส่งตรวจได้ เป็นการเสียเวลาและงบประมาณ”

 

 

 

bareeya01 

          นางสาวบารีย๊ะ ยาดำ ผู้ประสานงานสมาคมผู้บริโภคจังหวัดสงขลา กล่าวว่า “อำเภอหาดใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีสินค้าหลากหลาย มีแหล่งตลาดสดจำนวนมาก สินค้านำเข้าส่วนใหญ่มาจากจีนและมาเลเซียซึ่งไม่มีฉลากภาษาไทย เช่น อาหารแห้งและเครื่องสำอางที่มีความสุ่มเสี่ยง วันนี้ได้เรียนรู้การอ่านและดูฉลากและเลือกเก็บตัวอย่างประเภทอาหารสด อาหารแห้ง สุ่มเก็บอย่างไรให้ครอบคลุม โดยเรามีเครือข่ายอาสาทำงานในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่รู้เทคนิคการเก็บตัวอย่าง จะนำความรู้ในวันนี้ไปถ่ายทอดให้กับคนทำงานพื้นที่ต่อไป”

 

 

  

 

 

puangthong

 

           นางสาวพวงทอง ว่องไว กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคภาคเหนือและผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา กล่าวว่า “ปัญหาการเฝ้าระวังสินค้าและบริการสุขภาพในภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจากประเทศจีน เช่น ขนม อาหารแห้ง ยา และเครื่องสำอาง ซึ่งไม่มีฉลากภาษาไทย มีการตรวจพบสเตียรอยด์ในยาสมุนไพรจีน จากรถขายเร่ที่มาจำหน่ายตามชุมชน ซึ่งเป็นยาที่ไม่ได้จดแจ้ง มาอบรมวันนี้ได้เทคนิคการอ่านฉลาก วิธีการเลือกเก็บตัวอย่างสินค้า การคำนวณปริมาณสินค้าที่ต้องส่งต่อ การบันทึกข้อมูลเอกสารที่นำส่งเพื่อตรวจสอบสินค้า ซึ่งทั้งหมดจะได้นำไปใช้ทำงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

           ทั้งนี้ ภายหลังการฝึกอบรมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจะลงพื้นที่เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในชุมชนส่งศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการมาตรฐานต่อไป ซึ่งจะส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนครอบคลุมพื้นที่ระดับประเทศมากขึ้น

 

 

press pic 10102560 002          

พิมพ์ อีเมล