‘กรรณิการ์’ ชี้ หาก คกก.แข่งขันทางการค้าฯ ยังไม่ปรับเกณฑ์พิจารณาฯ ยากที่ไทยจะก้าวพ้นปมขาใหญ่ผูกขาดตลาด

  

press 12102560 cover ok

 

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาไม่รับอุทธรณ์คดี ยืนตามคำตัดสินของศาลปกครองชั้นต้น ที่ตัดสินว่าคำวินิจฉัยคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเป็นการออกคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ ยื่นฟ้องกระทรวงพาณิชย์และผู้เกี่ยวข้อง เหตุละเลย-ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ในประเด็นที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า หลังไม่เห็นด้วยกับผลพิจารณาให้การกระทำของ บริษัทยาฯ แอ๊บบอตฯ ที่ยกเลิกคำขอขึ้นทะเบียนยา ไม่เข้าข่ายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด และไม่เป็นการละเมิด พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเห็นว่าเป็นการทำการค้าที่ไม่มีจริยธรรม ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม รวมระยะเวลาคดีกว่า 9 ปี

 วันนี้ (12 ต.ค.60) เวลา 14.00 น. ณ ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ –

          นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมตัวแทนมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ประเทศไทย ฝั่งผู้เป็นโจทก์เดินทางไปรับฟังคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด หลังยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำพิพากษาว่า การกระทำของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าต่อการวินิจฉัยในการกระทำของ บริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด (ประเทศไทย) ที่ถอนคำร้องขอขึ้นทะเบียนยาและอาหารเสริม 10 รายการ อาทิยาต้านไวรัสเอชไอวี เป็นการออกคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการกระทำของบริษัทยา แอ๊บบอตฯ ไม่เข้าข่ายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ตามมาตรา 25 และไม่เป็นการละเมิด มาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 โดยในวันนี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินไม่รับอุทธรณ์ โดยยืนตามคำตัดสินของศาลชั้นต้น ที่ชี้ว่าคำวินิจฉัยคณะกรรมการแข่งขันทางการค้านั้นเป็นการออกคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

press 12102560 002

 

         นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล อดีตกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “แม้จะมีการแก้ พรบ.แข่งขันทางการค้าแล้วแต่ก็ยังไม่เคยสามารถแก้ไขการผูกขาดได้ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าชุดใหม่ต้องกลับไปดูหลักเกณฑ์การพิจารณาว่า ธุรกิจที่จะเข้าข่ายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดได้จะต้องทำยอดขาย 1,000 ล้านบาท หรือต้องถือครองตลาดเกิน 50% ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ไม่สามารถใช้ได้จริง ซึ่งควรต้องดูรายละเอียดกลไกอื่นๆ ด้วย ยาหนึ่งตัวกับโรคหนึ่งโรค จะใช้เกณฑ์ยาทั้งระบบไม่ได้ ต้องดูธรรมชาติในการผูกขาด ดูการเข้าถึง แม้แต่การถอนคำขอขึ้นทะเบียนยา ถ้าคุณจงใจไม่ขึ้นทะเบียน ก็เท่ากับว่าทำให้คนซื้อยาของคุณไม่ได้ ก็คือคุณจงใจไม่ขายยานั่นเอง หรือถ้าคุณมีสินค้านิดเดียว แต่คุณยึดช่องทางการขายเอาไว้หมด ยังไงยาก็ต้องออกมาจากช่องทางนี้ อย่างนี้ถือว่ามีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ ถ้าหากคณะกรรมการฯ มีมุมมองที่คับแคบเช่นนี้ คงไม่ต้องมาอ้างว่านี่คือผลงาน เพราะมันจะไม่มีการแข่งขันทางการค้าเกิดขึ้น เพราะคุณเอื้ออำนวยให้บริษัทฯ ขนาดใหญ่ยึดตลาดได้”


         “ในต่างประเทศคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ทำงานเชิงรุกมีหน้าที่ลงไปดูแวดวงการค้าทุกประเภทให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยไม่ต้องมีผู้ร้องขอ ตราบใดยังเป็นเช่นนี้กฎหมายแข่งขันทางการค้าที่แก้ใหม่ก็คงไม่มีประโยชน์ ฉะนั้นคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าและรัฐบาลควรต้องไปพิจารณาว่าจะทำอย่างไรที่จะทำหน้าที่นี้ได้อย่างสมบูรณ์จริงๆ มากกว่าแค่พูด”


         “ความหวังว่าจะชูเอสเอ็มอี (SME) ให้เติบโต คงจะมีแต่ธุรกิจใหญ่ๆ ที่สามารถดำเนินการได้ โดยเฉพาะกฎหมายฉบับนี้ที่ยกเว้นให้รัฐวิสาหกิจที่ดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ของสังคมตามนโยบายรัฐ ซึ่งคงต้องมานั่งตีความ แต่ถ้าปล่อยไปไม่ตีความก็กลายเป็นว่าปล่อยให้รัฐวิสาหกิจทำอะไรก็ได้ นัยสำคัญอยู่ตรงนี้” อดีตกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว

press 12102560 003

  

         นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “การขึ้นทะเบียนยาเป็นส่วนหนึ่งของการจำหน่าย อยู่ดีๆ คุณเอายามาขายเลยไม่ได้ มันผิดกฎหมาย การที่บริษัท แอ๊บบอตฯ ถอนทะเบียนยา เท่ากับว่าจับผู้บริโภคเป็นตัวประกัน ผู้ติดเชื้อได้ทดลองซื้อยาในต่างประเทศก็ซื้อไม่ได้ ในตอนนั้นยาตัวนี้ต้องถือว่ามีความสำคัญมาก ผู้ป่วยจะต้องใช้ยาที่แช่ในกระติกน้ำแข็งอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะได้ใช้ยาที่มีความสะดวกกว่า ซึ่งจะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า เราเชื่อว่าการกระทำของบริษัทยาส่งผลต่อการใช้ยาของผู้ป่วย”


         ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ประเทศไทย เป็นโจทก์ฟ้องคดีในวันที่ 26 สิงหาคม 2551 จนถึงวันนี้ นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 9 ปี แม้จะรู้สึกผิดหวังแต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายฯ ก็ยอมรับกับคำตัดสินของศาลในครั้งนี้

 

พิมพ์ อีเมล