ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนผู้ฟ้องคดี ที่ผู้ฟ้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน เหตุสำนักงานเขตปทุมวันปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร กรณีต้องดำเนินการรื้อถอนอาคารสูง 2 อาคารในซอยร่วมฤดี ตามคำสั่งบังคับคดีของศาลปกครองสูงสุด ตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.57 ซึ่งคู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้เดินทางมายังศาลตามนัด ทางผู้ฟ้องคดีโดย นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ และพวกพร้อมทนายความ ส่วนทางผู้ถูกฟ้องคดีโดยมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ผู้อำนวยการเขตปทุมวันเดินทางมาให้ถ้อยคำต่อศาลในบ่ายวันนี้
วันนี้ (7พ.ย.60) เวลา 13.00 น. ณ ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ และผู้รับมอบอำนาจแทนผู้ฟ้องคดี พร้อมด้วยนายเฉลิมพงษ์ กลับดี ทนายความผู้รับผิดชอบคดี เดินทางมายังศาลปกครองกลางเพื่อให้ถ้อยคำต่อศาล ในคดีหมายเลขดำที่ 1475/2551 และคดีหมายเลขแดงที่ 208/2555 ระหว่าง นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ และพวกรวม 24 ราย ผู้ฟ้องดคี กับ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร กรณี ผอ.เขตปทุมวันและผู้ว่าฯ กทม. ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำบังคับคดีของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.57 รวมถึงยังมีคำสั่งลงวันที่ 30 ก.ย.59 ให้ ผอ.เขตปทุมวัน และ ผู้ว่าฯ กทม. ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลปกครองให้ครบถ้วน แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่ได้ดำเนินการให้ครบถ้วนตามคำสั่งศาล
ด้าน พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้ความเห็นต่อสื่อมวลชนว่า หลังจากที่ทราบหมายศาลก็รีบดำเนินการติดป้ายระงับการใช้อาคารดังกล่าวทันที เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับแจ้งไปยังเจ้าของอาคารทั้งสอง ว่าหากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามทางสำนักงานเขตปทุมวันจะกล่าวโทษร้องทุกข์ต่อ สน.ลุมพินี เพื่อดำเนินการเอาผิด โดยมีการปรับตามกำหนด คือวันละไม่เกิน 15,000 บาท รวมสองอาคารเป็นค่าปรับจำนวน 30,000 บาทต่อวัน
ในส่วนของการดำเนินการรื้อถอนอาคาร คาดว่าจะเริ่มดำเนินการรื้อถอนได้ในเดือน ก.พ.61 เนื่องจากที่ผ่านมีการสำรวจข้อมูลถึงผลกระทบของการรื้อถอนอาคาร และประเมินค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนออกมาแล้ว รวมสองอาคารใช้งบประมาณเกือบ 200 ล้านบาท โดยการดำเนินการดังกล่าวต้องเป็นไปตามระเบียบ ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาในการประมูล e-bidding จัดซื้อจัดจ้างประมาณ 90 วัน และหากได้ทำสัญญารื้อถอนแล้วจะใช้ระยะเวลาการรื้อถอนแล้วเสร็จภายใน 365 วัน
ด้าน นายเฉลิมพงษ์ กลับดี ทนายความผู้รับผิดชอบคดี และหัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ระยะเวลาการต่อสู้เกือบ 9 ปี เมื่อทราบจากผู้ว่าฯ กทม.ว่าจะมีกำหนดการดำเนินการรื้อถอนเดือน ก.พ.61 ถ้าเป็นไปตามนั้น ชาวบ้านก็คงจะพอใจ ซึ่งทั้งนี้นอกจากเจ้าของอาคารจะถูกดำเนินการเทียบปรับแล้ว ยังอาจมีความผิดทางอาญาด้วย หากยังขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน และถ้าหากเป็นคำสั่งศาลจะมีกำหนดค่าปรับมากกว่าเดิม จากวันละ 15,000 เป็นวันละ 30,000 บาท สองอาคารก็ 60,000 บาทต่อวัน”
นายเฉลิมพงษ์ กล่าวเสริมอีกว่า นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านได้ร้องเรียนเข้ามาเรื่องการก่อสร้างอาคารสูงในซอยแคบของพื้นที่กรุงเทพมหานครอีกเช่นกัน
ทั้งนี้ หลังจากศาลได้รับฟังถ้อยคำจากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายแล้ว จะมีคำวินิจฉัยและคำสั่งในประเด็นที่ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจงใจมิได้ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลให้ถูกต้องครบถ้วนหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ อย่างไร ให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้ทราบโดยเร็วต่อไป