ผู้บริโภคหนุน อย. คุ้มครองผู้บริโภคยุค 4.0

600315 news1
ใน เวทีเสวนา “การสร้างความมั่นใจ และความยุติธรรมแก่ผู้บริโภคในการโฆษณา และซื้อขายออนไลน์ : Building a Better Digital World Consumers Can Trust” ในงานเวทีสัมมนาผู้บริโภค และรณรงค์วันสิทธิผู้บริโภคสากล จัดระหว่าง วันที่ 14 – 15 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร



นายมนต์ศักดิ์ ชัยวีระเดช อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสถานการณ์การโฆษณาบนโลกออนไลน์ว่า การโฆษณาต่างๆก็ยังเหมือนเหมือน แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือช่องทาง และกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ

“รูปแบบการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ มีทั้งภาพและคลิป ซึ่งในโลกออนไลน์นั้นมีการสื่อสาร 2 ทางผ่านช่องทางของโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งเข้าถึงทุกคนตลอด ผู้บริโภคถูกจับตาและเก็บข้อมูลเพื่อพัฒนารูปแบบและช่องทางการสื่อสารตลอดเวลา เพื่อป้อนสื่อใหม่ให้ผู้บริโภค โฆษณาต่างๆผุดขึ้นตามโลกออนไลน์เช่นกัน แต่สิ่งที่ต้องคิดก็คือจะคุ้มครองตัวเองได้อย่างไร” อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์ฯ กล่าว

ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล กรรมการทันตแพทยสภา กล่าวถึงการจัดฟันแฟชั่นในโลกออนไลน์ว่า มีการขายลวด เหล็กดัดฟันจำนวนมาก ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างทดสอบพบแคดเมียมในลวดดัดฟัน
“ทุกอย่างมีขายบนโลกออนไลน์ ไม่มีที่ตั้งร้านค้าที่แน่นอน การตรวจจับจึงค่อนข้างยาก แต่ช่องทางการขายเยอะมากทั้งอินตราแกรม เฟสบุ๊ค ไลน์ ซึ่งลวดดัดฟันถือเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์แต่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยควบคุมยาก” ทพ.ธงชัยกล่าว

ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน เจ้าของเพจหมอแล็บแพนด้า กล่าวว่าตนเองก็เป็นผู้บริโภคคนหนึ่งที่ซื้อ และถูกฟ้องจากผลิตภัณฑ์สุขภาพยี่ห้อหนึ่ง มีผู้บริโภคจำนวนมากที่ใช้ผลิตภัณฑ์แล้วมีปัญหาแต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้
“ถ้าจะเป็นไปได้ผู้บริโภคอย่างเราอาจจะต้องรวมตัวกันร้องเรียน หรือรวมตัวกันให้ข้อมูลต่างๆให้กับคนอื่นๆน่าจะเป็นไปได้ไหม” เจ้าของเพจหมอแล็บแพนด้ากล่าว

นางสาวสถาพร อารักษ์วทนะ นักวิจัยอิสระ เผยผลการศึกษาการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพออนไลน์พบว่าปัญหาที่ผู้บริโภคเผชิญอยู่ก็คือ ไม่มีข้อมูลเพียงพอในการเลือกซื้อ รวมถึงแม้จะมีเครื่องหมาย อย.รับรองในผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่จะเชื่อได้แค่ไหน

“อย.ไม่ออกมาแถลงหรือยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัญหา หรือที่โฆษณาไหนอนุญาตบนโลกออนไลน์ ขอให้ อย.จัดทำคลังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพสาธารณะ ออนไลน์ให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลพื้นฐานได้ โดยให้ อย.ระบุทั้ง รายละเอียดผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ ผู้ผลิต โฆษณา จัดจำหน่าย ข้อความที่ได้รับอนุญาติโฆษณา ทำให้ผู้บริโภคมีความรู้รอบด้าน และผู้ประกอบการเองก็จะทำให้ได้รับการรับรองหรือตรวจสอบได้ และหากโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาติออกมาทำให้รู้ได้เลยว่าผิดกฎหมาย หากผลักดันตรงนี้ออกมาได้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก” นางสาวสถาพรกล่าว

พิมพ์ อีเมล