ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและเสนอแนะแนวทาง การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เสนอให้มีการแก้ไขพรบ.คุ้มครองผู้บริโภคปี 2522 แก้ไขปี 2541 และแก้ไขปี 2556 นั้น คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโคภาคประชาชน (คอบช.) พบว่า หลายประเด็นกระทบกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และขัดกับ มาตรา 46 ของร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติ ที่กำหนดว่าสิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ...โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ แต่ สนช.กลับนำสิทธิการรวมตัวกันของภาคประชาชนไปอยู่ภายใต้ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ที่กำลังดำเนินการแก้ไข หรือเท่ากับนำสิทธิในการรวมตัวกันโดยอิสระไปซุกอยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ย้อนยุคและเคยถูกคัดค้านมาโดยตลอด
ในร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ....ฉบับ สนช. นี้ ในมาตรา มาตรา 62 ถึงมาตรา 67 ของร่างพระราชบัญญัติขัดกับร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 46 ในหลายประเด็นได้แก่
1. องค์กรที่จะมีสิทธิในการรวมตัวกันเป็นองค์การอิสระผู้บริโภค ถูกจำกัดให้ต้องเป็นสมาคมและมูลนิธิที่จะต้องได้รับการรับรองหรืออนุญาตจากสคบ. เท่านั้น เท่ากับว่า การรวมตัวกันขององค์กรผู้บริโภคในรูปแบบอื่นๆ เช่น ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดต่างๆ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค สภาผู้บริโภคจังหวัดต่างๆ ไม่มีสิทธิตามกฎหมายฉบับนี้ ทั้งที่ตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 วรรคสอง กำหนดให้มีสิทธิรวมตัวกันเป็นองค์กรผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โดยไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบสมาคมและมูลนิธิเท่านั้น แต่มาตรา 63 กลับกำหนดให้ต้องเป็นองค์กรที่ต้องจดทะเบียนในรูปแบบสมาคมและมูลนิธิเท่านั้น
2. มาตรา 46 ตามรัฐธรรมนูญ กำหนดให้การรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรที่มีความเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคได้อย่างอิสระ แต่ภายใต้มาตรา 62 ถึงมาตรา 67 กลับจำกัดการรวมตัวขององค์กรผู้บริโภคให้เป็นเพียงคณะกรรมการองค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่อยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงเท่ากับเป็นองค์กรผู้บริโภคที่ขาดอิสระ
3. มาตรา 64 ของร่างแก้ไข กำหนดให้องค์กรผู้บริโภค ทำหน้าที่เพียงการให้ความคิดเห็นต่อส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชนหรือหน่วยงานอื่นของรัฐเพื่อพิจารณาในการตรากฎหมาย กฎและข้อบังคับและในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยไม่สามารถนำเสนอความเห็นต่อรัฐบาลได้
ดังนั้น ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ... ของ สนช. ที่แม้จะอ้างเรื่องการบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้บริโภคนั้น อย่างไรก็ตามไม่ควรควบรวมเอาอำนาจอันเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน ผู้บริโภค เข้าไปอยู่ภายใต้การทำงานของหน่วยงานรัฐ หรือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เพราะนั่นคือการจำกัดสิทธิเสรีภาพของภาคประชาชน และไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคหรือสิทธิการรวมตัวกันของผู้บริโภคควรมีกฎหมายเฉพาะเพื่อการจัดตั้งองค์กรดังกล่าวขึ้นมา ดังเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ ที่บอกไว้อย่างชัดเจนว่า ...มีสิทธิรวมตัวกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค...
คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จึงขอแสดงจุดยืนคัดค้าน ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ดังกล่าว ที่จะรวมเอาการจัดตั้งองค์การอิสระผู้บริโภคเข้าไปอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ และขอเรียกร้องให้พิจารณาเร่งรัดการออกกฎหมายเพื่อการจัดตั้งองค์การอิสระผู้บริโภค ที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง
ในส่วนของ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค ที่แก้ไขนั้น คอบช.เอง ยังพบว่า ปราศจากการมีมีส่วนร่วมจากผู้บริโภค และ องค์กรผู้บริโภค ไม่ก้าวหน้าอีกหลายประเด็นดังนี้
1. การจำกัดขอบเขตความหมายของคำว่า “ผู้บริโภค” ทำให้ผู้บริโภคเสียผลประโยชน์ ทั้งที่ใช้สินค้าหรือบริการนั้นจริง แต่กฎหมายกลับจำกัดถ้อยคำนิยาม เพียงการซื้อสินค้าและการใช้บริการต้องเป็นการใช้สอยส่วนตัว โดยไม่มีการนำไปใช้หรือให้บริการต่อเพื่อกิจกรรมทางพาณิชย์ ทางอุตสาหกรรม ทางศิลปวัฒนธรรม หรือทางวิชาชีพของผู้ซื้อหรือรับบริการนั้น เช่น ทนายความ ซึ่งเป็นวิชาชีพด้านกฎหมายซื้อรถยนต์เพื่อขับไปว่าความในศาล หรือติดต่อลูกความ ซึ่งเป็นการซื้อสินค้าเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมทางวิชาชีพของผู้ซื้อ จึงไม่เป็นผู้บริโภคตามร่างกฎหมายนี้ หรือซื้อรถกระบะเพื่อส่งผัก หากรถยนต์นั้นชำรุดบกพร่องก็ถือว่าผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวไม่นับเป็นผู้บริโภค เพราะเป็นผู้ประกอบการที่ซื้อสินค้า
2. สิทธิผู้บริโภคในมาตรา 6 ของร่างแก้ไข ไม่สอดคล้องกับสิทธิผู้บริโภคสากล ได้แก่
2.1 สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในฐานะตัวแทนผู้บริโภคเพื่อให้ได้รับประโยชน์ที่พึงได้ (The Right to be Heard) รวมทั้งร่วมกำหนดหลักเกณฑ์กับรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภค
2.2 สิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี(The Right to Healthy Environment) ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียตนาม ลาว และพม่าที่ได้จัดทำกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคได้รวมสิทธิผู้บริโภคในระดับสากลผนวกรวมเข้าไว้ด้วย
2.3 สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว และการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างอิสระ(The Right to Privacy and Freedom to Communicate) ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิผู้บริโภคที่กำลังปรับปรุงในหลักเกณฑ์ว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคของสหประชาชาติ
ทั้งสามประการนี้ไม่ปรากฎในร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภคฉบับแก้ไข