บริษัทยอดเยี่ยม-ยอดแย่"51 กระจกสะท้อน "ความรับผิดชอบ" ธุรกิจ

การประกาศผลโหวตจาก โครงการสำรวจความเห็นของ ผู้บริโภคเรื่องผลิตภัณฑ์ บริการ และโฆษณา ยอดเยี่ยม/ยอดแย่ ประจำปี พ.ศ. 2551 โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและภาคีเครือข่าย เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงไม่เพียงเป็นครั้งแรกในไทยที่มีการจัดอันดับบริษัทยอดเยี่ยมและยอดแย่ 

ในเวลาเดียวกันนี้เป็นเสมือนสัญญาณ จากผู้บริโภค และอาจจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการเคลื่อนแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในอนาคต !!

กระจกสะท้อน "ธุรกิจ" 


รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการทำโครงการนี้เพื่อสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคและให้ความสำคัญกับสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์และบริการแม้กระทั่งสื่อโฆษณา ในขณะที่องค์กรธุรกิจเองจะได้เห็นว่าการส่งเสียง ของผู้บริโภคมีผลกระทบต่อผู้ผลิต และเป็นกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนให้ผู้ผลิตปรับพฤติกรรมในบางเรื่อง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตมีความเข้มแข็ง ดังเช่นในต่างประเทศการทำแบบนี้จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้เรื่องนี้ลงสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงมากขึ้น 



"ที่ผ่านมาเราได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าและบริการต่างๆ ที่ละเมิดสิทธิของผู้บริโภคเป็นจำนวนกว่า 3,000 เรื่อง การจัดกิจกรรมนี้จะทำให้ผู้บริโภคมี ช่องทางในการแสดงความคิดเห็นต่อสินค้า บริการ และโฆษณาที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค และในขณะเดียวกันก็จะเป็นการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ บริการ และโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไปพร้อมกันด้วย" รศ.ดร.จิราพรกล่าว

เบบี้มายด์-SCB-ไทยประกันเข้าวิน
สำหรับผลการตัดสินจากผลโหวตของประชาชนกว่า 3,000 คนทั่วประเทศ จากการสำรวจของเอแบคโพลและสื่อมวลชนทั้งอินเทอร์เน็ต และโทรทัศน์ ฯลฯ พบว่าบริษัทยอดเยี่ยมแบ่งเป็น 3 รางวัล 1.ผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยม ได้แก่ แป้งเด็กเบบี้มายด์ เนื่องจากผู้บริโภคเห็นว่ากลิ่นหอม เนื้อแป้งละเอียดเนียนนุ่ม ราคาประหยัด ไม่แพ้ง่าย 2.บริการยอดเยี่ยมได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เพราะเอาใจใส่ลูกค้า บริการรวดเร็ว ให้คำแนะนำดี (โดยไม่ได้พิจารณาเรื่องโครงสร้างดอกเบี้ย) และ 3.รางวัลโฆษณายอดเยี่ยมได้แก่ โฆษณา ชุดแม่ต้อยของบริษัทไทยประกันชีวิต ด้วยเหตุผลว่า เป็นโฆษณาที่มีเนื้อหากินใจ สร้างสรรค์ 

ปตท.คว้า บ.ยอดแย่
สำหรับบริษัทยอดแย่ในสายตาผู้บริโภค 3 รางวัล ได้แก่ผลิตภัณฑ์ยอดแย่ได้แก่ ก๊าซและน้ำมันของบริษัท ปตท. เนื่องจาก ผู้บริโภคเห็นว่ามีราคาแพง การควบคุมราคาขายของทางร้านไม่ชัดเจน ถังเก่า น่ากลัวอันตราย ไม่ชอบผู้ถือหุ้น มีการขนส่งที่ล่าช้า ใช้ได้เฉพาะรถบางชนิดเท่านั้น และใช้ราคาน้ำมันจากประเทศสิงคโปร์ โดยไม่ยอมใช้ราคาต้นทุนที่แท้จริงทั้งที่เป็นรัฐวิสาหกิจ บริการยอดแย่ได้แก่ บริการ รถโดยสารสาธารณะ ที่รวมตั้งแต่รถประจำทางของ ขสมก. รถร่วม รถทัวร์ของ บ.ข.ส. รถไฟ เพราะพนักงานไม่สุภาพ ที่นั่งแคบ ไม่ตรงเวลา และขายตั๋วเกินราคา สภาพรถไม่ดี ขับรถเร็ว รู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ที่พบว่าประเทศไทยมีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะเฉลี่ยปีถึงละ 3,000-4,000 ครั้ง ส่วนโฆษณายอดแย่ได้แก่โฆษณาของบริษัททีวี ไดเร็ค โดยให้เหตุผลว่า เป็นการโฆษณาเกินจริง น่าเบื่อ สินค้าไม่มีคุณภาพ เป็นสินค้าไม่จำเป็น ชักจูงเกินไปและหลอกลวง ประชาชน 

แม้จะเป็นเวทีเล็กๆ แต่ผลจากเวทีนี้ย่อมเป็นกระจกสะท้อนสำคัญถึงการทบทวนถึงความรับผิดชอบขององค์กรที่เป็นเพียงคำกล่าวอ้างของใครหลายคน !!

ข้อมูลจาก  ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พิมพ์ อีเมล