สหรัฐจับตาไทยละเมิดลิขสิทธิ์ คงสถานะเดิม‘พีดับเบิลยูแอล’

โพสต์ทูเดย์ — เป็นไปตามคาด สหรัฐจัดไทยอยู่ในบัญชีต้องจับตามองเป็นพิเศษ ในฐานะประเทศคู่ค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า สหรัฐอเมริกาได้ประกาศผลการจัดอันดับไทยตามกฎหมายการค้ามาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2552 แล้ว และยังคงให้ไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (พีดับเบิลยูแอล) เหมือนกับปี 2551

สหรัฐให้เห็นผลว่าการคุ้มครอง และบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของไทยยังคงสร้างความห่วงกังวลให้ กับสหรัฐ ซึ่งเป็นการใช้ข้อมูลของปี 2551 ทั้งที่ไทยได้แก้ไขปัญหาไปมากแล้วในปีนี้

ขณะเดียวกัน สหรัฐยังหวังให้ไทยสานต่อการทำงาน เพื่อให้การละเมิดลิขสิทธิ์ ซีดี ซอฟต์แวร์ สัญญาณเคเบิล และหนังสือลดน้อยลง ตลอดจนมีการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการจดทะเบียนสิทธิบัตร และขอให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิบัตรยา และหวังว่าไทยจะพิจารณาแก้ปัญหาสาธารณสุขในเชิงที่ส่งเสริมการลงทุนพัฒนาวิจัยและเสถียรภาพระบบสิทธิบัตร

นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า การ จัดสถานะครั้งนี้มี 12 ประเทศที่อยู่ในบัญชีพีดับเบิลยูแอล ได้แก่ จีน รัสเซีย แอลจีเรีย อาร์เจนตินา แคนาดา ชิลี อินเดีย อินโดนีเซีย อิสราเอล ปากีสถาน เวเนซุเอลา และไทย

ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผลการตัดสินที่เกิดขึ้น ระบุถึงการที่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปสัญญาที่จะให้ความสำคัญในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้สูงขึ้น จนทำให้ผู้แทนการค้าสหรัฐมีความพอใจและคงสถานะของประเทศไทยไว้ ไม่ให้ปรับเป็นประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นสูงสุด (พีเอฟซี)

รัฐบาลควรบริหารประเทศอย่างโปร่งใสด้วยการเปิดเผยแผนปฏิบัติการที่รมช.พาณิชย์ไปสัญญากับทางยูเอสทีอาร์ทันที เพราะมาตรา 301 ของสหรัฐ เป็นเครื่องมือกดดันประเทศต่างๆ เพื่อตัวเองจะได้ของแถมที่เกินไปกว่าความตกลงทรัพย์สินทางปัญญา (ทริปส์) ทำให้ไทยเสียเปรียบ

“อยากเตือนกระทรวงพาณิชย์ ควรทำงานในหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ แล้วไทยจะหลุดจากพีดับเบิลยูแอลเอง” ภญ.จิราพร กล่าว

ข้อมูลจาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ 2/5/52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน