เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเสวนาเรื่อง “ดุลยพินิจรัฐไทย ผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชน” ที่โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า รัฐมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ รวมถึงมีหน้าที่กำกับดูแล ซึ่งก็ต้องทำหน้าที่ด้วย เพราะดุลยพินิจของรัฐไทยไม่ตรงไปตรงมา อย่างกรณีการแก้สัญญาสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์ทำให้เป็นภาระกับภาคธุรกิจและประชาชน ที่ขยายระยะเวลาสัมปทาน และเพิ่มค่าผ่านทาง อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนมากเกินไป และสร้างภาระให้กับคนใช้ทางผ่านโทลล์เวย์
“การใช้ดุลยพินิจของรัฐทำให้เกิดความเสียหายต่อภาคประชาชน และเอกชน เกิดความเสียหายขึ้น ๒,๐๐๐ กว่าล้านบาท ซึ่งเราต้องการกลไกกลางที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้บริโภคคอยตรวจสอบเพื่อทำให้ดุลยพินิจนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศ และจะทำให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยตัดสินใจด้วยเหตุและผล” นางสาวสารีกล่าว
เลขาธิการฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กลไกนี้จะเป็นเครื่องมือของประชาชน เพื่อกำกับรัฐให้เป็นธรรมและคุ้มครองผู้บริโภค เพราะสิ่งสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคคือทำให้ทุกคนจัดการชีวิตตัวเองได้
ด้าน ผศ.พรเทพ เบญญาอภิกุล นักวิจัยโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม ให้ความเห็นว่า ความไม่แน่นอนในการกำกับดูแลของรัฐสร้างความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภค เพราะอิทธิพลของผู้ประกอบการจะมีมากกว่าผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภครวมตัวกันได้ยาก และการกำกับดูแลของรัฐแทนที่จะไปช่วยผู้บริโภคกลับไปปกป้องผู้ประกอบการแทน จึงต้องมีการทบทวนการกำกับดูแลอยู่เสมอ ซึ่งต้องการการมีส่วนร่วมจากหลายองค์กร