“รวมพลังตั้งสภาผู้บริโภคแห่งชาติ วันสิทธิผู้บริโภคสากล พร้อมเรียกร้องบริษัท ลดและยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในอาหาร หลังพบยังเมินเฉยต่อปัญหาเชื้อดื้อยาทั่วโลก”
วันนี้ (10 มี.ค.59) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เชิญชวนร่วมจัดงานวันสิทธิผู้บริโภคสากล วันที่ 15 มีนาคม 2559 ณ ห้องกินนรี โรงแรม อมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสมาชิกสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล กล่าวว่า ปีนี้ผู้บริโภคจากทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยร่วมกันรณรงค์ให้บริษัทฟาสต์ฟู้ด มีนโยบายลดและยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร จากข้อมูลล่าสุดของสหพันธ์ผู้บริโภคสากลเปิดเผยว่า แมคโดนัลด์ซึ่งมีสาขาใน 100 ประเทศทั่วโลกแสดงจุดยืนที่ชัดเจนใน 2 ประเทศเพียงในสหรัฐฯ และแคนาดาเท่านั้น โดยให้คำมั่นว่า แมคโดนัลด์อเมริกาจะรับซื้อเฉพาะเนื้อไก่จากฟาร์มที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดที่ใช้ในคนภายในปี พ.ศ. 2560 ในขณะที่แมคโดนัลด์แคนาดาจะทำเช่นเดียวกันในอีก 1 ปีต่อมา
นางสาวสารี เพิ่มเติมว่า บริษัทซับเวย์ แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในสหรัฐฯ โดยจะรับซื้อเฉพาะเนื้อไก่ปลอดยาปฏิชีวนะภายในปี พ.ศ. 2559 เนื้อไก่งวงปลอดยาปฏิชีวนะภายในปี พ.ศ. 2562 และเนื้อวัว เนื้อหมูที่ปลอดยาปฏิชีวนะภายในปี พ.ศ. 2568 แต่ซับเวย์ใช้นโยบายดังกล่าวเพียง 1 ใน 111 ประเทศที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่เท่านั้น ขณะที่เคเอฟซี ไม่แสดงจุดยืนใดๆ ในเรื่องดังกล่าว
“สามบริษัทนี้มีร้านอาหารในเครือรวมกันกว่า 100,000 สาขาทั่วโลก นั่นแสดงถึงอิทธิพลที่บริษัทมีต่อตลาดสินค้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ นโยบายของบริษัทสามารถส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะในการเกษตรได้ เพื่อแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา” เลขาธิการฯ กล่าว
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้อำนวยการ กพย. กล่าวว่า การดื้อยาทำให้เกิดวิกฤติทางสุขภาพของผู้คนทั่วโลก สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นในการเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้คาดว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคการเกษตรจะเพิ่มขึ้นจาก 63,200 ตันในปี พ.ศ. 2553 เป็น 105,600 ตันในปีพ.ศ. 2573 ถ้าไม่จัดการปัญหานี้โดยด่วนอาจต้องพบกับสถานการณ์ที่การติดเชื้อทั่วไปหรือการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยสามารถคร่าชีวิตผู้คนได้
“คนไทยตายจากเชื้อดื้อยาปีละ 38,000 คน ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 40,000 ล้านบาท ถือเป็นสถานการณ์ที่น่าวิตกมาก จากงานวิจัยประมาณการว่า มีคนไทยตายเฉลี่ยจากเชื้อดื้อยาวันละประมาณ 100 คน สูงกว่าตัวเลขเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งคนไทยมีโอกาสรับเชื้อแบคทีเรียดื้อยาได้จากหลายแหล่ง การแก้ปัญหาจึงต้องร่วมกันแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น ในการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะให้เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล รวมไปถึงกลุ่มวิชาชีพแพทย์ หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปก็ต้องช่วยกันแก้ปัญหาในเรื่องนี้ โดยต้องตระหนักและมีความเข้าใจในการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลด้วย
ด้านนางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล กรรมการ คอบช. กล่าวว่า คอบช.ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค ทำหนังสือถึงบริษัทฟาสต์ฟู้ด 5 แห่งในประเทศไทย ได้แก่ แมคโดนัลด์, ซับเวย์, เคเอฟซี, เชสเตอร์ กริลล์ และซิสเลอร์ เพื่อขอให้ยุติการใช้เนื้อสัตว์ที่มีกระบวนการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญ 3 ประการ คือ 1.ขอให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์ที่นำมาประกอบอาหารเพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภค 2.เรียกร้องให้บริษัทมีแผนปฏิบัติการลดและยุติการใช้เนื้อสัตว์ที่ถูกเลี้ยงด้วยยาปฏิชีวนะ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และ 3.ขอให้มีตัวแทนจากนักวิชาการภายนอกตรวจสอบแผนปฏิบัติการลดและยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์และรายงานต่อสาธารณะทุก 3 เดือน
อนึ่งในงานวันสิทธิผู้บริโภคสากล เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จะจัดประชุมสภาผู้บริโภคแห่งชาติขึ้นครั้งแรก เพื่อให้เป็นกลไกของผู้บริโภคในการช่วยติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค และร่วมกันผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างชัดเจน ในการทำหน้าที่ให้ความเห็น สนับสนุนหน่วยงานรัฐในการกำกับดูแลการคุ้มครองผู้บริโภค สนับสนุนให้ผู้บริโภคมีข้อมูล ความรู้เท่าทันการใช้ชีวิต รวมทั้งเพิ่มโอกาสให้ผู้บริโภคเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
ทั้งนี้เครือข่ายผู้บริโภคทำกิจกรรมยืนถือป้ายคำรณรงค์หน้าร้านฟาสต์ฟู้ดในห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน เช่น เอายาปฏิชีวนะออกจากอาหารของเรา #Antibioticsoffthemenu เป็นต้น โดยสามารถร่วมลงชื่อสับสนุนแคมเปญนี้ได้ใน www.change.org
หมายเหตุ
วันที่ 15 มีนาคมของทุกปี ถือเป็น “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” โดยปีนี้ให้ความสำคัญเรื่องอาหารปลอดภัยและร่วมกันรณรงค์ทั่วโลก “เอายาปฏิชีวนะ ออกจากอาหารของเรา” (Antibiotics Off the Menu) เพื่อลดและยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในการกระบวนการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร