เผยสถิติผู้ร้องเรียนไตรมาส 2 / 62 มพบ. พบปัญหาโฆษณาเกินจริง ยังครองอันดับ 1

info consumersituation2 april jun 1มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยสถานการณ์ผู้บริโภคไตรมาสที่ 2 ช่วงเดือนเมษายน – เดือนมิถุนายน 62 พบปัญหาโฆษณาเกินจริง ในหมวดอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยังเป็นปัญหามากที่สุด

วันที่ 1 สิงหาคม 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 ตั้งแต่เดือนเมษายน - เดือนมิถุนายน โดยที่ผ่านมา มพบ. และเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค ได้ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด จำนวน 482 ราย

          ปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบและร้องเรียนมากเป็นอันดับหนึ่งยังคงเหมือนกับสถิติในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 คือ หมวดอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ 160 ราย คิดเป็นร้อยละ 33.20 ของจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด รองลงมา คือ หมวดการเงินการธนาคาร โดยมีผู้ร้องเรียน 87 ราย คิดเป็นร้อยละ 18.05 ขยับขึ้นมา 1 อันดับจากสถิติในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 ส่วนอันดับที่สาม คือ หมวดบริการสุขภาพ มีผู้ร้องเรียน 76 ราย คิดเป็นร้อยละ 15.77

         สำหรับการร้องเรียนหมวดอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (160 ราย) ลักษณะปัญหาที่พบส่วนใหญ่เป็นเรื่องโฆษณาอันเป็นเท็จหลอกลวง มีถึง 77 ราย ทั้งการโฆษณาเกินจริง แสดงสรรพคุณที่เป็นเท็จหรือหลอกลวง รวมทั้งยังแสดงเครื่องหมายของผู้ผลิตและที่ตั้งที่ไม่เป็นความจริง จนอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดและหลงเชื่อ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดยังคงเป็น กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ประกอบกับในปัจจุบันที่ผู้บริโภคมักสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์ หรือจากการรับฟังโฆษณาทางวิทยุ โทรทัศน์ที่มากขึ้นด้วย จึงด่วนตัดสินใจสั่งซื้อโดยปราศจากการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน ทำให้การซื้อขายมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ถูกหลอก ถูกโกง และอาจเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการที่ต้องการหลอกลวงส่งผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพ หรือผลิตภัณฑ์ที่อาจมีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายให้กับผู้บริโภค

          เมื่อไม่นานมานี้ ยังพบประเด็นที่มีผู้บริโภคสั่งซื้อยาชุดลดน้ำหนักผ่านช่องทางออนไลน์มาทานหลังคลอดลูก จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต โดยที่ยาชุดลดน้ำหนักดังกล่าวมีส่วนประกอบของสารไซบูทรามีน และสารอันตรายอื่นอีก ซึ่งสารไซบูทรามีนนี้ได้ถูกเพิกถอนห้ามจำหน่ายและจัดเป็นวัตถุอันตราย และได้ถูกยกระดับเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 แล้วด้วย หากผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกจะมีโทษตามกฎหมาย กล่าวคือ  ผู้ใดผลิตนำเข้าหรือส่งออก ผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสมจะมีโทษจำคุก ตั้งแต่ 5 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท - 2 ล้านบาท, ผู้ใดขายจะมีโทษจำคุก ตั้งแต่ 4 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 4 แสนบาท - 2 ล้านบาท, ผู้ใดครอบครองจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 -5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท - 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นความผิดด้วย โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น การจำหน่ายยาที่มีส่วนประกอบของสารอันตรายผ่านระบบออนไลน์ที่ไม่มีแพทย์เป็นผู้จ่ายยาให้ด้วยแล้ว จึงมีความผิดตามกฎหมายอย่างแน่นอน

จากประเด็นดังกล่าวนั้น ภาครัฐจะต้องมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและฉับไว ส่วนร้านค้าต่างๆ จะต้องมีการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ ไม่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย ทุกฝ่ายจะต้องแจ้งเตือนผู้บริโภคให้ทราบถึงพิษภัยที่เกิดขึ้น รวมทั้งจะต้องมีแหล่งเพื่อให้ผู้บริโภคได้จรวจเช็คข้อมูลที่เชื่อถือได้โดยเร็วที่สุด

          ส่วนหมวดการเงินการธนาคาร (87 ราย) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบัตรเครดิตมากที่สุด ซึ่งมีผู้ร้องเรียนถึง 57 ราย เนื่องด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่สินค้ามีราคาแพงขึ้น ขณะที่รายได้ยังคงเท่าเดิม จึงทำให้ผู้บริโภคมีการนำเงินอนาคตมาใช้ผ่านบัตรเครดิต และต้องหาเงินเพื่อนำมาจ่ายคืนบัตรเครดิต จนทำให้ผิดนัดชำระ ถูกทวงหนี้ และถูกฟ้องคดีในที่สุด

          สุดท้าย คือ หมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข (76 ราย) เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่ ยังคงเป็นเรื่องการให้คำปรึกษา การย้ายสิทธิ หรือการสอบถามสิทธิประโยชน์ ที่มีผู้เข้ามาร้องเรียนถึง 46 ราย หรือ ร้อยละ 60.53 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่ทราบสิทธิของตัวเองเท่าที่ควร รองลงมา เป็นปัญหาเรื่องการได้รับความเสียหายจากการเข้ารับการรักษาพยาบาล (11 ราย) เช่น เด็กผิดปกติหรือเสียชีวิตจากการทำคลอด ทำหมันแล้วท้อง วินิจฉัยอาการผิดจนทำให้พิการ เป็นต้น นอกจากนี้กลุ่มผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทองก็ยังเป็นกลุ่มที่ร้องเรียนในเรื่องต่างๆ เข้ามามากที่สุด อาทิ การถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินอัตราที่กำหนด การไม่ได้รับความสะดวกตามสมควร หรือไม่ได้รับการปฏิบัติตามสิทธิ เป็นต้น ดังนั้น ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้าไปให้ให้ความรู้ คำแนะนำกับผู้บริโภค

          ปัญหาเรื่องร้องเรียนด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุขข้างต้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคภาคประชาชน ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามสิทธิ และสถานบริการเพื่อให้ตรวจสอบและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนการให้ความรู้เรื่องสิทธิฯ เครือข่ายผู้บริโภคฯ ได้ลงพื้นที่ จัดเวทีให้ความรู้ อบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการพิทักษ์สิทธิอันพึงมีพึงได้ เพื่อให้ความรู้กับคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง

Tags: โฆษณาเกินจริง, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, อาหารเสริม, สถานการณ์ผู้บริโภค62, หนี้บัตรเครดิต

พิมพ์ อีเมล