มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ ปตท. หลังศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับคำร้องขอฎีกาของ ปตท.
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้นัดฟังคำสั่งคำร้องของ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ที่ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาต่อศาลฎีกา ทำให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทราบผลการพิจารณาของศาลฎีกาว่า ได้ยกคำร้องของ บมจ.ปตท. ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2562 ทั้งนี้ สาระสำคัญในคำสั่งดังกล่าว ศาลฎีกา เห็นว่า
“...เมื่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่อนุญาตให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นดุลพินิจอันเด็ดขาดของผู้พิพากษาผู้นั้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลฎีกาไม่ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับฎีกาชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”
ก่อนจะถึงจุดสิ้นสุดในคดีนี้ คดีการฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ของ บมจ.ปตท. ต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและบุคคลอีก 4 คน เริ่มต้นในต้นปี 2558 เมื่อบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นฟ้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิฯ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ด้านพลังงาน ในขณะนั้น นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ เหรัญญิกมูลนิธิฯ และนางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติในขณะนั้นรวมเป็น 5 จำเลย ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ข้อหาจัดทำเสื้อระดมทุน ‘กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงานละเมิดลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนก๊อดจิ’
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง (ศาลชั้นต้น) พิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่า เสื้อรณรงค์ ‘คายมาจิ’ คืนสมบัติชาติ เป็นงานสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่ได้ลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลงตัวการ์ตูนก๊อดจิของ ปตท. แต่อย่างใด การทำเสื้อคายมาจิเป็นภาพรณรงค์สะท้อนปัญหาการปฏิรูปพลังงานไทยของรัฐบาลจากอดีตจนถึงปัจจุบันที่เข้ากับคำพังเพยว่า ‘หนีเสือปะจระเข้’
หลังมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าว โจทก์คือ บมจ.ปตท. และจำเลยที่ 1 และที่ 5 คือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและนางสาวรสนา โตสิตระกูล ได้ยื่นอุทธรณ์ และในวันที่ 26 มิถุนายน 2561 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ต่อมา บมจ.ปตท. ยื่นฎีกา โดยขอให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ผู้พิพากษาดังกล่าวพิจารณาแล้วไม่อนุญาต ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับฎีกา
จากนั้น บมจ.ปตท. ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ยังคงมีคำสั่งไม่รับ แต่ บมจ.ปตท.ก็ยังไปยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาต่อศาลฎีกาอีก จนท้ายที่สุดศาลฎีกาจึงได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องขอฎีกาในคดีนี้ด้วย จึงถือเป็นที่สิ้นสุดของคดีโดยบริบูรณ์