กลุ่มผู้ใช้ Accord G9 เรียกร้องให้ Honda รับผิดชอบ กรณีระบบควบคุมความปลอดภัยมีปัญหา

news pic 21102020 hondaaccordwithabssystem 11

กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ฮอนด้า รุ่น Accord Generation 9 ร้องเรียนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องให้ฮอนด้ารับผิดชอบรถทุกคัน กรณีระบบควบคุมความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์มีปัญหา

news pic 21102020 hondaaccordwithabssystem 2

          วันนี้ (21 ตุลาคม 2563) ธนัช ธรรมิกสกุล เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก กฤษณะ น้ำดอกไม้ เจ้าของเพจ ‘Accord G9 ร้องเรียนปัญหาปั๊ม ABS’ ว่า มีผู้ใช้รถยนต์ฮอนด้า รุ่น Accord Generation 9 ผลิตปี 2013 - 2018 จำนวนมากที่พบปัญหาเกี่ยวกับระบบควบคุมความปลอดภัยในการขับขี่รถ จึงได้ร้องเรียนไปที่ศูนย์บริการแต่ละสาขา และร้องเรียนผ่านทางเจ้าหน้าที่ของบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ผลิตและประกอบรถยนต์รุ่นดังกล่าว แต่มีการแก้ไขปัญหาให้กับเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ยังมีผู้ใช้บริการที่ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างเป็นธรรม แนวปฏิบัติที่ไม่ชัดเจนของแต่ละศูนย์บริการ และยังไม่มีการชี้แจงถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่เกิดขึ้น

news pic 21102020 hondaaccordwithabssystem 4

          กฤษณะ น้ำดอกไม้ เจ้าของเพจ ‘Accord G9 ร้องเรียนปัญหาปั๊ม ABS’ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้เสียหายบางส่วนได้รวมตัวกันร้องเรียนที่บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) และได้มีการแก้ไขปัญหาให้เฉพาะกลุ่มที่ร้องเรียน ไม่มีการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ใช้รถยนต์เป็นการทั่วไป แนวทางการแก้ไขไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น ผู้ใช้รถยนต์บางรายได้รับการเปลี่ยนอะไหล่โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย บางรายต้องเสียค่าใช้จ่ายบางส่วน ในขณะที่บางรายถูกเก็บค่าเปลี่ยนอะไหล่เต็มจำนวนสูงถึง 47,000 บาท

          “ทุกวันนี้มีคนอินบ็อกซ์เข้ามาในเพจเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวเดือนละไม่ต่ำกว่า 20 ราย มีทั้งคนที่เพิ่งซื้อรถมาไม่นาน และคนที่ใช้มานานแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงน่าจะเกิดจากกระบวนการผลิตรถยนต์ใช่หรือไม่ ไม่ใช่จากการใช้งานปกติ ดังนั้น ทางบริษัทจึงควรแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด และมีระบบจัดการแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้ทุกรายอย่างเท่าเทียม” กฤษณะ กล่าว

news pic 21102020 hondaaccordwithabssystem 5

          สมทด โยคะกุล ผู้ใช้รถยนต์รุ่นดังกล่าว ระบุว่า ตัวเองเป็นคนหนึ่งที่ประสบปัญหาเหมือนกับผู้ใช้รายอื่นๆ แต่ตัดสินใจไปซ่อมกับอู่ข้างนอก เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 12,000 บาท โดยไม่รอการซ่อมจากบริษัท เนื่องจากกังวลว่าจะเกิดอันตรายกับคนในครอบครัว เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับระบบควบคุมความปลอดภัย ทั้งระบบป้องกันล้อล็อก (ABS) ระบบพวงมาลัยไฟฟ้า (EPS) ระบบช่วยควบคุมการทรงตัว (VSA) และระบบช่วยในการออกตัวเวลาหยุดรถอยู่บนทางลาด (HSA) ซึ่งหากระบบเหล่านี้ไม่ทำงาน ก็อาจจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

          ดังนั้น กลุ่มผู้เสียหายจึงมีข้อเสนอต่อ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ดังนี้

          1) ขอให้เรียกคืน (Recall) รถยนต์ฮอนด้า รุ่น Accord Generation 9 ผลิตปี 2013 - 2018 ทุกคัน เพื่อเปลี่ยนอะไหล่ส่วนที่ชำรุดบกพร่อง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและไม่มีเงื่อนไขใดๆ หรือ

          2) ขอให้คืนเงินผู้ใช้รถยนต์ที่ถูกเรียกเก็บจากศูนย์บริการฮอนด้าทุกราย หรือชำระค่าเสียหายคืนให้กับผู้ใช้รถยนต์ที่นำรถไปซ่อมแซมเอง

          3) ขยายระยะเวลารับประกันในอุปกรณ์ปั๊ม ABS ของรถยนต์ฮอนด้า รุ่น Accord Generation 9 ผลิตปี 2013 - 2018 จาก 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร เป็น 10 ปี หรือ 240,000 กิโลเมตร

          ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวขอให้บริษัทฮอนด้า ประกาศให้ผู้ใช้รถยนต์รับทราบเป็นการทั่วไป และมีบริการโดยไม่เรียกเก็บเงินเป็นมาตรฐานเดียวกันของทุกศูนย์บริการฮอนด้า ทั่วประเทศ

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มพบ., ฮอนด้าแอคคอร์ด, Honda_Accord, ฮอนด้า, Honda, ปัญหาระบบควบคุมความปลอดภัย, ระบบควบคุมความปลอดภัย, ABS, Recall, ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค63

พิมพ์ อีเมล