[รายงานพิเศษ] ภัยออนไลน์ : ขบวนการหลอกขายที่นอนยางพารา

24042020 pic bestslumber

ในยุคที่สิ่งต่างๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบและเข้าสู่ออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการรับข่าวสาร การส่งข้อความถึงกัน การดูหนังฟังเพลง รวมไปถึงการซื้อขายสินค้าบนออนไลน์ ทั้งในอีมาร์เก็ตเพลต เช่น ลาซาด้า ช็อปปี้ เจดี เซนทรัล หรือแม้กระทั่งบนสื่อสังคมออนไลน์ อย่าง อินสตาแกรม      เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ซึ่งการซื้อขายสินค้าออนไลน์ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความสะดวก รวดเร็ว สินค้าราคาถูกกว่าและมีให้เลือกหลากหลาย แถมชำระเงินก็ง่ายดาย เหลือเพียงรอรับสินค้าก็เป็นอันจบสิ้นกระบวนการซื้อสินค้า

อย่างไรก็ตาม ข้อดีเหล่านี้ก็มาพร้อมความเสี่ยงที่ผู้บริโภคอย่างเราต้องเผชิญ คือเราไม่ได้เห็นสินค้า ไม่เห็นหน้าร้าน ไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของคนขาย ทำให้บ่อยครั้งที่มีคนถูกโกงจากการซื้อขายออนไลน์ บางคนได้รับสินค้าไม่มีคุณภาพ บางคนสั่งโทรศัพท์ได้ก้อนหิน ในขณะที่บางคนต้องสูญเงินไปฟรีๆ โดยที่ไม่ได้รับสินค้าแม้แต่ชิ้นเดียว ดังเช่น กรณีการซื้อที่นอนยางพารา ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้

 

‘มหากาพย์ที่นอนยางพารา’

ย้อนไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 รายการ “วันใหม่ไทยพีบีเอส” และ “รายการสถานีประชาชน” ของช่องไทยพีบีเอส ได้นำเสนอ ‘เตือนภัยออนไลน์ : เพจหลอกขายที่นอนยางพารา’ เนื้อหาระบุว่า ตัวแทนผู้เสียหายจากการซื้อที่นอนยางพาราบนเฟซบุ๊กเพจร้านค้า บางรายสั่งแล้วไม่ได้สินค้า หรือ บางรายรอสินค้านานกว่า 1 เดือน ก็ยังไม่ได้รับสินค้า จึงได้นำหลักฐานเข้าแจ้งความกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) หลังจากนั้นร้านค้าจึงจัดส่งสินค้ามาให้ แต่กลับไม่ใช่ที่นอนยางพารา ในตอนนั้นมีผู้เสียหายกว่า 800 คน มีมูลค่าความเสียหายกว่า 1 ล้านบาท จากการสัมภาษณ์ผู้เสียหายเพิ่มเติม พบว่า นอกจากผู้เสียหายที่ซื้อที่นอนยางพาราผ่านเฟซบุ๊กเพจ ‘ร้านถุงเงิน และ NT Cargo’ และร้านให้โอนเงินไปยังบัญชีชื่อ ‘นภาลัย แสงบุญ’ ยังมีผู้เสียหายที่สั่งสินค้าชนิดอื่นจากอีกร้าน คือ ‘ร้านขายส่ง’ ก็ได้โอนเงินไปยังชื่อบัญชี นภาลัย แสงบุญ ด้วยเช่นเดียวกัน

หลังจากนั้นเรื่องดังกล่าวก็ซาลงไป แต่ขบวนการโกงเงินของนภาลัยและเครือข่ายก็ยังดำเนินต่อไปอย่างเงียบๆ และมีจำนวนผู้เสียหายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 เว็บไซต์ข่าวสดได้ลงข่าวการจับกุมเจ้าของร้านที่เป็นประเด็น หัวข้อ ‘จับได้แล้ว แม่ค้าออนไลน์แสบ หลังเพจดังแฉตุ๋นหมอนยาง เหยื่อโผล่นับพันสูญหลายล้าน’ ในเนื้อหาระบุว่า ชุดสืบสวน กก.สส.5 บก.สส.บช.น. เฝ้าติดตามเฟซบุ๊กเพจชื่อว่า ‘Best Slumber ที่นอนในฝัน, Perfect room และ Bed room’ หลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนกว่า 1,000 คน ที่สั่งซื้อสินค้าและโอนเงินค่าสินค้า มีมูลค่าความเสียหายรวมกว่าหลายล้านบาท พร้อมกับที่เพจ Red Skull Society ได้โพสต์ข้อความการร้องเรียนจากผู้เสียหาย จึงทำให้ชุดสืบสวนดังกล่าวเข้าจับกุม ‘นภาลัย แสงบุญ’ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลแขวงนนทบุรี ในข้อหาฉ้อโกงทรัพย์ ซึ่งรับสารภาพว่าได้เปิดเพจขายสินต่างๆ บนเฟซบุ๊ก เมื่อมีลูกค้าสนใจสั่งซื้อสินค้าและโอนเงินมา กลับไม่ส่งสินค้าให้ตามกำหนด โดยอ้างว่าสินค้าไม่มีคุณภาพจึงไม่ได้ส่งให้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเจ้าของเพจดังกล่าวจะถูกดำเนินดคีในข้อหาฉ้อโกงทรัพย์ ทั้งยังมีชื่ออยู่บนเว็บไซต์ blacklistseller ในสถานะผู้ขายที่ควรระวัง แต่ดูเหมือนว่าเฟซบุ๊กเพจของร้านยังคงมีความเคลื่อนไหว และเลขบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้องกับเพจเหล่านี้ก็ยังคงไม่ถูกปิด

ทีมข่าวมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ blacklistseller และข่าวต่างๆ รวมถึงข้อมูลจากกลุ่มผู้เสียหายเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 พบว่า เพจและชื่อบัญชีที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับนภาลัยและเครือข่าย ดังนี้

facebookpage warning latexmattress 011 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า แต่ละรายชื่ออาจไม่ได้มีเพียงหนึ่งบัญชี เช่น บัญชีที่ใช้ชื่อว่า ‘เกรียงศักดิ์ แคล้วรอดภัย’ มีถึง 5 เลขที่บัญชีด้วยกัน นอกจากนี้ แต่ละรายชื่ออาจมีความเกี่ยวข้องกับเพจมากกว่าหนึ่งเพจ เช่น ชื่อบัญชีของ ‘นภาลัย แสงบุญ’ ที่ถูกจับไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยังคงเปิดให้โอนเงินเข้าไปได้ โดยที่มีอยู่ 3 ร้านที่ใช้ชื่อดังกล่าวในการให้โอนเงิน ได้แก่ ร้าน Best slumber, ร้าน Bed room และร้านน้องของขวัญนำเข้าสินค้าราคาโรงงาน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีจำนวนผู้เสียหายเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว จนทำให้เกิดกลุ่ม Open chat ในแอปพลิเคชั่น LINE ที่ชื่อว่า ‘มหากาพย์ที่นอนยางพารา’

 

พลังผู้บริโภค

‘มหากาพย์ที่นอนยางพารา’ เป็นกลุ่ม Open Chat ที่เกิดจากการรวมตัวของผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อที่นอนยางพาราบนเฟซบุ๊กเพจของร้านค้าทั้ง 12 ร้าน โดยมีสมาชิกกว่า 1,000 คน และแต่ละคนมีมูลค่าความเสียหายโดยประมาณตั้งแต่ 3,000 - 10,000 บาท กลุ่มดังกล่าวได้มีการช่วยเหลือกันและกัน ทั้งการแนะนำเกี่ยวกับการแจ้งความ การรวมตัวกันเพื่อไปแจ้งความ การเตือนภัยสมาชิก หรือการช่วยกันรายงานความคืบหน้าของคนที่กระทำความผิด เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมีกรุ๊ปในเฟซบุ๊กที่เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้เสียหายอีกหลากหลาย อาทิ กลุ่ม ‘กลุ่มรวมตัว | ร้านถุงเงิน | นภาลัย แสงบุญ’ ที่มีสมาชิกกลุ่มกว่า 2,000 คน กลุ่ม ‘รวมคนสั่งของร้านถุงเงิน’ ที่มีสมาชิก 958 คน กลุ่ม ‘ผู้เสียหายที่นอนยางพารา perfect room’ หรือกลุ่ม ‘ปราณปรียาลาเท็กซ์ โกงเรา’ อีกทั้งยังมีการสร้างเฟซบุ๊กเพจขึ้นมาเลียนแบบร้านค้าและขึ้นข้อความ ‘Perfect Room ร้านขี้โกง ระวัง’ เพื่อเตือนภัยให้กับผู้ที่จะเข้ามาซื้อคนอื่นๆ และยังมีผู้เสียหายบางส่วนที่คอยเข้าไป ทวงถามถึงสินค้าในหน้าเพจ รวมทั้งแสดงความคิดเห็นเพื่อเตือนผู้ที่กำลังจะซื้อสินค้ารายใหม่ไม่ให้หลงเชื่อและโอนเงินให้ร้านค้าเหล่านี้ด้วย

ทั้งนี้กลุ่มเหล่านี้นอกจากจะตั้งขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุ รวมทั้งเพื่อเตือนผู้บริโภคคนอื่นๆ ไม่ให้หลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อของขบวนการฉ้อโกงเหล่านี้แล้ว ยังมีจุดมุ่งหมายในการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ และส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การติดตามและจับกุมตัวผู้กระทำผิดต่อไป อย่างไรก็ตาม การติดตามก็เหมือนจะไม่ง่ายนักเนื่องจากร้านค้าเหล่านี้ไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และไม่ได้จดทะเบียนผู้ทำการตลาดแบบตรงด้วย จึงทำให้การหาตัวตนของผู้ขายและที่ตั้งร้านค้าเป็นไปได้ยาก

 

จดทะเบียนร้านค้าออนไลน์ช่วยได้

เนื่องจากการฉ้อโกงผ่านการซื้อขายออนไลน์ไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้น หน่วยงานภาครัฐจึงได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ไว้ตั้งแต่ปี 2553 เพื่อป้องปราบไม่ให้เกิดการกระทำผิด ลงโทษผู้ที่กระทำผิด รวมทั้งเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบอีกด้วย

โดย ตาม พ.ร.บ. ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 ระบุว่า ไม่ว่าคุณจะขายของชิ้นเล็กจิ๋ว เพียงไม่กี่ชิ้น หรือขายของชิ้นใหญ่เบิ้มแค่ไหน เมื่ออยู่บนพื้นที่การซื้อขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือ ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ทำให้เจ้าของร้านค้าทุกร้านจำเป็นต้องจดทะเบียนร้านค้าออนไลน์ หรือจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อยืนยันตัวตนของผู้ขายและที่ตั้งของร้านค้า และต้องนำเลขทะเบียนแสดงบนหน้าร้านค้า เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการ หากร้านใดไม่จดทะเบียนพาณิชย์จะมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และปรับวันละไม่เกิน 100 บาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ทั้งนี้ ในส่วนของเครื่องหมาย DBD Registered ที่เจ้าของร้านค้าสามารถนำมาขึ้นบนหน้าเว็บไซต์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์ เฉพาะร้านค้าออนไลน์ที่เป็นเว็บไซต์และมีโดเมนเนมเป็นของตัวเอง ไม่รวมสื่อออนไลน์อื่น

นอกจากนี้ ร้านค้าที่มียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทยังต้องจดทะเบียนผู้ทำการตลาดแบบตรงและวางหลักประกันตาม พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2560 อีกด้วย โดยหากเป็นผู้ยื่นคำขอรายใหม่ กรณีบุคคลธรรมดา จะต้องวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท และในกรณีห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต้องวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 25,000 บาท ซึ่งการวางเงินหลักประกันนี้จะเป็นเงินที่นำมาชดเชยให้กับผู้บริโภค หาก สคบ. พบว่า ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากร้านค้าจริง แต่หากเงินประกันไม่เพียงพอ สคบ. ก็มีอำนาจสั่งให้ร้านค้าเพิ่มวงเงินประกันจนเพียงพอกับค่าเสียหาย ภายใน 15 วัน ทั้งนี้ หากร้านค้าไม่สามารถดำเนินการได้ก็จะถูกเพิกถอนใบอนุญาต และสำหรับร้านค้าที่มียอดขายเกินเกณฑ์ที่กำหนด แต่ไม่ได้จดทะเบียนตลาดแบบตรง ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย มีโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีการปรับเพิ่มอีกวันละ 10,000 บาทจนกว่าจะเลิกฝ่าฝืนอีกด้วย

ข้อดีของการจดทะเบียนร้านค้าออนไลน์ คือ เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับร้านค้า รวมทั้งสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าร้านดังกล่าวเป็นร้านที่มีตัวตนจริง และจะไม่ถูกหลอก แต่หากเกิดปัญหาเกี่ยวกับสินค้าและบริการขึ้นแล้วร้านค้าไม่รับผิดชอบ ผู้บริโภคก็สามารถแจ้งไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือ สคบ. เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบ และจัดการกับร้านค้านั้นๆ ได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากหน่วยงานมีข้อมูลของร้านค้าที่จดทะเบียนอยู่แล้ว ผู้บริโภคจึงมีโอกาสที่จะได้เงินคืนสูง

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ยังมีร้านค้าจำนวนมากทั้งในอีมาร์เก็ตเพลส และบนสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนดังกล่าว ซึ่งผู้บริโภคก็อาจจะไม่ทราบว่าต้องตรวจสอบอย่างไร หรือหลายคนก็ไม่ได้เอาเรื่องการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาเป็นเงื่อนไขในการตัดสินใจซื้อ ทำให้ปัจจุบันยังคงมีผู้ได้รับความเสียหายจากการซื้อขายออนไลน์อยู่เรื่อยๆ และผู้เสียหายมักไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา เนื่องจากไม่สามารถติดตามตัวผู้กระทำผิดได้

 

ร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหา

แม้การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะมีประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ปัญหา คือ มีร้านค้าอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้จดทะเบียน รวมทั้งยังมีผู้ขายส่วนใหญ่ที่คิดว่าไม่ต้องไปจดทะเบียนฯ เนื่องจากต้องการขายเพียงไม่กี่ชิ้น ขณะที่บางรายทราบว่าจะผิดกฎหมายแน่ๆ แต่ที่ไม่ไปจดอาจจะเป็นเพราะมีเจตนาที่จะหลอกลวงผู้อื่น ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการจดทะเบียนฯ นี้ อาจจะต้องทำให้มากขึ้น รวมถึงมีการตรวจสอบร้านค้าต่างๆ ให้ครอบคลุมและรัดกุม นอกจากนี้ หากผู้บริโภคอย่างเราๆ พบร้านที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยว่ายังไม่ได้จดทะเบียนฯ หรือดูแล้วไม่น่าไว้วางใจ ก็สามารถแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้ามาตรวจสอบได้ ก็จะเป็นการช่วยสนับสนุนหน่วยงานรัฐได้อีกทางหนึ่ง

ส่วนในกรณีที่เกิดปัญหาอย่าง ‘มหากาพย์ที่นอนยางพารา’ ขึ้น ก็อยากเรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแล และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าไปช่วยเหลือเยียวยาผู้บริโภค และจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างรวดเร็ว โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล เข้ามาจัดการและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อติดตามปัญหาดังกล่าวและยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการหลอกลวงซ้ำรอย ส่วนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก. ปอท.) ต้องลงมาจัดการและสืบหาตัวเจ้าของร้านค้านั้นๆ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ

ทางด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ต้องรวบรวมคดีความที่มีคนมาร้องทุกข์ เนื่องจากตอนนี้น่าจะมีผู้เสียหายจำนวนมาก และควรดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ เพราะการกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำฐานฉ้อโกงประชาชน นอกจากนี้ ยังอาจจะต้องส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีธนาคารของผู้กระทำความผิดไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขึ้นแบล็กลิสต์และแจ้งไปยังธนาคารต่างๆ ให้ระงับบัญชีดังกล่าว

นอกจากนี้ กรมการค้าภายในซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ อาจะต้องพัฒนาหน้าเว็บไซต์สำหรับค้นหาร้านค้าที่จดทะเบียนฯ ให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น และเสนอว่าควรเพิ่มหัวข้อ ‘ค้นหารายชื่อผู้ประกอบการ’ เผื่อกรณีที่ผู้บริโภคนำชื่อร้านไปค้นหาแล้วไม่เจอ ก็สามารถนำชื่อผู้ประกอบการ (ซึ่งควรจะตรงกับชื่อบัญชีที่ให้ลูกค้าโอนเงิน) ไปตรวจสอบในเว็บไซต์ของ DBD ได้อีกทางหนึ่งด้วย

 

อย่าลืม…ตรวจสอบร้านค้าก่อนตัดสินใจซื้อ

สำหรับตัวผู้บริโภคเอง ก็ต้องตรวจสอบร้านค้าก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า เพื่อความปลอดภัยของตัวเองด้วยเช่นกัน โดยวิธีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือข้องร้านค้าก็สามารถทำได้หลายวิธี เช่น

1) ดูความเคลื่อนไหวต่างๆ ของร้านค้า เช่น มีรีวิวสินค้าไหม, Feedback จากลูกค้าและการตอบกลับจากร้านค้าเป็นอย่างไร, ดู Reaction เช่น มีคนกดถูกใจหรือมีคนมากดโกรธหรือไม่ หรือ คะแนนที่ให้ร้านค้าเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงวันที่อัปเดตของร้านค้าล่าสุดด้วย 

2) เอาชื่อร้าน ช่องทางการติดต่อของร้าน หรือชื่อบัญชีที่ให้โอนเงินไปเสิร์ชในกูเกิ้ล เพื่อเช็คเรื่องการโกง คดีความต่างๆ

3) ถ้าทราบชื่อเจ้าของร้าน ให้ตรวจสอบว่าเป็นชื่อบัญชีเป็นชื่อเดียวกันหรือไม่ ซึ่งจะทำให้ตามตัวผู้กระทำผิดได้ง่ายขึ้นในกรณีที่เกิดปัญหา

4) ตรวจสอบว่าร้านค้าจดทะเบียนการค้าพาณิชย์อิเลคทรอนิกส์ หรือมี DBD Register หรือไม่ โดยสำหรับร้านค้าที่มีเว็บไซต์ของหน้าร้าน เราสามารถคัดลอกลิงก์ของร้านนั้นๆ ไปวางลงในหน้า 'ค้นหาเครื่องหมาย' ของ https://www.trustmarkthai.com ได้เลย ส่วนร้านค้าที่เป็นเฟซบุ๊กเพจ ให้นำชื่อร้านที่อยู่หลัง facebook.com/ ไปค้นหาแทน เช่น https://www.facebook.com/ร้านค้ามูลนิธิ-เพื่อผู้บริโภค-484769148237733/ ให้เรานำคำว่า ‘ร้านค้ามูลนิธิ-เพื่อผู้บริโภค’ ไปใส่ในช่อง [ระบุชื่อเว็บไซต์] แล้วกดค้นหา หากร้านค้านั้นได้รับการรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ก็จะมีชื่อปรากฎขึ้นบนหน้าเว็บของ DBD

5) ถ้ามีตัวเลือก ‘ชำระเงินปลายทาง’ ก็ควรเลือกเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะได้รับสินค้า *ทางที่ดีควรแกะกล่องตอนนั้นเลย และให้คนของบริษัทขนส่งเป็นพยานให้เราด้วย เผื่อในกรณีที่ได้รับของไม่ตรงตามที่สั่ง หรือสังโทรศัพท์ได้ก้อนหิน จะได้ขอเงินคืนได้อย่างทันท่วงที

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มพบ., ที่นอนยางพารา, Best Slumber, ภัยออนไลน์, นภาลัย แสงบุญ

พิมพ์ อีเมล