เฮ! ศาลอุทธรณ์ รับ คดี ‘มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ - ดีเซล’ เป็นคดีกลุ่ม

news pic 28042020 mazdasky 1

ศาลอุทธรณ์ รับ คดี ‘มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ - ดีเซล’ เป็นคดีกลุ่ม ชี้ เป็นวิธีคุ้มครองผู้บริโภคจำนวนมากได้ในการดำเนินคดีเพียงครั้งเดียว พร้อมยังทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองกับผู้ประกอบธุรกิจได้

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งรับคดีผู้ซื้อรถยนต์ยี่ห้อมาสด้า รุ่นมาสด้า 2 สกายแอคทีฟ เครื่องยนต์เชื้อเพลิงดีเซล (Mazda 2 Skyactiv D 1.5) ที่ได้รับความเสียหายจากการใช้รถรุ่นดังกล่าว’ เป็นคดีแบบกลุ่มnews pic 280402020 mazda2 2(ภาพ - แฟ้มข่าวเก่า)

          จิณณะ แย้มอ่วม ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และ ทนายความผู้รับผิดชอบคดี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ยื่นคำร้องให้กับศาลชั้นต้น ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ให้รับเป็นคดีกลุ่ม เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 แต่ตอนนั้นศาลฯ นัดเกินระยะเวลา 45 วันตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงเมื่อถึงวันนัดฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจมีการขอเลื่อน หรือ ขอขยายระยะเวลาไต่สวนออกไป จนเมื่อถึงวันที่ไต่สวนปกติก็ยังพยายามออกนอกลู่นอกทาง แจกแจงรายละเอียดของเนื้อหาคดีและพยายามทำให้การไต่สวนล่าช้า ทั้งที่ในความเป็นจริงการพิจารณาคำร้องขออนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/12 ได้กำหนดการพิจารณาการไต่สวนไว้เพียง 5 องค์ประกอบ (อ่านข้อกำหนดวิธีพิจารณาคดีแบบกลุ่ม ได้ที่ นี่) และเมื่อคำวินิจฉัยออกมาศาลชั้นต้นก็ไม่รับคดีดังกล่าวเป็นคดีกลุ่ม โดยให้เหตุผลว่ารถรุ่นนี้มีความเสียหายหลายส่วนและเป็นเรื่องที่ยุ่งยากในการกำหนดค่าเสียหาย ทั้งที่องค์ประกอบที่วินิจฉัยออกมาตรงตามองค์ประกอบของการเป็นคดีกลุ่มทั้งหมด อย่างไรก็ตามจึงยื่นอุทธรณ์คดีต่อ

          กระทั่งเมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยลงมาว่ารับเป็นคดีกลุ่ม ซึ่งศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นที่อ้างเหตุผลข้างต้น คือ เหตุผลในเรื่องที่รถรุ่นดังกล่าวมีความเสียหายหลายส่วนและการกำหนดค่าเสียเป็นเรื่องที่ยาก ศาลอุทธรณ์กล่าวว่าอย่างไรก็ตามเรื่องนี้ฝ่ายผู้ใช้รถสามารถนำข้อเท็จจริง หรือ หลักฐานเกี่ยวกับอาการของรถมาแสดงให้ศาลและฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจเห็นได้ ส่วนเรื่องการพิสูจน์เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจ อีกทั้งศาลอุทธรณ์ยังให้เหตุผลว่าการคำนวณค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนไม่ได้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากแต่อย่างใดเมื่อวิเคราะห์เหตุผลตามประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2558 ประกอบกับ พ.ร.บ. วิธีการพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 สรุปได้ว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะเป็นวิธีการที่ช่วยอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนและคุ้มครองผู้บริโภคจำนวนมากได้ในครั้งเดียว รวมทั้งยังช่วยให้ความยุติธรรมกับผู้เสียหายที่ไม่มีความสามารถในการฟ้องร้องคดีด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังเป็นวิธีการที่ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและช่วยหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดี และลดปริมาณคดีที่จะเข้าสู่ศาลได้อีกด้วย

          “การนำเอาเหตุผลของการแก้ไขวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เพิ่มเติมวิธีพิจารณาคดีกลุ่มเข้าไป ถือเป็นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ดีมาก เพราะเป็นการหยิบยกเอาเจตนารมย์ของกฎหมายมาเป็นเหตุในการกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ โดยมีท่อนหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า ‘เหตุผลในการจำเป็นที่ต้องแก้ไขกฎหมายส่วนนี้ขึ้นมาเพราะไม่ต้องการให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ และยังทำให้ผู้บริโภคที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าผู้ประกอบธุรกิจสามารถดำเนินคดีได้ อีกทั้งยังป้องกันการขัดแย้งกันของคำพิพากษาหากเป็นคดีที่แยกกันฟ้องได้อีกด้วย” ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าว

          อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เป็นการสั่งรับเป็นคดีกลุ่มเท่านั้น แต่หลังจากสถานการณ์เริ่มกลับมาปกติ จะมีการนัดทั้งสองฝ่ายเพื่อมาสืบพยานเต็มไม่น่าจะเกิน 6 - 9 เดือน จากนั้นก็อาจมีคำพิพากษาออกมา ทั้งนี้ ศาลอาจมีคำสั่งให้แบ่งเป็นกลุ่มย่อย เนื่องจากมีลักษณะของความเสียหายที่แตกต่างกันไประหว่างบุคคลในกลุ่มด้วย 

Tags: คดีกลุ่ม, มาสด้า, มาสด้า2, mazda, mazda2, skyactiv, ศาลอุทธรณ์, ศาลชั้นต้น, คดีแบบกลุ่ม

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน