[รายงานพิเศษ] ลดค่าไฟ 'ห้องเช่า - หอพัก' อย่างเท่าเทียม

news pic 15052020 electronicbill 1

ในช่วงระยะเวลาเกือบสามเดือนที่เราทุกคนต้องเผชิญกับโรคระบาดครั้งใหญ่อย่างโควิด - 19 หลายคนต้องเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน (Work From Home) ตามมาตรการ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ หรือ อีกหลายคนก็จำเป็นต้องหยุดอยู่บ้านเพราะถูกเลิกจ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้หยุดตามไปด้วยกันกับพวกเราคงจะเป็น ‘ค่าไฟฟ้า’ ที่นับวันก็ยิ่งพุ่งสูงปรี๊ด สวนทางกับรายได้ในช่วงวิกฤตินี้เสียเหลือเกิน

ทั้งนี้ ภาครัฐและหน่วยงานรัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด เพราะก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเรื่องค่าไฟฟ้า เพื่อบรรเทาและแบ่งเบาภาระของประชาชนจากวิกฤติดังกล่าว ทั้งการให้ใช้ไฟฟรีหากใช้ไม่เกินหน่วยที่กำหนด หรือขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าออกไปให้อีก แต่ก็ดูเหมือนว่ามาตรการนี้อาจจะเน้นไปที่กลุ่มผู้ใช้ไฟบ้าน และยังไม่เอื้อต่อผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เท่าไรนัก โดยเฉพาะกับผู้ที่เช่าหอพักหรืออพาร์ตเมนท์

มติ ครม. เรื่องค่าไฟฟ้า

7 เมษายน 2563 มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ที่รับผิดชอบระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ที่รับผิดชอบในส่วนต่างจังหวัด ช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบ ทั้งภาคครัวเรือน ธุรกิจ และอุตสาหกรรม

news pic 15052020 electronicbill 2

ที่มา : เฟซบุ๊กแฟนเพจ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA

สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัยที่มีกว่า 22 ล้านคน จะได้รับการช่วยเหลือโดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรก ผู้ที่ใช้มิเตอร์ไฟขนาดไม่เกิน 5 แอมป์ จะได้ใช้ฟรี 150 หน่วย และกลุ่มที่สองคือบ้านที่ใช้มิเตอร์ไฟขนาดเกิน 5 แอมป์ จะได้รับส่วนลดค่าไฟโดยแบ่งเป็น 3 เงื่อนไข คือ หนึ่ง หากใช้มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์แต่ไม่เกิน 800 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือนกุมภาพันธ์ สอง ถ้าใช้เกิน 800 หน่วย แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือนกุมภาพันธ์บวกกับส่วนที่เกิน ซึ่งได้รับส่วนลด 50 เปอร์เซ็นต์ และสาม หากใช้เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือนกุมภาพันธ์บวกกับส่วนเกิน ซึ่งได้รับส่วนลด 30 เปอร์เซ็นต์ สำหรับสาเหตุที่ต้องใช้ค่าไฟเดือนกุมภาพันธ์เป็นฐานคิด ก็เพราะเป็นช่วงก่อนที่จะ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ นั่นเอง

ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทหอพักหรืออพาร์ตเมนท์ จะได้รับการช่วยเหลือที่แตกต่างจากคนที่อยู่บ้าน คือได้ส่วนลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 3 ตั้งแต่เดือนเมษายน - มิถุนายน ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะหอพัก หรืออพาร์ตเมนท์ส่วนใหญ่จะใช้ไฟฟ้าผ่านมิเตอร์รวม ซึ่งแตกต่างจากผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัยและแน่นอนค่าไฟฟ้าก็ย่อมสูงกว่า

แต่เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่า คนที่เช่าหอพักหรืออพาร์ตเมนท์จะกลายเป็นผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติอย่างแท้จริง เพราะนอกจากจะต้องเจอกับปัญหาที่มีมาเนิ่นนาน อย่างเช่น ปัญหาผู้ให้เช่าเรียกเก็บค่าไฟฟ้าจากผู้เช่าในอัตราเฉลี่ยที่สูงกว่าที่มีการจ่ายจริงให้กับผู้ให้บริการไฟฟ้า (ซึ่งการกระทำแบบนี้ถือว่าเป็นการเอาเปรียบและยังผิดกฎหมายอีกด้วย) แล้ว เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาดขึ้น พวกเขากลับได้รับการเยียวยาที่ไม่เท่าเทียมกับคนที่อยู่บ้าน ทั้งที่เขาเหล่านั้นก็เป็นกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน

เสียงสะท้อนจากผู้เช่าและเจ้าของหอพัก

ตั้งแต่มีมาตรการดังกล่าวออกมา ก็มีเสียงในโลกโซเชียลของชาวหอพักที่ออกมาโพสต์ในทำนองว่า ผู้ให้เช่าไม่ได้ช่วยเหลือตามมาตรการที่ออกมาเท่าไรนัก เช่น ‘หอที่อยู่ไม่เห็นจะได้ลดเลย’ ‘หอไม่เห็นจะลดให้เลย แถมเดือนนี้ค่าไฟก็แพงสุดๆ’ ‘หอลดให้สามเปอร์เซ็นต์นะ ขนาดลดให้แล้วก็ยังเหมือนไม่ได้ลดเท่าไร’ และอีกหลากหลายความเห็น ที่ส่วนใหญ่เรียกร้องให้รัฐมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่เพิ่มขึ้น

ชลลดา หนึ่งในผู้เช่าหอพักย่านสุทธิสารเล่าว่า ตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 และเริ่มการล็อกดาวน์ เธอมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น ทั้งค่าใช้จ่ายในเรื่องสุขอนามัย เช่น เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย ต้องใช้เงินไปกับค่าอาหารมากขึ้น เพราะที่ห้องไม่มีตู้เย็นและเครื่องครัวจึงไม่สามารถทำอาหารทานเองหรือซื้ออาหารมาเก็บไว้ในปริมาณมากได้ ประกอบกับร้านอาหารที่อยู่บริเวณหอก็ไม่เปิด ทำให้ต้องใช้บริการบริษัทขนส่งอาหารอยู่เป็นประจำตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ เมื่อต้องปรับตัวมาทำงานอยู่ที่ห้องและอยู่ห้องตลอดก็ทำให้ค่าไฟเพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 2-3 ร้อยบาท หรือเกือบร้อยละ 30 จากค่าไฟปกติ

เมื่อถามถึงมาตรการลดค่าไฟของหอพักก็ได้คำตอบว่า เธอไม่ทราบว่าได้รับการปรับลดค่าไฟหรือไม่ เนื่องจากทางหอพักไม่ได้แจ้งรายละเอียดใดๆ ให้ผู้เช่ารับรู้เลย รวมทั้งในบิลค่าไฟก็ไม่ได้ระบุว่ามีการลดค่าไฟให้แต่อย่างใด ทั้งนี้ เมื่อถามคนรู้จักที่อาศัยอยู่หอพักใกล้เคียงกลับพบว่าผู้ให้เช่าแต่ละรายมีมาตรการช่วยเหลือผู้เช่าที่แตกต่างกัน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาควบคุมดูแลเรื่องดังกล่าว อีกทั้งอยากเรียกร้องให้ภาครัฐมีมาตรการเยียวยาคนที่อยู่หอพักให้เท่าเทียมกับคนที่อยู่บ้าน

“เรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์เลย เพราะเราอยู่หอเหมือนเป็นบ้าน มีภาระค่าใช้จ่ายไม่ต่างกัน เลยมองว่ารัฐควรจะออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาให้เท่าเทียมกับคนที่อยู่บ้านทั่วไป นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่าบางหอพักลดค่าไฟให้ แต่บางหอพักก็กลับไม่ได้ลด จึงอยากให้มีการกำหนดมาตรฐานหรือเกณฑ์ขั้นต่ำที่ชัดเจนว่าหอพักต้องช่วยเหลือผู้เช่าอย่างไรบ้าง และต้องปฏิบัติเหมือนกันทุกที่” ชลลดากล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ให้เช่าส่วนหนึ่งที่ให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือ และลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้เช่าในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป

ผู้ดูแลอพาร์ตเมนท์แห่งหนึ่งย่านปิ่นเกล้า กล่าวกับเราว่า เมื่อเห็นมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าจากในโทรทัศน์ ทางหอพักจึงลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 3 ให้กับผู้เช่าทุกคน เป็นเวลา 3 เดือน เพียงแต่ไม่ได้เริ่มลดตามเดือนที่ประกาศออกมา แต่เริ่มลดให้ผู้เช่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จนถึงเดือนกรกฎาคม 2563

ภัทรพิมล หนึ่งในผู้เช่าอพาร์ตเมนท์ดังกล่าวเล่าให้ฟังว่า หลังจากที่บริษัทฯ ให้ทำงานที่บ้านก็สะดวกขึ้น และประหยัดค่าเดินทางได้มาก แต่ความสะดวกสบายก็มาพร้อมค่าไฟที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ทางหอพักจะลดค่าไฟฟ้าให้ 3 เปอร์เซ็นต์ตามที่รัฐบาลประกาศ เช่น ค่าไฟของเดือนที่แล้วประมาณ 900 บาท พอได้ส่วนลด ก็เหลือ 870 บาท แต่ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ไม่มากนัก จึงมองว่ารัฐควรมีวิธีการช่วยเหลือที่มากกว่านี้

“เราคิดว่าการลดค่าไฟฟ้าเท่านี้มันช่วยไม่ได้เลย ปกติเราก็ใช้ประมาณ 500 - 700 บาท พอหยุดทำงานที่บ้านก็เพิ่มขึ้นมา ถึงแม้ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นไม่มากเท่าไร แต่มองว่าหากรัฐลดค่าไฟฟ้าให้มากกว่านี้ก็อาจจะช่วยเหลือผู้เช่าหอพัก หรืออพาร์ตเมนท์ได้ โดยส่วนตัวเราไม่ได้เดือดร้อนกับค่าไฟฟ้า แต่น้องๆ นักเรียน นักศึกษา หรือคนที่มีรายได้ไม่มาก แถมยังต้องมาเจอกับบิลค่าไฟฟ้าที่แพงมากขนาดนี้ ก็อาจจะจ่ายไม่ไหว” ภัทรพิมลกล่าว

ขณะที่ นิษฐ์ณิษา ผู้ดูแลอพาร์ตเมนท์บริเวณแยกบ้านแขกเล่าว่า ก่อนที่รัฐจะประกาศล็อกดาวน์ผนวกกับช่วงนั้นที่โควิด-19 ก็เริ่มทำพิษเศรษฐกิจด้วย อีกทั้งที่นี่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยและผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา เมื่อรัฐประกาศสั่งหยุดมหาวิทยาลัย ผู้ปกครองก็ให้ลูกๆ กลับไปอยู่บ้านเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้มีคนเริ่มย้ายออกไปประมาณเกือบ 20 ห้อง อพาร์ตเมนท์ของเธอก็ได้รับผลกระทบตรงนี้แต่ก็ยังพอประคับประคองไปได้ ส่วนไหนที่สามารถช่วยเหลือผู้เช่าได้ก็จะช่วยเหลือ เช่น การลดค่าเช่าห้องให้ห้องละ 1,000 บาท หรือในส่วนผู้พักที่เป็นชาวต่างชาติที่กลับไปแล้วและยังกลับมาประเทศไทยไม่ได้ ก็ไม่ได้เก็บค่าห้องในเดือนที่เขาไม่ได้อาศัยอยู่ หรือแม้แต่ตึกที่อยู่ด้านหน้าของอพาร์ตเมนท์ก็ยังลดค่าเช่าตึกให้ครึ่งหนึ่ง รวมถึงยังให้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรีในช่วงที่หยุดทำงานที่บ้าน

“เราคิดว่าการลดค่าเช่าห้องมันก็คงไปแบ่งเบาภาระของเขาได้ส่วนหนึ่ง อีกอย่างก็เห็นใจผู้เช่าในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ด้วย เช่น นักศึกษาบางรายก็ทำงานเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าห้องเอง เมื่อไม่มีงานหรือมีงานน้อยลง ก็ไม่มีเงินมาจ่ายค่าเช่า หรือ ผู้ปกครองก็อาจจะได้รับผลกระทบจากโควิดจนทำให้รายได้น้อยลง ส่วนผู้พักที่เป็นชาวต่างชาติ ตอนแรกเขาก็โทรมาว่าจะขอย้ายออก เราเลยแจ้งว่าเราก็ไม่ได้เก็บค่าเช่าในเดือนที่เขาไม่ได้พักอยู่นะ ไว้กลับมาก็สามารถมาเช่าต่อได้เลย” นิษฐ์ณิษากล่าว

เมื่อถามถึงระยะเวลาของนโยบายจากทางที่พักที่ออกมา เธอบอกกับเราว่า ได้ลดค่าเช่าห้องมาตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว และจะหยุดลดค่าเช่าเมื่อไรก็ต้องรอดูสถานการณ์ควบคู่กันไป ส่วนมาตรการที่รัฐออกมาว่าให้หอพักหรืออพาร์ตเมนท์ได้รับการลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 3 ทางอพาร์ตเมนท์ของเธอไม่ได้ลดค่าไฟฟ้าให้ผู้เช่า โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากได้ลดค่าเช่าห้องแทนไปแล้ว แต่หากลดค่าไฟฟ้าให้อีกก็อาจจะขาดทุนได้ อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมาของรัฐเป็นเรื่องที่ดี เพราะตอนนี้ถ้ารัฐทำอะไรให้ก็รับไว้ทั้งหมด แต่มาตรการลดค่าไฟเพียงเท่านี้ก็อาจจะน้อยไปสักหน่อย หากลดให้มากกว่านี้ก็คงจะดีต่อผู้เช่าหลายๆ คน

ปิยภรณ์ หนึ่งในผู้เช่าอพาร์ตเมนท์ดังกล่าว ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับการช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายจากหอพัก ด้วยการลดค่าเช่าและให้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี เธอเล่าว่า ตั้งแต่บริษัทฯ ให้ทำงานที่บ้านก็มีข้อดีที่ประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าพาหนะไปได้ แต่เมื่อต้องทำงานและใช้คอมพิวเตอร์เกือบทั้งวัน ก็ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากปกติ 500 บาท เดือนล่าสุดก็อยู่ที่ประมาณ 700 กว่าบาท แต่เธอไม่ได้เป็นกังวลเกี่ยวกับค่าไฟฟ้ามากนัก เพราะที่ผ่านมาก็ใช้ไฟฟ้าในบางเดือนไม่เกินไปจากนี้ อย่างไรก็ตาม อพาร์ตเมนท์ที่เธอเช่าอยู่ไม่ได้ลดค่าไฟให้ แต่ลดค่าห้องให้ห้องละ 1,000 บาทแทน ซึ่งตอนนี้ได้ลดค่าห้องมาสองเดือนแล้ว

เมื่อถามถึงมาตรการลดค่าไฟฟ้าที่ประกาศออกมาว่าให้ลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 3 จำนวน 3 เดือน เธอมองว่าอาจจะช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้าไม่ได้มากเท่าไร แต่ถ้าหากให้ส่วนลดมากกว่านี้ก็น่าจะเป็นการช่วยเหลือคนที่เช่าหอหรืออพาร์ตเมนท์ได้พอสมควรและทำให้เขามีเงินเหลือเพิ่มอีก

“ช่วงเดือนมีนาคมที่โควิดเริ่มระบาดมาก เราได้รับบิลค่าไฟฟ้าเดือนมีนาคมที่มาพร้อมกับข้อความประมาณว่า ‘เนื่องจากสถานการณ์โควิด จึงช่วยแบ่งเบาภาระผู้เช่า โดยการลดค่าห้องให้ห้องละ 1,000 บาท’ ซึ่งผู้ให้เช่าก็ทำแบบนี้มาสองเดือนแล้วด้วยนะ เราว่าการช่วยเหลือของเขามันช่วยคนที่เช่าได้มากทีเดียว แถมตอนที่เราจะไปซื้ออินเทอร์เน็ตเพื่อมาใช้ทำงาน เขาก็ยังไม่คิดเงินแถมยังบอกว่าช่วงนี้ให้ใช้ไปก่อน มาถึงตอนนี้เราก็ยังได้ใช้ฟรีอยู่เลย” ปิยภรณ์กล่าว

ข้อเสนอถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

Scoop Electricity bill 01

จากปัญหาที่เกิดขึ้น อนุกรรมการด้านที่อยู่อาศัย คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงมีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 ข้อ ดังนี้

หนึ่ง กระทรวงพลังงานควรให้ความสำคัญกับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท และพิจารณากำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นผู้อยู่อาศัยในห้องเช่า หอพัก ให้ได้รับการช่วยเหลือที่เท่าเทียมและเป็นธรรม โดยให้ใช้ไฟฟรี 150 หน่วยแรก สำหรับค่าไฟฟ้าในเดือนมีนาคม - เดือนพฤษภาคม 2563 กรณีใช้ไฟไม่เกิน 800 หน่วย กลุ่มนี้ให้จ่ายค่าไฟเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และหากใช้ไฟไม่เกิน 3,000 หน่วย ให้ลดค่าไฟร้อยละ 50 ส่วนกลุ่มที่ใช้ไฟเกิน 3,000 หน่วยให้ลดค่าไฟร้อยละ 30

สอง สำหรับการหักลดค่าใช้จ่ายย้อนหลังตั้งแต่เดือนมีนาคม และเมษายน ขอให้มีการปรับลดในยอดค่าใช้จ่ายเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

สาม ให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตรวจสอบการคิดอัตราค่าน้ำและค่าไฟฟ้าที่ผู้ให้บริการห้องเช่าที่อยู่อาศัยเรียกเก็บจากผู้เช่า โดยต้องเรียกเก็บตามที่จ่ายจริงกับผู้ให้บริการประปาหรือไฟฟ้า เพื่อป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องธุรกิจให้เช่าอาคารที่อยู่อาศัยเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ. 2562 รวมทั้งต้องกำหนดให้เจ้าของหอพักทุกแห่งปรับลดค่าไฟฟ้าแก่ผู้เช่าตามมาตรการเยียวยาของรัฐด้วย

และสี่ ให้มีการเปิดช่องทางร้องเรียนปัญหาการถูกคิดค่าน้ำ - ค่าไฟฟ้าเกินกฎหมายของธุรกิจเช่าที่อยู่อาศัย เพราะพบว่าผู้เช่าจำนวนมาก ประสบปัญหาการเงิน ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟฟ้า จึงควรมีมาตรการผ่อนผันการชำระหนี้อย่างน้อย 6 เดือนให้กับผู้เช่าด้วย

 

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มพบ., คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช.), ค่าไฟฟ้า, COVID-19, โควิด-19, ค่าไฟแพง, ห้องเช่า, หอพัก, มาตรการลดค่าไฟ, เงินเยียวยา

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน