ชวนดู...นโยบายพรรคการเมืองกับการคุ้มครองผู้บริโภค

Partulist 2

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชวนดูนโยบาย 6 พรรค จากงานเสวนา ‘พรรคการเมืองกับการคุ้มครองผู้บริโภค’ 

          เวลาฟังการปราศรัยของพรรคการเมืองต่างๆ สิ่งที่เรามักได้ยินได้ฟังคงหนีไม่พ้นเรื่องจุดยืนของแต่ละพรรค นโยบายด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ฯลฯ แต่เราในฐานะ ‘ผู้บริโภค’ เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าแต่ละพรรคให้ความสำคัญกับเรื่อง ‘สิทธิผู้บริโภค’ มากน้อยเพียงใด และมีนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องใดบ้าง

          เวทีเสวนาพรรคการเมือง ในหัวข้อ “พรรคการเมืองกับการคุ้มครองผู้บริโภค: คุ้มครองผู้บริโภคจริงหรือไม่?” เป็นส่วนหนึ่งของงานสมัชชาผู้บริโภค ประจำปี 2562 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค และเพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ด้วย

          ในการเสวนาครั้งนี้ มีตัวแทนจากพรรคการเมืองทั้งหมด 6 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคสามัญชน พรรคอนาคตใหม่ พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังประชารัฐ และพรรคชาติไทยพัฒนา โดยมีประเด็นคำถามที่น่าสนใจอยู่ 6 ประเด็น แต่หากจะทำเสนอทีเดียวทั้งหมดก็เกรงจะผู้อ่านจะเบื่อ เพราะฉะนั้นเราจึงหยิบยกประเด็นเรื่อง ‘นโยบายภาพรวมเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค’ ของแต่ละพรรคมาให้ดูกันก่อน

 IMG 0657

          นายเกียรติ สิทธีอมร ที่ปรึกษาและผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก การซื้อขายสินค้าและบริการเป็นเรื่องข้ามพรหมแดน ดังนั้นการคุ้มครองผู้บริโภคจึงไม่ใช่มิติเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น แต่มีเรื่องต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นความความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้น

          ปัญหาคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ยังทำงานได้ไม่เพียงพอและไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร เพราะเมื่อดูข้อมูลรายงานเรื่องร้องเรียนย้อนหลัง พบว่าในปีที่แล้วมีการร้องเรียนทั้งหมดกว่า 7 พันเรื่อง แต่แก้ปัญหาได้ไม่ถึง 3 พันเรื่อง หรือคิดเป็นไม่ถึงร้อยละ 40 นอกจากนี้ ยังมีเรื่องร้องเรียนอีกมากกว่า 2 พันเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามาตั้งแต่ก่อนสิ้นปี 2559 แต่ยังค้างอยู่ และไม่มีข้อมูลว่ากรณีใดหมดอายุความ นอกจากนี้ยังพบว่าประชาชนส่วนมากไม่รู้จักหน่วยงานรัฐที่ทำงานเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค โดยจากการสอบถามพบว่าร้อยละ 75 ไม่ทราบสิทธิของตัวเอง ร้อยละ 50 ไม่รู้จัก สคบ. และมีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่รับรู้ข่าวสารของ สคบ.

          นายเกียรติ กล่าวอีกว่า จากปัญหาที่กล่าวมาทางพรรคจึงมีนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค 6 เรื่อง คือ (1) ให้ภาคประชาชนจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นอิสระ เพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ เป้าหมายคือต้องให้มีการรวมกลุ่มและมีสถานทางกฎหมายที่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ (2) ยกเครื่อง สคบ. และศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ เนื่องจากยังทำงานไม่ตอบโจทย์ (3) พัฒนากฎระเบียบให้ทันสมัย ให้อำนาจมูลนิธิ หรือสมาคมที่เกี่ยวกับผู้บริโภคมีอำนาจฟ้องคดีได้ (4) สร้างมาตราการความปลอดภัยบนออนไลน์ให้รัดกุม ทันสมัย (5) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการทำธุรกรรมให้ปลอดภัย การเปิดเผยต้องได้รับความยินยอม และ (6) ให้ สคบ. หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมีพื้นที่ส่วนกลางในสังคมออนไลน์ที่เข้าถึงง่าย ค้นหาได้ง่าย เพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนข้อมูลต่างๆ

          ด้าน นางสาวจินตนา ศรีนุเดช ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดกาฬสินธุ์ เลข 3 พรรคสามัญชน ระบุว่า ปัจจุบันเธอทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ จึงทราบดีว่าสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภคค่อนข้างซับซ้อนและมีรายละเอียดมาก ปัญหาที่เกิดขึ้นก็มีตั้งแต่เรื่องยิบย่อยที่ต้องแก้ปัญหารายบุคคลไปจนถึงเรื่องกลไกของหน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นกลไกใหญ่ในการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย

          ดังนั้น นโยบายของพรรคสามัญชนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค จะมีอยู่ 4 ประเด็นหลัก คือ (1) เรื่ององค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในรูปแบบของสภาองค์กรของผู้บริโภค พรรคยืนยันที่จะสนับสนุนและขับเคลื่อนให้สภาองค์กรฯ เป็นองค์กรที่มีความเป็นสิระและเข้มแข็ง (2) มาตรการคุ้มครองเรื่องการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งต้องมาพร้อมกับการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล รวมทั้งเรื่องระเบียบและหน่วยงานที่จะเข้ามาจัดการปัญหาดังกล่าว (3) การปรับปรุงเรื่องสิทธิผู้บริโภคของไทย ให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้น เช่น ปัญหาเรื่องสิทธิในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาล เรื่องค่ารักษาพยาบาลแพง เป็นต้น และ (4) การผลักดันสิทธิผู้บริโภคไทย ให้ทัดเทียมและสอดคล้องกับสิทธิผู้บริโภคสากลมากขึ้น เช่น เพิ่มเรื่องสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย

          ขณะที่ นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดนนทบุรี เขต 3 พรรคอนาคตใหม่ นำเสนอ 4 นโยบาย ซึ่งจะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค (1) นำระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมาสู่ประเทศไทย เนื่องจากพรรคมองว่า สิทธิผู้บริโภคไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในระบอบเผด็จการ ยกตัวอย่างเรื่ององค์การอิสระของผู้บริโภคที่เริ่มมีพูดถึงมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แต่กลับต้องใช้ระยะเวลานานถึง 22 ปี กว่ากฎหมายเรื่องดังกล่าวจะออก และกฎหมายที่ออกมานั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข จนไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์เดิมที่ผู้บริโภคต้องการ (2) ยุติระบบราชการรวมศูนย์ เน้นการกระจายอำนาจกลับคือสู่ประชาชน ซึ่งการจัดตั้งองค์กรอิสระถือเป็นการกระจายอำนาจอย่างหนึ่ง เพราะเราได้เห็นตัวอย่างจากการทำงานของ สคบ. แล้วว่าการใช้อำนาจรัฐเข้าไปแก้ไขปัญหาต่างๆ บางครั้งมันล่าช้า ไม่เพียงพอ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง ดังน้นแนวทางการแก้ไขที่ยั่งยืนจึงควรเป็นการนำปัญหาของประชาชน มาให้เขาร่วมพูดคุยและมีส่วนในการแก้ปัญหา

          (3) ยืนยันที่จะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ทั้งฉบับ เพราะมองว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งรวมไปถึงการมีส่วนร่วมในกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้บริโภคด้วย แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่เน้นให้มีการจัดตั้งองค์การผู้บริโภคที่เป็นอิสระ และให้อำนาจองค์การนี้ในการให้ความเห็นต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรการในการใช้บังคับกฏหมายด้วย ซึ่งถือเป็นกระบวนการสำคัญในการร่างกฎหมาย และ (4) ให้ความสำคัญคือเรื่องรัฐสวัสดิการ เพราะเป็นสิทธิที่ทุกคนจะได้รับตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งจะมีเรื่องสิทธิผู้บริโภครวมอยู่ด้วย เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็น ‘สิทธิ’ แล้วย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี และต้องสามารถใช้สิทธิเหล่านั้นได้อย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

          ส่วน นายอรัญ พันธุมจินดา ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคชาติพัฒนา นำเสนอนโยบายในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเน้นเรื่องการคุ้มครองตั้งแต่ต้นทาง คือ การพัฒนา ส่งเสริม หรือออกกฎหมายควบคุมให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าและบริการในลักษณะที่ปลอดภัย เป็นประโยชน์ และไม่เอาเปรียบผู้บริโภค เป็นการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน มีกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ธุรกิจสตาร์ตอัพ (start up) หรือธุรกิจรายย่อยสามารถพัฒนาตนเองให้มีประสิทธิภาพ มีศักยภาพในการประกอบกิจการ เมื่อกิจการที่เป็นต้นทางมีคุณภาพแล้ว ในผู้บริโภคก็จะได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น พรรคยังมีนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ คำนึงถึงความเสมอภาค และจะเข้าไปดูแลผลักดันกฎหมายที่จะมีคุณภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป

          ทางด้าน นางสาวธณิกานต์  พรพงษาโรจน์ กรรมการบริหาร และผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดกรุงเทพฯ เขต 7 พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พรรคมองภาพนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคเป็น 3 ส่วน (1) นโยบายที่มีต่อผู้บริโภค เช่น ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้ ทั้งการรู้สิทธิของตัวเองและรู้ว่าจะเข้าถึงสิทธินั้นได้อย่างไรบ้าง (2) นโยบายที่มีต่อผู้ประกอบการ เพราะผู้ประกอบการเป็นส่วนสำคัญที่ต้องผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ รัฐจึงต้องให้ความรู้และแนะนำให้เขาดูว่าสินค้าอะไรที่เหมาะสมในแต่ละช่วง และ (3) นโยบายที่มีต่อกฎหมาย รวมทั้งหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องความไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุมของหน่วยงาน เช่น ต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องเกี่ยวกับการซื้อขายออนไลน์โดยตรง และน่าจะมีกฎหมายที่คอยควบคุมให้ทุกห้างร้านออนไลน์ปฎิบัติเหมือนๆ กัน เช่น เรื่องเปลี่ยนคืนสินค้า หรืออาจเป็นกฎที่เชื่อมทั่วโลก ดังนั้นพรรคก็จะขับเคลื่อนทั้ง 3 ส่วน ทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และผลักดันให้เกิดหน่วยงานที่จะคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้เกิดกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

         ปิดท้ายที่ นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า นโยบายของพรรคไม่ได้เขียนตรงๆ ว่าเป็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค แต่กระจายไปตามนโยบายต่างๆ 7 ด้านที่มีอยู่ เช่น เรื่องการเกษตร จะมีนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพและสุขลักษณะของสินค้า ด้านสาธารณสุข ก็มีการเขียนเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคในด้านอาหารและยา หรือด้านการท่องเที่ยว ก็เขียนคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องความปลอดภัยในร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน และเชื่อว่าในทุกๆ พรรคการเมืองจะมีนโยบายเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคแฝงอยู่ในนโยบายด้านต่างๆ

          นายสัมพันธ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาหลักที่พบ ไม่ใช่เรื่องนโยบายของพรรคการเมือง แต่เป็นเรื่องการไม่รู้สิทธิของประชาชน นอกจากนี้ยังมีปัญหาความไม่เพียงพอของหน่วยงานที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค แม้ปัจจุบันจะมีทั้งหน่วยงานของรัฐอย่างสคบ. องค์กรเอกชนต่างๆ เช่น มูลนิธิหรือสมาคมที่ดำเนินการเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงมีศาลคุ้มครองผู้บริโภค แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้น 2 สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้เกิดกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ คือ (1) ให้ความรู้เรื่องสิทธิผู้บริโภคแก่ประชาชน และ (2) สนับสนุนให้มีองค์กรภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นในการดูแลผู้บริโภค

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, เลือกตั้ง62, การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค, นโยบายพรรคการเมือง

พิมพ์ อีเมล